ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 47

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2015 16:09 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 47 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่าที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ เพื่อเร่งการดำเนินการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 4 เดือนข้างหน้า และการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2025 รวมทั้งการเตรียมการสำหรับการหารือกับประเทศคู่เจรจาในระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2558

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยนับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2558 อาเซียนดำเนินมาตรการที่มีความสำคัญลำดับสูงที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ได้ร้อยละ 91.5 โดยไทยดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ร้อยละ 94.3 โดยมาตรการดังกล่าว เช่น การลดภาษีเป็นศูนย์ระหว่างกัน การทยอยลดข้อจำกัดในด้านการเข้าสู่ตลาดด้านบริการและการลงทุน การจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ SME ของอาเซียน การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันของ 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยที่ประชุมขอให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันผลักดันการดำเนินมาตรการที่เหลือให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา อาทิ การจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน การมีผลบังคับใช้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น

นายธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้การรับรองในหลักการของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC 2025 Blueprint) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ชี้ทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยอาเซียนจะมุ่งเน้นการรวมตัวและเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิก/ลดมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ การเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนในระดับที่สูงขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าทางการค้าและยกระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกที่สูงขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งการรวมตัวของสาขาภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่สำคัญของอาเซียน การลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกอาเซียน การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับทั้งประเทศคู่เจรจาและประเทศอื่นๆ ที่กว้างขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยอาเซียนจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 เพื่อรองรับการดำเนินการและติดตามผลการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ แผนงานฉบับนี้จะนำไปผนวกรวมกับแผนงานของอีกสองเสาประชาคมอาเซียน เพื่อเสนอให้ผู้นำอาเซียนให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เน้นถึงความสำคัญกับการสื่อสารให้ประชาชนอาเซียนได้เข้าใจและใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเห็นควรให้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่สำหรับภาคธุรกิจและคนรุ่นใหม่ โดยผ่านช่องทางสื่อสารที่ทันสมัย เช่น โซเชียลมีเดีย และยูทูป นอกเหนือจากการจัดทำเอกสาร ASEAN Integration Report (AIR) 2015 ซึ่งจะเน้นการวิเคราะห์ประเมินผลจากการดำเนินมาตรการตาม AEC Blueprint อย่างละเอียด และเอกสาร AEC Scorecard Report ซึ่งจะสรุปผลสำเร็จของการดำเนินการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และยกตัวอย่างประสบการณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอาเซียน โดยเอกสารทั้งสองฉบับมีกำหนดจะเปิดตัวในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27

นายธวัชชัย กล่าวเสริมว่า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการเตรียมการสำหรับประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะเป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูง มีขอบเขตอย่างกว้างขวางและเพิ่มผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ แต่ยังคงมีหลายประเด็นที่จะต้องเจรจาเพื่อให้ได้ผลสรุปเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ