สศอ. เผยกำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ กดดันดัชนี MPI เดือน ส.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 7.53 ชี้การส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศยังฟื้นตัวช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 28, 2023 14:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สศอ. เผยกำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ กดดันดัชนี MPI เดือน ส.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 7.53

          ชี้การส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศยังฟื้นตัวช้า  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม               ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ กดดันความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ด้านเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากปัจจัยเสี่ยงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและ    ภาคธุรกิจ หวังนโยบายรัฐบาลใหม่จะช่วยดันอำนาจซื้อประชาชนสูงขึ้น หนุน GDP อุตฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
          นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน   ของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.95 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่    ร้อยละ 58.18 และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 60.09 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป         ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิต        ทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยจาก       การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง    โดยเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.88
          นอกจากนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2566 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง" จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุน และปริมาณนำเข้าสินค้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศที่ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ด้านดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้ายังชะลอตัวจากการเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นในภาคการผลิต            ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลงและสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในระดับสูง                และดัชนีภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อ           การส่งออกไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน เป็นต้น

          "สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การผลักดันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยจะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลโดยรวม   ต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ                    ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานสูง หรือ มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มพลาสติก กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และยางล้อ เป็นต้น" นางวรวรรณ กล่าว สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนสิงหาคม 2566 เมื่อเทียบกับ                            ช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.51 จากน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และเครื่องดื่ม

ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.52 จากราคาปุ๋ยปรับลดลงจากปีก่อน สินค้าเกษตรมีราคาปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายทำให้สินค้า ถูกระบายออกไปต่อเนื่อง

          ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.50 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก โดยการผลิตขยายตัวต่อเนื่องเป็นไปตามการใช้           ในภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.32 จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์อื่นๆ ตามการขยายตัวตลาดส่งออก เนื่องจากปีก่อนประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดจึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย แต่ปีนี้ประเทศคู่ค้าสำคัญมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์

ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.58 จากเสาเข็มคอนกรีตและคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นหลัก เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างเริ่มเพิ่มขึ้นตามจากราคาเหล็กที่ปรับตัวลดลง ซึ่งคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน การก่อสร้างในโครงการของภาคเอกชน

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ