อาเซียนจับมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เดินหน้าอัพเกรด FTA เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2021 13:53 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อาเซียนหารือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ติดตามความคืบหน้าการยกระดับการเปิดเสรีทางการค้า และเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เผยกับจีนจะเร่งปรับปรุงความตกลง FTA ให้ทันสมัย เพิ่มรายการสินค้าอ่อนไหว ญี่ปุ่นจะเร่งเจรจาข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนกับเกาหลีใต้ จะเร่งเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหว ยกระดับเปิดเสรีบริการและการลงทุน

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ทั้งการเปิดตลาดการค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับแต่ละประเทศได้มีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของจีน ได้มีการติดตามความคืบหน้าการยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นภายใต้พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) ที่จะมีการปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย ทั้งการค้าสินค้า บริการ ลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดเสรีเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการค้าทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาเซียนและจีนตั้งเป้าจะได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการที่ทั้งสองเห็นชอบร่วมกันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20 ในเดือนก.ย.2564

ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนยังได้หารือแนวทางการสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง อาทิ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) และยินดีกับความคืบหน้าการพิจารณาโครงการที่เสนอโดยอาเซียนภายใต้กองทุนความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่มีมูลค่า 100 ล้านหยวน ที่สนับสนุนโดยฝ่ายจีน เพื่อที่จะสนับสนุนการดำเนินการภายใต้ความตกลง ACFTA และจีนยังได้เชิญชวนประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน?อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 18 ซึ่งจะจัดคู่ขนานกับงานเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี การเจรจาอาเซียน-จีน และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน-จีน ระหว่างวันที่ 10-13 ก.ย.2564 ณ นครหนานหนิง และงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2564 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า การหารือกับญี่ปุ่น ได้ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน?ญี่ปุ่น (AJCEP) การดำเนินการภายใต้ความตกลง AJCEP แผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Economic Resilience Action Plan) เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำข้อริเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น เพื่อหาแนวทางและแผนการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดเร่งหาความชัดเจน ก่อนที่จะจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซียน?ญี่ปุ่นในเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบว่า อินโดนีเซียจะสามารถให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ได้ภายในเดือนมิ.ย.2564 ซึ่งจะทำให้พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ครบทั้ง 11 ประเทศในเดือนก.ย.2564 ซึ่งพิธีสารดังกล่าว เป็นการขยายความตกลง AJCEP ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2552 ที่เดิมมีเพียงการเปิดตลาดการค้าสินค้าให้ครอบคลุมถึงเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าบริการ การดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้สะดวกขึ้น และมีการคุ้มครองการลงทุนที่ชัดเจน รวมถึงจะให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ AJCEP เพื่อหารือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตกลง AJCEP อาทิ การปรับโอนพิกัดศุลกากรกฎเฉพาะรายสินค้าจาก HS 2002 เป็น HS 2017 และการจัดทำข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุนตามแผนดำเนินงาน

ส่วนการประชุมกับเกาหลีใต้ ได้มีการติดตามความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ การเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม การยกระดับด้านการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และ ติดตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การดำเนินงานของสภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKBC) การให้ความช่วยเหลือของเกาหลีใต้ในการพัฒนาทางเทคโนโลยีของอาเซียนภายใต้โครงการ Technology Advice and Solutions from Korea (TASK) และการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKIIC) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน (MOU) ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 18 ในเดือนก.ย.2564 และแนวทางการจัดตั้งศูนย์วิจัยมาตรฐานอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKSRC) ในอาเซียน ซึ่งจะช่วยพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมและมาตรฐานของสินค้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสอดรับกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IRs) และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 มิถุนายน 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ