แนวโน้มการเจรจาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและการพัฒนาชนบท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2015 15:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันกรอบการเจรจาและความร่วมมือต่างๆ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและการพัฒนาชนบทมากขึ้น อาทิ ในการเจรจารอบโดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation – APEC) ซึ่งทั้งสองกรอบความร่วมมือมีการกล่าวถึงการสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและการพัฒนาชนบท โดยมีความมุ่งหวังที่จะลดความยากจนและกระจายโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึงในชนบท โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย –แปซิฟิก มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและการพัฒนาชนบทมากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ควรศึกษาแนวคิดข้อเสนอแนะ และแนงทางในการเจรจาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและการพัฒนาชนบทอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของไทยในปัจจุบัน

แนวโน้มในกรอบความความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation – APEC)

เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน APEC ได้ให้ความเห็นชอบขอบเขตการจัดทำรายงานการศึกษาเพื่อส่งเสริมสินค้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยการพัฒนาชนบท และบรรเทาความยากจน "Study on Promoting Products which Contribute to Sustainable and Inclusive Growth through Rural Development and Poverty Alleviation" โดยมอบหมายให้หน่วยสนับสนุนด้านนโยบายของเอเปค (Policy Support Unit: PSU) ทำการศึกษาสินค้าที่เกี่ยวข้องโดยใช้หลักเกณฑ์ 4 ด้านในการพิจารณารายการสินค้า ได้แก่ ความยั่งยืน ความทั่วถึง การพัฒนาชนบท และการลดความยากจน ทั้งนี้ การศึกษาสินค้ากลุ่มดังกล่าว จะเป็นการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในส่งเสริมสินค้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโต อย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยการพัฒนาชนบทและบรรเทาความยากจน รวมถึงการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าดังกล่าว ในขณะเดียวกัน สมาชิกเอเปคต่างมีความกังวลและต้องการให้ผลของการศึกษาดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการผูกพันให้สมาชิกเปิดตลาดเพิ่มเติมภายใต้กรอบเอเปค

ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคได้เสนอรายการสินค้าที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาชนบทและบรรเทาความยากจน ในบริบทของการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) เพื่อให้ PSU ทำการศึกษารวมทั้งสิ้น 157 รายการ แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 95 รายการ และสินค้าอุตสาหกรรม 62 รายการ โดยมีเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ 1) สินค้าส่งออกหลัก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเป็นการสร้างอาชีพในชนบทและ 2) สินค้าที่มีอัตราการจ้างงานสูง ซึ่งการสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานในชนบท

ในการศึกษาขั้นต้น PSU ได้อ้างอิงผลการศึกษาของสหประชาชาติในปี 2553 (2010) ซึ่งระบุว่าการสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีทางการค้าโดยการกำจัดอุปสรรคทางการค้าจะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่และลดความยากจน ในขณะที่การเปิดเสรีทางการค้าอาจก่อให้ผลกระทบในด้านรายได้ของรัฐ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในบางประเทศได้1 นอกจากนี้ การศึกษาของ PSU ยังพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการลดความยากจน แต่การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และนโยบายภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาชนบท

ข้อคิดเห็น

ในด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามแนวทางการศึกษาของเอเปคนั้น เอเปคควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการค้ากับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชนบท เพื่อลดความยากจนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบัน รายการสินค้าที่สมาชิกเอเปคเสนอให้มีการศึกษาทั้ง 157 รายการยังไม่มีเกณฑ์ในการเลือกสินค้าที่ชัดเจน โดยจะเห็นได้ว่าสินค้าบางกลุ่มอาจส่งผลเพียงการสร้างงานในชนบทซึ่งอาจไม่เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง หากการผลิตสินค้าเหล่านั้นถูกควบคุม โดยผู้ค้ารายใหญ่ หรือบริษัทลงทุนข้ามชาติ ทั้งนี้ เอเปคควรเพิ่มเติมการวิเคราะห์เพื่อระบุรายการสินค้าที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตรายย่อยมีส่วนร่วมในการผลิตอย่างชัดเจน เพื่อวิเคราะห์หารายการสินค้าที่จะสามารถลดความยากจนอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายในการเจรจาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับความยากจนและการพัฒนาชนบท ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละรายการสินค้า และความเชื่อมโยงอย่างแท้จริงกับเกษตรกร หรือผู้ผลิตรายย่อย ทั้งนี้ การเปิดตลาด หรือการปิดตลาดสินค้าใดๆ ก็อาจไม่ส่งผลต่อการลดความยากจนหรือกระตุ้นการพัฒนาชนบทได้อย่างยั่งยืน หากภาครัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนในด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งทุนทั้งทางด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนา การศึกษา และการเงิน

สำนักการค้าสินค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มีนาคม 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ