รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2015 16:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Economic Partnership Agreement : AJCEP)ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อบทด้านการค้าบริการและข้อบทด้านการลงทุน ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของการเจรจา โดยขอให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการเจรจาเพื่อให้สามารถสรุปการเจรจาภายในปีนี้ และรวมข้อบททั้งสองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง AJCEP

นางอภิรดี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี (2012-2022) ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ได้รับรองเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 โดยครอบคลุมสาขาต่างๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายรับทราบว่าจะมีการทบทวนแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น ในปี 2016 โดยนำวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 มาประกอบการทบทวน รวมทั้งแสดงความยินดีกับความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมของคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงกิจกรรมที่ญี่ปุ่นได้ให้งบประมาณสนับสนุน เช่น การสนับสนุนแผนพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงปี 2016-2025 การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การจัดสัมมนาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน เป็นต้น โดยอาเซียนแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนมาโดยตลอด

นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รับทราบข้อเสนอแนะของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งรวบรวมความเห็นจากนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในอาเซียนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนในประเทศสมาชิก และเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยยินดีในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมวิชาชีพ การปรับปรุงพิธีการศุลกากรการขยายความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ การยกเลิกอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ การพัฒนาตรา “Made in ASEAN” เพื่อแข่งขันกับตลาดทั่วโลก การเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่น เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รวมอยู่ในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025)

มูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2557 การค้ารวมมีมูลค่า 229.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.1 ของการค้ารวมของอาเซียน ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากจีนและสหภาพยุโรป สำหรับการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมายังอาเซียนในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยญี่ปุ่นยังคงครองตำแหน่งนักลงทุนทางตรงรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 9.8 ของเม็ดเงินลงทุนทางตรงทั้งหมดในอาเซียน

การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปี 2557 คิดเป็น 57.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2ของไทย รองจากจีน ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 21.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น 35.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 การค้ารวมไทย-ญี่ปุ่น มีมูลค่า 26.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 15.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์

26 สิงหาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ