การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในตลาดโทรคมนาคมของเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 29, 2014 15:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมียนมาร์ที่ได้เห็นการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในตลาดโทรคมนาคม หลังจากที่ทางการเมียนมาร์ได้เปิดตลาดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปี 2556-57 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการดำเนินการของทางการเมียนมาร์เพื่อเปิดตลาดดังกล่าว โดยการปฏิรูปแรกที่ได้ดำเนินการ คือ การจัดให้มีการประมูลและคัดเลือกผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างชาติที่มีความเหมาะสมในการได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ผ่านการกำกับดูแลของคณะกรรมการระหว่างกระทรวงต่างๆ ซึ่งผลจากการประมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ทำให้มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับการคัดเลือก 2 บริษัท คือ บริษัท Ooredoo จากประเทศกาตาร์ และบริษัท Telenor จากประเทศนอรเวย์ โดยมีอายุของใบอนุญาตประกอบการนาน 15 ปี เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงบริการด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทั่วโลกได้เริ่มใช้กัน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระบวนการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบสำหรับการประมูลและคัดเลือกผู้ประกอบการในสาขาอื่นๆ ที่เมียนมาร์กำลังต้องการจะเปิดตลาดต่อไป เช่น สาขาน้ำมันและก๊าซ

ทั้งนี้ ผลการเปิดตลาดโทรคมนาคมดังกล่าว ทำให้สัดส่วนจำนวนประชาชนที่สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมในเมียนมาร์เพิ่มขึ้นจากเพียงประมาณร้อยละ 3 ในช่วงก่อนเปิดตลาด เป็นร้อยละ 10 สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และร้อยละ 7 สำหรับบริการอินเตอร์เน็ต จากจำนวนประชากรรวมประมาณ 60 ล้านคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ถือว่าน้อยมาก เช่น กัมพูชา ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 70 ลาว ร้อยละ 87 และไทย ร้อยละ 100 จึงยังมีพื้นที่ในการขยายตัวของสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในเมียนมาร์อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนเพื่อขยายการให้บริการ โดยบริษัท Ooredoo เปิดเผยว่า มีแผนที่จะลงทุนเพิ่ม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2557 และตั้งเป้าให้มีสัดส่วนจำนวนประชาชนที่เข้าถึงบริการโทรคมนาคมถึงร้อยละ 70 ภายในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97 ภายในปี 2562 ขณะที่รัฐบาลเมียนมาร์เองตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ให้ถึงร้อยละ 75-80 ภายในปี 2564

สำหรับบริษัท Ooredoo เป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลประเทศกาตาร์ และได้เข้าไปลงทุนเพื่อให้บริการโทรคมนาคมในหลายประเทศในเอเชียแล้ว เช่น ลาว สิงคโปร์ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถือเป็นบริษัทต่างชาติแห่งแรกที่ได้เปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเมียนมาร์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้บริโภคชาวเมียนมาร์ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในกรุงย่างกุ้ง แต่เมื่อได้เปิดให้บริการจริง ผู้บริโภคกลับต้องประสบปัญหาการใช้บริการในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากข้อจำกัดของเครือข่าย ส่วนบริษัท Telenor ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการให้บริการในตลาดเปิดใหม่ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ รวมถึงตลาดที่มีการพัฒนาไปแล้วระดับหนึ่ง เช่น ไทย และมาเลเซีย มีแผนที่จะเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตระบบ 3G ในเมียนมาร์ด้วยค่าบริการรายเดือนในอัตราต่ำเพียง 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้ใช้ โดยคาดหวังที่จะจับตลาดขนาดใหญ่เช่นเดียวกับในอินเดีย ขณะที่คู่แข่งสำคัญของทั้งสองบริษัท คือ การสื่อสารโทรคมนาคมและไปรษณีย์เมียนมาร์ (Myanmar Posts and Telecommunications: MPT) เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจของเมียนมาร์เอง ซึ่งมีข้อได้เปรียบในแง่เครือข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวางเกือบทั้งประเทศ ทั้งยังเคยได้รับอำนาจผูกขาดทางการตลาดมาก่อนในสมัยที่เมียนมาร์ยังถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อ 10 ปีก่อน MPT สามารถจำหน่าย SIM card ในราคาสูงถึง 5 ล้านจ๊าด (ประมาณ 193,423.54 บาท, 25.85 จ๊าด = 1 บาท) โดยใช้วิธีการจับฉลากล๊อตเตอรี่ เนื่องจากข้อจำกัดของอุปทาน แต่ต่อมา เมื่อเมียนมาร์ถูกปกครองโดยรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2554 ราคาจำหน่าย SIM cards ได้ลดลงมาเป็น 2.5แสนจ๊าด (ประมาณ 9,671.18 บาท) และลดลงเหลือเพียง 1,500 จ๊าด (ประมาณ 58.03 บาท) นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา MPT ยังได้ยกเลิกวิธีการจับฉลากล๊อตเตอรี่ในการกระจาย SIM cardsโดยได้จัดให้มีการจำหน่ายผ่านร้านค้าย่อยที่ได้รับอนุญาตทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ ในราคา 1,500 จ๊าด(ประมาณ 58.03 บาท) เท่ากับปีที่ผ่านมา ทำให้ SIM card ของ MPT เป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก

ทั้งนี้ ราคา SIM card ของ MPT ที่ถูกลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ MPT ได้ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น 2 บริษัท คือ KDDI Corporation และ Sumitomo Corporation ซึ่งเตรียมที่จะลงทุนเพิ่มอีก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อขยายการให้บริการของ MPT ในการนี้ MPT จึงมีแผนที่จะจำหน่าย SIM card จำนวนมากกว่า 7 แสนอัน ในเดือนกันยายน 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านอันภายในสิ้นปีนี้ ความต้องการ SIM card ของ MPT ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนี้มาจากการที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในกรุงย่างกุ้งไม่นิยมใช้บริการของ Ooredoo ซึ่งคิดค่าบริการที่แพงกว่า อีกทั้งยังมีเครือข่ายที่จำกัด

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดโทรคมนาคมของเมียนมาร์ คือ การยกร่างกฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ เนื่องจากแต่เดิมเมียนมาร์ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลสาขานี้อย่างครอบคลุม โดยมีกรมไปรษณีย์และโทรคมนาคม ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Communication and Information Technology) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำข้อเสนอแนะกรอบ นโยบายสาขาดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล ทั้งยังกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมและการดำเนินงานตาม นโยบายที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างชาติในสาขาโทรคมนาคมยังถูกกำกับดูแลตามกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2555 โดยเป็นหนึ่งสาขาที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ100 และไม่มีข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับกิจการร่วมทุน

การเปิดตลาดโทรคมนาคมในเมียนมาร์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นสาขาที่มีความอ่อนไหวสูงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าบริษัทต่างชาติใดจะสามารถเข้าไปถือครองสัดส่วนใหญ่ของตลาดโทรคมนาคมในเมียนมาร์ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคชาวเมียนมาร์จะได้รับประโยชน์จากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต รวมถึงบริการด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคตในราคาที่ถูกลงและมีคุณภาพดีขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่กำลังเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ประชาชนเมียนมาร์จากการจ้างงานของบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนเพื่อให้บริการในประเทศซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายพันคนต่อหนึ่งบริษัท

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ