มันสำปะหลัง : พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตาปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2015 15:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ และเป็นพืชเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์สินค้าเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย) เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังขั้นต้น ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลังดิบ หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พลังงานทดแทน เป็นต้น

ภาพรวมการผลิตและการส่งออกมันสำปะหลัง

ในปี 2556 ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากไนจีเรีย จากรายงานผลผลิตสินค้าเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าในปี 2557 ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังของไทยเท่ากับ 30.02 ล้านตัน ลดลงจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 0.68 และคาดว่าปี 2558 จะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2.95 อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นในปี 2557 - 2558 แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงแป้งและลานมัน จึงส่งผลให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้ามันสำปะหลังหลักของไทย ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มที่จะคงที่ประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี โดยที่จีนจะนำเข้ามันสำปะหลังในรูปแบบของมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังดิบจากประเทศใกล้เคียงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ในปี 2557 เท่ากับ 20.366 ล้านตัน แบ่งเป็นแป้งมันสำปะหลังและสตาร์ชเท่ากับ 8.693 ล้านตัน โดยมีไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักคิดเป็นร้อยละ 92.29 รองลงมาคือเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 3.87 ในส่วนของมันเส้นและมันอัดเม็ดเท่ากับ 11.674 ล้านตัน โดยมีไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักคิดเป็นร้อยละ 70.05 รองลงมาคือ เวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 21.38 และไนจีเรีย คิดเป็นร้อยละ 4.28 ตามลำดับ โดยที่ไทยส่งออกแป้งมันสำปะหลังและสตาร์ชเท่ากับ 8.023 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 20 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน คิดเป็นร้อยละ 51.89 รองลงมา คือ ญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 11.43 ไต้หวัน คิดเป็นร้อยละ 8.87 และอินโดนีเซีย คิดเป็น 6.38 ตามลำดับ และส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดเท่ากับ 8.178 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 36.16 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน คิดเป็นร้อยละ 99.88 ของปริมาณทั้งหมด

ในขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซียและเวียดนามที่สินค้ามันสำปะหลังมีความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหารมากกว่าเชิงอุตสาหรรม โดยที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายสำคัญก็มีแผนที่จะเพิ่มผลิตภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากปริมาณผลผลิตในปี 2557 เท่ากับ 25 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ซึ่งมันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญภายใต้โครงการผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากร (Food Staples Sufficiency Program: FSSP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) โดยจะมีการอุดหนุนให้กับเกษตรกรในรูปแบบของอุปกรณ์และเครื่องมือภายใต้โครงการดังกล่าว และเวียดนามที่มีปริมาณผลผลิตค่อนข้างคงที่ประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปี และมีการจำกัดพื้นที่ในการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากข้อกังวลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของหน้าดิน

ภาพรวมทางการค้า

ปริมาณการค้ามันสำปะหลังในตลาดโลก เป็นผลมาจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความต้องการในการนำเข้ามันเส้นและมันอัดเม็ดเพื่อใช้ในการผลิตเอทานอลซึ่งปริมาณความต้องการมันเส้นของจีนในปี 2557 มีประมาณ 10 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการแป้งและสตาร์ชในปี 2557 เท่ากับ 8.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เท่ากับ 1.3 ล้านตัน ประกอบกับแนวโน้มราคาของสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแป้งข้าวโพด หรือแป้งสาลี แป้งมันสำปะหลังจึงเป็นวัตถุดิบทดแทนแป้งอื่น ๆ จึงส่งผลต่อปริมาณความต้องการของมันสำปะหลังในตลาดโลกด้วยเช่นกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในรูปแบบของมันเส้นและมันอัดเม็ด แต่ในภูมิภาคเอเชียมีการใช้มันสำปะหลังเพื่อการผลิตอาหารสัตว์ลดลง เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังแปรรูปที่มากกว่า เนื่องจากแป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสารให้ความหวาน ผงชูรส กระดาษ และกาว เป็นต้น

ความต้องการมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

เนื่องจากความต้องการพลังงานทดแทนของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อความต้องการมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญต่อความต้องการมันสำปะหลังของโลก โดยทั่วไปหัวมันสดเชื้อแป้ง 30% จำนวน 1 ตันจะสามารถใช้ผลิตเอทานอล 96% ได้ 280 ลิตร หรือประมาณ 222 กิโลกรัม และจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ามันสำปะหลังสำคัญของโลก คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้ 1 พันล้านลิตรในปี 2557 โดยใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศและจากการนำเข้าจากประเทศใกล้เคียง

ในขณะที่ไทยที่ความต้องการน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และ E85 ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้มากขึ้น ทำให้คาดได้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันผสมเอทานอลที่ได้มาจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล (Molasses) ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นร้อย 13 จากปี 2556 หรือเท่ากับ 3 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะต้องใช้หัวมันสดถึง 1.6 ล้านตันในการผลิต

ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

จากแนวโน้มความต้องการมันสำปะหลังของโลกที่ขยายตัวจากพืชอาหารไปสู่พืชพลังงาน ส่งผลต่อความต้องการมันสำปะหลังเพื่อรองรับอุตสาหกรรมภายในประเทศและต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังในห่วงโซ่การผลิตมันสำปะหลังและผลิตผัณฑ์มันสำปะหลังซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รวมถึงผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องความต้องการของตลาด นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปขั้นสูง นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างตลาดเพิ่มนอกเหนือไปจากการส่งออกมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังที่ไทยมีศักยภาพในปัจจุบัน

สำนักการค้าสินค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มีนาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ