‘กรมเจรจาฯ’ พร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 19-22 พ.ค.นี้ ร่วมผลักดัน FTA-AP ชูโมเดล BCG เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 6, 2022 13:43 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 19-22 พ.ค.นี้ ระดมความเห็นเรื่องการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก หนุน MSMEs ใช้โมเดล BCG จัดประกวดทำแอปพลิเคชันช่วยเกษตรกร ใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงตลาด ปิดท้ายกับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หนุนการประชุมรัฐมนตรี WTO และทำแผนรับมือและขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอีกครั้งในรอบ 20 ปี โดยมุ่งเน้นผลักดันผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้หัวข้อหลัก คือ ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล? หรือ ?Open. Connect. Balance.? ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดัน 2 เรื่องสำคัญ คือ ?การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) ในยุคโควิด-19 และอนาคต? และ ?โครงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของเขตเศรษฐกิจสำหรับ MSMEs ที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมและมีนวัตกรรม ผ่านการใช้โมเดล BCG Economy?

นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอเปค จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19 ? 22 พฤษภาคมนี้ ณ โรงแรม Centara Grand and Bangkok Convention Centre at Central World กรุงเทพฯ ซึ่งในครั้งนี้รัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค จะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมเป็นครั้งแรกนับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับในวันที่ 19 พ.ค. 2565 จะมีการสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTA-AP) ในช่วงโควิด-19 และอนาคต เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตร และประชาชน ได้รับทราบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวของเอเปคในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ FTA-AP ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ยั่งยืนและครอบคลุม

สำหรับวันที่ 20 พ.ค. 2565 กำหนดจัดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ เพื่อดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล โดยจะจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG Economy ซึ่งมุ่งหวังให้ MSMEs มีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรมสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดแข่งขัน APEC Mobile App Challenge โดยไทยในฐานะเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ Asia Foundation บริษัท Google และสำนักงานเลขาธิการเอเปค เป็นผู้จัดกิจกรรม โดยรับสมัครผู้สนใจจากเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อออกแบบ Application เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยโจทย์ของปีนี้

คือการช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรในเอเปค สามารถต่อยอดด้านเกษตรและอาหาร และสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดส่งออก ผ่านการใช้แนวคิด BCG Economy

นางอรมน เสริมว่า สำหรับไฮไลท์ในครั้งนี้ คือการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21?22 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นเวทีให้เขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกจะเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย และจะหารือเรื่องการรับมือและอยู่ร่วมกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เรื่องการขับเคลื่อนแผนงาน FTA-AP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต

?เอเปคเป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญที่ไทยจะแสดงบทบาทนำในเวทีโลก โดยเฉพาะในยุคที่ภูมิภาคเอเปคกำลังจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิดอย่างยั่งยืน และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมของไทยในการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิด-19? นางอรมนกล่าว

เอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค. ? มี .ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท (102 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 23.91% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท (50.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 22.95% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท (51.10 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 24.87% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

5 พฤษภาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ