FTA ไทย-ตุรกี ดันจีดีพี โต 0.03%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 16, 2015 15:56 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยและตุรกี ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2556 โดยผลการศึกษาพบว่า GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.03% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 65.9 - 76.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปโลกจะเพิ่มขึ้น 0.02% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 33 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทยกับตุรกี จะเป็นการเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับไทย ในการเข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงเนื่องจากตุรกีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก มีประชากรราว 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 30 ล้านคน และเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ G20 นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสทางการค้าของไทย เนื่องจากตุรกีมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป และเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าทั้งด้านเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก

นอกจากนี้ ไทยจะสามารถลดผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP - Generalized System of Preferences) โดยจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นการถาวรคาดว่าสินค้าของไทยที่จะได้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ สินค้าประเภทเกษตรอินทรีย์เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็นและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล และเคมีภัณฑ์อินทรีย์

นายธวัชชัย กล่าวว่า หลังจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับตุรกี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดทำกรอบการเจรจา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากสองประเทศไม่มีข้อเรียกร้องแตกต่างกันมาก ก็อาจสามารถสรุปผลการเจรจาเสร็จได้ภายใน 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ไทยกับตุรกีจะยึดถือกรอบของความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และเนื่องจากตุรกีมีความตกลงสหภาพศุลกากรตุรกีและสหภาพยุโรป ดังนั้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าความตกลงการค้าเสรีไทยกับตุรกี จะสะท้อนถึงอิทธิพลของสหภาพยุโรป ที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของตุรกีและแนวทางการเจรจาของตุรกีได้

“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ใช้กลไกการเจรจาเป็นแนวทางการขยายศักยภาพการค้า โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในตลาดต่างๆ และการหาตลาดใหม่ๆ ดังนั้น นักลงทุนต้องใช้ความพยายามและให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ ที่อาจจะเป็นตลาดที่รองรับธุรกิจได้ เพราะการเปิดตลาดใหม่จะทำให้การค้าการลงทุนมีโอกาสขยายตัวเพิ่มจากตลาดที่มีอยู่เดิม” นายธวัชชัย กล่าว

ไทยตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงไปอาเซียนและอีกหลายประเทศ เช่น เหนือติดกับ สปป.ลาว เมียนมาซึ่งประเทศเหล่านี้มีการขยายตัวในแง่การเปิดตลาด นอกจากนี้ ยังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์ทางการค้าระหว่างกัน และจะทำให้ไทยกับตุรกีได้รับผลประโยชน์ร่วมกันด้วย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ