‘WTO’ เร่งเดินหน้าสรุปผลความตกลงอุดหนุนประมง หวังสร้างโอกาสทางการค้าที่เท่าเทียม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2022 13:15 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เร่งเดินหน้าเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ให้มีผลสรุปก่อนการประชุม MC12 กลางปีนี้ หวังช่วยสร้างโอกาสการค้าสินค้าประมงที่เท่าเทียมระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ชี้! หากเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้มากขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เร่งเดินหน้าสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (Fisheries Subsidies) ให้ทันการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมี 3 ประเด็นหลักที่เป็นเป้าหมายของการจัดทำความตกลงฯ คือ (1) สมาชิก WTO จะต้องไม่ดำเนินมาตรการอุดหนุนประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือห้ามอุดหนุน IUU Fishing เพื่อแก้ไขปัญหา IUU (2) ไม่ดำเนินการอุดหนุนที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและทำให้ทรัพยากรประมงหมดไป และ (3) ไม่ดำเนินการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ (Overcapacity) และเกินขนาด (Overfishing) อาทิ การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเรือหรือเครื่องมือทำการประมงที่ส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินกว่าปกติ

นอกจากนี้ สมาชิกอยู่ระหว่างหารือเพื่อจัดทำข้อยกเว้นให้สมาชิกยังคงสามารถให้การอุดหนุนต่อไปได้ในกรณีที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี และเป็นการอุดหนุนประมงพื้นบ้านของประเทศกำลังพัฒนา

นางอรมน เพิ่มเติมว่า จากรายงานของ WTO ที่จัดทำขึ้นในปี 2562 พบว่า ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีการอุดหนุนประมงสูงเฉลี่ยปีละ 2,131 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีน มีมูลค่า 855 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น มูลค่า 316 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนเพื่อปรับปรุงการทำประมงให้ทันสมัย ภายใต้โครงการปรับปรุงเรือประมงและเทคโนโลยีในการทำประมง สำหรับไทยมีการอุดหนุนประมงเฉลี่ยปีละ 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน และโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน

?หากการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงของ WTO ประสบผลสำเร็จ นอกจากจะช่วยปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลของโลกให้ยั่งยืนแล้ว ยังจะช่วยสร้างโอกาสการค้าสินค้าประมงที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งจะทำให้สมาชิก WTO ที่มีการอุดหนุนในระดับสูงต้องลดการอุดหนุนลง และทำให้ไทยสามารถแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้มากขึ้น? นางอรมนเสริม

11 มีนาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ