‘พาณิชย์’ เปิดเวทีรับฟังความเห็น เล็งขยายตลาดใหม่กับ EFTA รับยุค New Normal

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 2, 2020 14:51 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำทัพกูรูจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ให้ข้อมูลเรื่องกลุ่มประเทศ EFTA และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ชี้เป็นโอกาสจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า พร้อมมองประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA รับมือกับการแข่งขันในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังการสัมมนาระดมความเห็น เรื่อง ?EFTA New Market in New Normal หรือ การขยายตลาดใหม่รับชีวิตวิถีใหม่กับกลุ่มสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป? เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องกลุ่มประเทศ EFTA และรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเชิญวิทยากรจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมเสวนา อาทิ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา คุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณกรรณิการ์ กิตติเวชกุล รองประธานกลุ่ม FTA Watch ดร. ฑิฏิวุฒิ ศรีมานพ กรรมการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

นางอรมน เพิ่มเติมว่า การสัมมนาดังกล่าว สืบเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรักษาตลาดปัจจุบันและหาตลาดใหม่ ขยายช่องทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจากสถานการณ์โควิด-19 กรมฯ จึงได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาวิจัยเรื่องผลประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ EFTA ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในปลายปีนี้ สำหรับกลุ่มประเทศ EFTA (European Free Trade Association) หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและแสดงความสนใจจะฟื้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย ที่หยุดชะงักไป เมื่อปี 2549

นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย เพราะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย ขณะเดียวกันไทยก็จะต้องปรับตัวรับมือการผูกพันด้านการเปิดตลาด และกฎระเบียบต่างๆ ซึ่ง EFTA ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มประเทศขนาดเล็ก แต่มีขนาดเศรษฐกิจในลำดับชั้นนำของโลก และมีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าและบริการที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของโลก

ปัจจุบัน EFTA จัดทำ FTA กับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ในปี 2546 ฟิลิปปินส์ ในปี 2561 และอินโดนีเซีย ได้สรุปการจัดทำ FTA แล้วเมื่อปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้สัตยาบัน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับมาเลเซีย และเวียดนาม สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ EFTA มี FTA ด้วย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ชิลี เม็กซิโก และตุรกี เป็นต้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับประเทศ EFTA แต่อาจต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับและผลกระทบจากการจัดทำ FTA เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามามีส่วนร่วมในผลประโยชน์และห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการผลิตสินค้าไทย ให้ทัดเทียมกับสินค้าในตลาด EFTA ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ EFTA เป็นคู่ค้าลำดับที่ 16 ของไทย โดยในปี 2562 ไทยกับ EFTA มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 9,770.20 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้าร้อยละ 2.02 ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งไทยส่งออกไป EFTA 5,670.19 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจาก EFTA 4,100.01 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 8,393.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 7,050.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 1,343.4 ล้านเหรียญสหัรฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 กันยายน 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ