“พาณิชย์” ต่อยอดความร่วมมือไทย-ยูนนาน ชูจุดเด่นด้านยุทธศาสตร์หนุนเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2019 14:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทย – ยูนนาน เดินหน้าสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นเฟ้น หารือแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ต่อยอดความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์สองฝ่าย พร้อมเดินหน้าชูจุดเด่นด้านยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงไทย – จีน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการค้า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ได้พบหารือกับนายเฉิน หาว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำมณฑลยูนนานและประธานสภาผู้แทนประชาชนมณฑลยูนนาน ในโอกาสที่ฝ่ายหลังเดินทางเยือนไทย โดยการหารือเน้นเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ยูนนานผ่านความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน การส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้มณฑลยูนนาน ซึ่งมีนครคุนหมิงเป็นหนึ่งใน “เมืองแห่งการนำร่องการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน”ของจีนช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ให้สามารถขยายตลาดในจีน ตลอดจนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

นางสาวชุติมา เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายใช้โอกาสนี้หารือเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการค้า เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าไทย – จีนสู่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 จากในปี 2561 มีมูลค่าที่ 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้ ซึ่งน่ายินดีที่การค้าไทย – ยูนนาน มีมูลค่ากว่า 1,032 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากปีก่อนหน้า และจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายเชื่อว่ายังสามารถขยายการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าในปี 2562 เช่น จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิถุนายน 2562 คู่ขนานกับงานแสดงสินค้า SSACEIF (South and Southeast Asia Commodity Expo and Investment Fair) จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลไม้พรีเมี่ยมร่วมกับห้างสรรพสินค้า Parkson ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2562 และขายร่วมกับห้างคาร์ฟู 11 สาขา ในนครคุนหมิงและเมืองใกล้เคียง เป็นต้น

นางสาวชุติมา เพิ่มเติมว่า มณฑลยูนนานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถือเป็นมณฑลใกล้กับไทยมากที่สุด สามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างกันด้วยถนนหลวง R3A โดยยูนนานมีพรมแดนกว่า 4,000 กิโลเมตร ติดกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม มีประชากรกว่า 48 ล้านคน จีดีพีอยู่ที่ 270,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเศรษฐกิจมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 8.9 และด้วยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ มณฑลยูนนานจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์บน “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เชื่อมจีนสู่อาเซียนและเอเชียใต้ผ่านการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เส้นทางรถไฟและถนน ด้านกฎระเบียบ (การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน) และด้านเทคโนโลยี (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) รวมทั้งยูนนานยังมีการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันใกล้ชิดยิ่งขั้น ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และคณะทำงานไทย – ยูนนาน เป็นต้น-

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.67 แบ่งเป็นการส่งออกสินค้าไทยไปจีน มูลค่า 30,175.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ และการนำเข้าจากจีนมาไทย มูลค่า 49,960 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.93 สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ สำหรับการค้าไทย – ยูนนาน สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปยูนนานอาทิ ผลไม้สด (มังคุด ลำไย ทุเรียน กล้วยไข่ ส้มโอ) นาฬิกา (ข้อมือ แขวนผนัง) อาหารทะเลแช่แข็ง (กุ้ง) ไก่แช่แข็งและชิ้นส่วน และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูนนาน อาทิ ผลไม้สด (องุ่น แอปเปิล แพร์ ส้ม) ผักสดปุ๋ย ผักบรรจุกระป๋อง ทองแดงและของที่ทำจากทองแดง

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

29 มีนาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ