‘กรมเจรจาฯ’ จับตาการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง BREXIT

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2019 13:50 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ติดตามการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลง WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง Brexit อย่างใกล้ชิด หนึ่งในนั้นคือการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) คาด ไม่ส่งผลต่อไทย พร้อมให้ทรรศนะ ระดับ การเปิดตลาดฯ ของสหราชอาณาจักรไม่ต่างไปจากเดิม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ภายในเส้นตายที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 อย่างใกล้ชิด โดยประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองคือ สหราชอาณาจักรจะสามารถออกจากอียูได้อย่างราบรื่นตามความตกลง Withdrawal Agreement หรือไม่ รวมทั้งยังมีประเด็นการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลงต่างๆ ของ WTO ที่สหราชอาณาจักรทำไว้แต่เดิมในฐานะสมาชิกอียู ซึ่งรวมถึงความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ที่เป็นความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ด้วย

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) เป็นความตกลงฉบับหนึ่งภายใต้ WTO มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศที่โปร่งใส ประเทศภาคีสามารถเลือกกำหนดรายการสินค้า บริการ และบริการก่อสร้าง รวมถึงรายชื่อหน่วยงานรัฐ และมูลค่าขั้นต่ำของการจัดซื้อจัดจ้างที่ตนพร้อมเปิดตลาด ปัจจุบัน GPA มีภาคี 19 รายรวม 47 ประเทศ (สมาชิกอียู 28 ประเทศ) โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาเข้าเป็นภาคีความตกลง GPA ด้วยตนเอง (โดยไม่ใช่ในฐานะสมาชิกของอียู) และมีเวลาถึงเดือนสิงหาคม 2562 ในการยื่นหนังสือถึง WTO ตอบรับการเป็นภาคีความตกลงฯ ทำให้เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง GPA ของสหราชอาณาจักร ในบริบทของ Brexit แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสหราชอาณาจักรจะเป็นภาคี GPA โดยคงสถานะเป็นสมาชิกอียูไปก่อนจนถึงเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม จากนั้น หากสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถมีความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะเข้าเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศตัวเองโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกัน หากสหราชอาณาจักรทำความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะต้องเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศสมาชิกอียูต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตามที่ Withdrawal Agreement กำหนด ซึ่งกรมฯ เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะระดับการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหราชอาณาจักรไม่ได้ต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของ WTO (GPA) มีมูลค่าการเปิดตลาดรวมกันประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สหราชอาณาจักรเป็นภาคีที่มีความสำคัญเนื่องจากมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของอียู และมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างหากคิดเฉพาะส่วนที่เป็นของหน่วยงานรัฐบาลกลางของอียู โดยปัจจุบันไทยเข้าร่วม GPA ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีก 31 ประเทศ และในจำนวนนี้มีประเทศที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นภาคีของความตกลงฯ 10 ประเทศ คือ อัลบาเนีย ออสเตรเลีย จีน จอร์เจีย จอร์แดน คีร์กิซ มาเซโดเนียเหนือ โอมาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน ส่วนด้านสหราชอาณาจักรนั้น นับเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 20 ของไทย ในปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

13 มีนาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ