เอเปคพร้อมเดินหน้าสู่อนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 4, 2017 15:43 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไทยเป็นสมาชิกแรกเริ่ม มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบเปิดกว้าง (open regionalism) และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (multilateral trading system) เอเปคเป็นเวทีการหารือที่ยึดหลักฉันทามติ (consensus) และความสมัครใจ (voluntarism) ของทุกฝ่าย โดยไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่คำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคมและระดับการพัฒนาของสมาชิก

ในปี 2537 การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่สอง ที่เมืองโบกอร์ อินโดนีเซีย มีแถลงการณ์โบกอร์ว่าด้วยเจตนารมณ์ร่วมของเอเปค (The Bogor Declaration of Common Resolve) ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้เอเปคเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคภายในปี 2553 สำหรับสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และปี 2563 สำหรับสมาชิกกำลังพัฒนา โดยดำเนินการผ่าน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH) ซึ่งในวาระการประชุมที่โอซากาปี 2538 เอเปคได้ระบุประเด็นทางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่เขตเศรษฐกิจสมาชิกจำต้องได้รับการพัฒนาไว้ 12 หัวข้อหลัก เช่น ภาษีศุลกากร มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิกต้องรายการความคืบหน้าของการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการเปิดเสรีการค้าและบริการหรือที่เรียกว่า Individual Action Plans (IAPs) เพื่อรายงานให้เอเปคทราบเป็นประจำทุกปี และต่อมาปรับเป็นทุกๆ 2 ปี โดยรายงานความคืบหน้าของเป้าหมายโบกอร์ปี 2559 ล่าสุดระบุว่า

(1) อัตราภาษีศุลกากรของสมาชิกเอเปคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือลดลงจากร้อยละ 11 ในปี 2539 เหลือร้อยละ 5.5 ในปี 2557 โดยเฉพาะอัตราภาษีที่เก็บจากสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรลดลงอย่างมาก ในขณะที่ภาคเกษตรยังคงมีอัตราภาษีสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม ยาสูบ และธัญพืช รวมทั้งมีการประกาศใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีมากขึ้น

(2) ความตกลงการค้าเสรีที่สมาชิกเอเปคเป็นภาคีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 156 ความตกลง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นความตกลงระหว่างสมาชิกด้วยกันเองถึง 59 ความตกลง

(3) แหล่งทุนและบริการจากต่างประเทศมีช่องทางเข้าถึงมากขึ้น โดยระหว่างปี 2537-2557 การลงทุนโดยตรงจากประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี ทั้งนี้ ต้นทุนในการลงทุนในเอเปคยังอยู่ในระดับสูง

(4) ข้อจำกัดด้านการค้าบริการลดลง โดยความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปคครอบคลุมการค้าบริการมากกว่าความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกถึงร้อยละ 23 โดยเฉพาะสาขาพลังงาน การสื่อสารคมนาคม การขนส่ง และการค้าปลีก

(5) การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยระยะเวลาของการค้าข้ามพรมแดนในเอเปคลดลงจาก 15 วัน ในปี 2549 เหลือ 13 วัน ในปี 2556 รวมทั้งต้นทุนของการนำเข้าและส่งออกที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ก็น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในหมู่เขตเศรษฐกิจเอเปคที่จะต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการค้าการลงทุนที่มีอยู่แล้ว อาทิ ภาษีศุลกากร มาตรการที่มิใช่ภาษี มาตรฐานและความสอดคล้องและขั้นตอนทางศุลกากร รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญในภูมิภาคนี้ เช่น ความมั่นคงของมนุษย์ การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของสิ่งแวดล้อม SMEs และการเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐและเอกชน

นอกจากเอเปคจะมองไปยังประเด็นใหม่ๆ แล้วยังนำประเด็นที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเวทีการเจรจาอื่น โดยเฉพาะ WTO มาพัฒนาโดยริเริ่มโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถซึ่งเป็นการบ่มเพาะความคิดและแนวทางดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจต่างๆ มีการปฏิรูปภายในของตน เป็นการสร้างบทบาทการเป็นผู้นำด้วยการดำเนินการในเอเปค และเนื่องจากความร่วมมือของสมาชิกเอเปคอยู่บนหลักของมติเอกฉันท์ หลักการความร่วมมือที่ไม่ผูกพันทำให้เอเปคมีการพัฒนาในประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจในเวทีอื่นๆ

ในปี 2563 เป้าหมายโบกอร์ซึ่งเป็นแก่นของการทำงานเอเปคกำลังจะสิ้นสุดลง ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เศรษฐกิจและการค้าชะลอตัว มีปัจจัยส่งเสริมเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และบทบาทของเทคโนโลยี เป็นต้น เอเปคจึงต้องทบทวนบทบาทและการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โดยเมื่อปี 2559 เปรู เจ้าภาพเอเปค เริ่มให้ความสำคัญกับการหารือเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 ได้จัดการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเรื่อง APEC toward 2020 and beyond เพื่อระดมสมองกำหนดวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 และในปี 2560 เวียดนาม เจ้าภาพเอเปค ได้สานต่อการทำงานในหัวข้อนี้ โดยจัด Multi-stakeholders Dialogue on APEC toward 2020 and beyond โดยสรุปประเด็นที่เอเปคควรบรรจุในวิสัยทัศน์หลังปี 2563 ควรประกอบด้วยประเด็นคงค้างที่เอเปคต้องดำเนินการต่อไป (Unfinished Business) เช่น การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การจัดการกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) การส่งเสริม MSMEs การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ทั่วถึง และมีนวัตกรรม เป็นต้น รวมทั้งประเด็นเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การปฏิวัติดิจิทัล สังคมสูงวัย เป็นต้น ทั้งนี้ เอเปคควรรักษาบทบาท "ผู้บ่มเพาะทางความคิด" และยึดมั่นในหลักฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันต่อไป

นอกจากนี้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของเอเปคที่จะต้องมีการติดตามและเตรียมตัวกันต่อไปคือ การจัดทำความตกลง FTAAP ซึ่งเอเปคได้เริ่มมีการพูดคุยกันแล้ว โดยมุ่งหวังให้เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

สำนักอเมริกา แปซิฟิกและองค์การระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กันยายน 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก เอเชีย   เอเปค  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ