“จุรินทร์” ถกรัฐมนตรี USTR สหรัฐ ช่วงประชุมเอเปค ขอช่วยปลดไทยจากบัญชีประเทศถูกจับตามอง (WL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ลั่น! พร้อมร่วมมือกับสหรัฐในเวทีอินโด-แปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 22, 2022 14:29 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.00 น.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการหารือทวิภาคีกับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้า สหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative: USTR) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้มีการหารือในบรรยากาศภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ประเด็นที่ทางสหรัฐฯ หยิบยกมา มี 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เรื่องการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ ท่านแสดงความชื่นชมประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เจ้าภาพได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งปีหน้าสหรัฐอเมริกาจะรับไม้ต่อจากประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ตนได้ให้ความมั่นใจว่า สหรัฐฯ จะทำหน้าที่เจ้าภาพได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในปีนี้

ประเด็นที่สอง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) มีความร่วมมือที่ได้กำหนดไว้ 4 เสาหลัก 1. การค้า 2. ห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain 3. พลังงานสะอาด 4. ปราศจากการทุจริต เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น ทั้ง 4 เสาหลักนี้ ประเทศไทยแสดงความจำนงเข้าร่วมก่อนหน้านี้แล้ว และตนได้เน้นย้ำอีกครั้ง เพราะในการพบกันในการประชุมครั้งที่แล้วตอนที่ตนทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปคได้มีโอกาสพบกับท่าน ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งท่านขอบคุณประเทศไทยที่แจ้งความจำนงเข้าร่วม สำหรับรายละเอียด อาทิ เสาการค้า กระทรวงพาณิชย์จะเป็นกระทรวงหลักในการรับผิดชอบ อาจจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงานและเรื่องใหม่ที่จะเป็นประเด็นหารือต่อไป อาทิ ดิจิทัลเทรด การอำนวยความสะดวกทางการค้าหรือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการค้าและความร่วมมือด้านเทคนิคต่างๆ ด้านการค้าและเศรษฐกิจเป็นต้น โดยประเทศไทยจะร่วมหารือต่อไปในรายละเอียด

ประเด็นที่สาม ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯในทางการค้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกับสหรัฐฯ มีกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) เห็นตรงกันว่าควรได้มีการจัดการประชุมที่สหรัฐฯในครั้งถัดไป เพราะครั้งล่าสุดประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว ได้มีการประชุมเมื่อปี 62 ที่หยุดเพราะสถานการณ์โควิดที่ไม่เอื้ออำนวยคาดว่าจะเร่งให้เจ้าหน้าที่สรุปโดยเร็วโดยสหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพ

และประเด็นสำคัญที่ตนได้หยิบยกมาหารือ คือ ในเดือนเมษายนปีหน้า สหรัฐอเมริกาจะพิจารณาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในบัญชี WL (บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง :Watch List) ตนขอให้พิจารณาปลดประเทศไทยออกจากบัญชีนี้เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาในทุกด้านถือว่ามี

พัฒนาการที่ดีขึ้นในระดับที่ดีมาก และสหรัฐฯ รับทราบ และขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ยังทำงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอที่ตนให้ปลดออกจากบัญชีต้องจับตามอง หรือ WL ซึ่งท่านรับไปพิจารณา

?และขณะนี้ประเทศที่ยังติดบัญชี WL มีด้วยกัน 19 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้นหากสหรัฐฯพิจารณาปลดออกจากบัญชีนี้จะกลายเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในบัญชี ทำให้สถานะประเทศไทยด้านการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาดูดีขึ้น และมีภาพลักษณ์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับหลายประเทศในโลกในอนาคตต่อไป? รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น ในปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+27.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-9.7%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+202.4%) อัญมณีและเครื่องประดับ (31.2%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (36.0%)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 พฤศจิกายน 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ