คณะกรรมการฯ RCEP เร่งหารือประเด็นติดค้างสำคัญ ปลายเดือนตุลาคมนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2014 14:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP เตรียมจัดประชุมเพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2557 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อสรุปประเด็นติดค้างสำคัญ ด้านรูปแบบการเปิดตลาดการค้าสินค้าการค้าบริการ และการลงทุน ให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (RCEP – TNC) ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ณ ประเทศอินเดีย

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีได้เร่งให้เจ้าหน้าที่สรุปหาท่าทีร่วมกันในประเด็นติดค้างสำคัญ ด้านรูปแบบการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP จึงกำหนดให้มีการประชุมเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2557 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จก่อน การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (RCEP – TNC) ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ณ ประเทศอินเดีย

นายธวัชชัย กล่าวถึงประเด็นที่จะหารือในการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมจะหารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยในประเด็นด้านการค้าสินค้า พยายามหาข้อสรุปให้ได้ว่ารูปแบบของการเปิดเสรีสินค้าสำหรับยื่นข้อเสนอยกเลิกภาษีนำเข้าในกลุ่มแรก (Initial Offer) จะเป็นอย่างไร จะกำหนดให้จำนวนรายการสินค้าในกลุ่มแรกเปิดตลาดร้อยละเท่าไหร่ และรายการสินค้าที่เหลือจะลดหรือยกเลิกภาษีกันอย่างไร เพื่อเป็นฐานเริ่มต้นเพื่อต่อยอด การเปิดตลาดในกรอบ RCEP ได้ดีกว่าความตกลง FTA ที่อาเซียนกับคู่เจรจามีอยู่ในปัจจุบัน 5 ฉบับ (ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน– ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย)

ในด้านการค้าบริการ พยายามหาข้อสรุปให้ได้ว่ารูปแบบการเปิดตลาดการค้าบริการในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับประเทศสมาชิก RCEP โดยมีการนำเสนอรูปแบบการเปิดตลาดหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบการเปิดตลาดโดยผูกพันสาขาบริการที่แต่ละประเทศพร้อมเปิด (Positive List Approach) หรือ ระบุเฉพาะสาขาและมาตรการที่ไม่ต้องการเปิดตลาดลงไปในตารางข้อผูกพัน (Negative List Approach) หรือ รูปแบบการเปิดตลาดในรูปแบบอื่นๆ

สำหรับการลงทุน ที่ประชุมยังไม่มีท่าทีร่วมกันถึงรูปแบบการเปิดตลาดการลงทุนที่ใช้แนวทางการเปิดตลาดที่ระบุสาขาและมาตรการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีลงไปในตารางข้อผูกพัน (Negative List Approach) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในทุกความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ว่าควรมีขอบเขตอย่างไร ทั้งนี้ ทุกประเทศเห็นว่าการเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบ RCEP จะช่วยเสริมสร้างให้ RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงตามเจตนารมณ์ เพราะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมการทำธุรกิจของ SME ในประเทศภาคีอีกด้วย

หากการประชุมครั้งนี้สามารถหาข้อสรุปการเจรจาดังกล่าวข้างต้น จะทำให้การเจรจาดำเนินการต่อไปได้อย่างมีทิศทาง และเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้นำกำหนดให้สรุปผลการเจรจา RCEP ภายในสิ้นปี 2558 โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในภูมิภาค RCEP ซึ่งจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมประชากรกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก และครอบคลุมตลาดส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 57 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ความตกลง RCEP ถือเป็นความริเริ่มของอาเซียนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่จะจัดทำความตกลง RCEP โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มของภูมิภาค RCEP มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพสูงและเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก RCEP โดยจะครอบคลุมด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน นโยบายแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กฏหมาย และประเด็นอื่นๆ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ