‘ยูเออี’ ชวนไทย ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เล็งทำสัญญาซื้อข้าวไทย พร้อมเร่งสรุป MoU จัดตั้ง JTC ดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2022 14:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ หารือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เดินหน้าเปิดประตูเชื่อมโยงการค้า ด้านยูเออี สนใจทำสัญญาซื้อข้าวไทย เล็งร่วมลงทุนอุตสากรรมผลิตข้าวและโทรคมนาคม พร้อมชวนไทย จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ส่วนไทย พร้อมผลักดันเร่งหาข้อสรุป MoU จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) เพื่อเป็นเวทีหารือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับนายอับดุลนัซเซอร์ จามาล อัลชะลี (H.E.Mr. Abdulnasser Jamal Alshaali) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ด้านเศรษฐกิจและการค้า เนื่องในโอกาสที่นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของยูเออีเดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า ได้ใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำถึงศักยภาพของไทยและยูเออีที่สามารถพัฒนาไปเป็นประตูการค้าระหว่างกันได้ โดยยูเออีสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ประกอบกับมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยมีผลบังคับใช้แล้วถึง 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายการลงทุนและเป็นประตูการค้าให้ยูเออีสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนได้ สำหรับยูเออีได้แสดงความสนใจที่จะทำสัญญาซื้อข้าวจากไทย และเห็นโอกาสที่เอกชนสองฝ่ายสามารถร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวได้ในอนาคต รวมทั้งได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมในไทยอีกด้วย

ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ยูเออีอยู่ระหว่างเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และให้ความสนใจกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยยูเออีได้เชิญชวนไทยพิจารณาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยกับยูเออี ซึ่งไทยเล็งเห็นประโยชน์ในการจัดทำ CEPA กับยูเออีเช่นกัน โดยได้แจ้งกับฝ่ายยูเออีเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการภายในของไทยก่อนเข้าร่วมการเจรจา อาทิ การศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบต่อไทยทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ไทยได้ผลักดันให้สองฝ่ายเร่งหาข้อสรุปต่อร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย ? ยูเออี ที่ไทยได้เสนอให้ยูเออีพิจารณาก่อนหน้านี้ เพื่อใช้ JTC เป็นเวทีหารือโดยตรงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงเศรษฐกิจของยูเออี และหารือเกี่ยวกับการจัดทำ CEPA ระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ยูเออี รับจะหารือเรื่องดังกล่าวกับกระทรวงเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากนี้ ยูเออียังต้องการผลักดันการจัดทำ MoU ว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมยูเออี เพื่อเป็นเวทีหารือของภาคเอกชนสองฝ่าย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของไทยเห็นประโยชน์ของกลไกดังกล่าว และจะช่วยติดตามเรื่องกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ ได้เชิญชวนนักธุรกิจยูเออีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยที่มีกำหนดจัดในปีนี้ ได้แก่ งานแสดงสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ (TILOG VE/TILOG-LOGISTIX) งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (BGJF) และงานแสดงสินค้าครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RHVAC)

ทั้งนี้ ในปี 2564 ยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทยในตลาดโลก และอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง โดยการค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 12,322.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (394,340.8 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.2 จากปี 2563 สัดส่วนการค้าคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 2,781.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (87,763.9 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนไทยนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 9,540.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (306,576.9 ล้านบาท) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และก๊าซธรรมชาติ

22 มิถุนายน 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ