อาเซียน-ญี่ปุ่น คลอดแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2020 14:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

‘จุรินทร์’ มอบผู้ช่วย รมต.พาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 หวังสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าสู่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่ที่จะมีผล 1 สิงหาคม นี้ สองฝ่ายย้ำ! ลงนามอาร์เซ็ปปลายปีนี้

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก ที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เพราะจะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมครบทั้งการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น แก่นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน

“มั่นใจว่า การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ที่ผ่านการรับรองของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย และจะช่วยบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแน่นอน” ดร.สรรเสริญ เสริม

ทั้งนี้ ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 225,915 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 109,835 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 116,080 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไปอาเซียน มูลค่า 20,356 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

30 กรกฎาคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ