ความท้าทายในการเปิดทศวรรษใหม่: ไทย — รัสเซีย

ข่าวทั่วไป Thursday November 13, 2008 15:56 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในปัจจุบัน การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซียยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่บทบาทของรัสเซียในตลาดโลกเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ หลาย ประเทศในโลกเริ่มเล็งเห็นศักยภาพของรัสเซีย และต้องการเข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดรัสเซียไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าขาย หรือการลงทุน บทความนี้เป็น การวิเคราะห์ศักยภาพของรัสเซียในมุมมองของฝ่ายไทยที่ตระหนักถึงแนวโน้มที่น่าจะเป็นในการสร้างความสัมพันธ์/ความร่วมมือกับรัสเซียให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลยุทธ์ FTA ในการขยายตลาดไปยังรัสเซียซึ่งในบทความนี้ได้วิเคราะห์แนวทางความเป็นไปได้ในการทำ FTA กับรัสเซีย โดยการวิเคราะห์ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ การพัฒนาทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า PEST (Politics, Economics, Social, and Technology) Analysis ดังต่อไปนี้

การเมือง (Politics)

ไทยกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต ในสมัยที่รัสเซียยังมีระบบกษัตริย์ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์ค่อนข้างแนบแน่น แต่เมื่อระบบกษัตริย์ของรัสเซียถูกโค่นล้มไปความสัมพันธ์ระหว่างกันก็เริ่มจางและห่างหายไป ยิ่งเมื่อรัสเซียเปลี่ยนเป็นสหภาพโซเวียตในช่วงสงคราม เย็น ไทยกับรัสเซียยิ่งแทบจะไม่ได้ติดต่อกันเลย ไทยติดต่อกับประเทศประชาธิปไตยด้วยกัน รัสเซียก็ติดต่อค้าขายกับประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน(ก) อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามเย็น ได้มีการปลูกฝังความคิดให้กับคนรัสเซียว่า “ต้องเอาชนะอเมริกาให้ได้” รัสเซียจึงพยายามแข่งขันกับอเมริกาในทุก เรื่องไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ(ข) การเมือง กีฬา อวกาศ ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น แม้ว่าปูตินจะพยายามปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ แต่ก็ยังขาดความโปร่งใส ความยุ่งยากซับซ้อนในระบบราชการ ต่างๆของรัสเซียก็ยังคงอยู่(ค) ตามลักษณะของอดีตประเทศที่ไม่ใช่เสรีนิยมทั่วไป ผู้ประกอบการที่ค้าขายกับรัสเซียหลายท่านที่มีประสบการณ์กับเรื่องราว เหล่านี้มากมายได้เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายและให้ความหวังว่า “ไม่ต่างอะไรกับ จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ตอนเปิดประเทศเท่าใดเลย (จะดีกว่า พม่าในปัจจุบันด้วยซ้ำ)”

หมายเหตุ

(ก) วัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังมีอยู่บ้างในรัสเซียปัจจุบัน สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของรัสเซียก็มาจากจีน หรือยุโรปตะวันออก สินค้าอาหาร หลายรายการ เช่น ข้าว ก็ให้ความสำคัญกับเวียดนามมากกว่าไทย เป็นต้น

(ข) แม้ปรัชญาทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะแตกต่างกัน แต่จะสังเกตได้ว่ารัสเซียก็พยายามแข่งกับอเมริกาในด้านนี้ด้วย

(ค) ช่วงปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา ปูตินยกเลิกระบบภาษีจากเดิมที่มีถึง 200 ชนิด เหลือเพียง 33 ชนิด ลดความยุ่งยากซับซ้อนลดคน กลางลง อย่างไรก็ตาม จากการจัดทำดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของประเทศพบว่า รัสเซีย มีค่าความโปร่งใส่เพียง 2.3 จาก 10 ซึ่งน้อยกว่าไทยที่มีค่า เพียง 3.3 เสียอีก

แต่การที่รัสเซียเพิ่งจะปฏิรูปตัวเองกอปรกับคู่แข่งสำคัญกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะงักงันขนานหนัก รัสเซียพยายามหาพันธมิตรชาติอื่นมาก ขึ้น คู่ค้าเดิมอย่างกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ก็ต้องพยายามรักษาไว้ พันธมิตรหน้าใหม่ๆโดยเฉพาะพันธมิตรของอเมริกาก็ต้องดึงมาให้ได้

ถ้าถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่รัสเซียจะลงนาม FTAกับไทย หากวิเคราะห์ในแง่การเมืองก็น่าจะมีความเป็นไปได้พอสมควร เพราะ รัสเซียเองก็ต้องการสร้างพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะไทยเองก็ดูเหมือนรัสเซียจะให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เช่น ในปัจจุบันนี้ไทยกับรัสเซียได้มีความ ตกลงยกเว้นวิซ่าระหว่างกันแล้ว ทั้งๆที่มีหลายฝ่ายบอกว่ารัสเซียไม่ค่อยจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับประเทศใดง่ายๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการจัดทัวร์คน ไทยเดินทางไปเที่ยวรัสเซียก็ไม่ต้องทำวิซ่า แต่ปรากฏว่าระหว่างเปลี่ยนเครื่องที่ตุรกีกลับโดนเจ้าหน้าที่สายการบินกักตัวไว้เนื่องจากไม่เชื่อว่าเข้ารัส เซียได้โดยไม่ต้องใช้วิซ่า นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัสเซียก็ให้ความสำคัญกับไทยไม่น้อย

หากมีการผลักดันให้รัสเซียเห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนอย่างจริงจังแล้ว ในแง่ของการเมืองรัส เซียก็น่าจะยินดี ไทยเองถ้าได้เป็นมิตรประเทศกับ 1-5 ประเทศที่มีสิทธิ VETO อย่างรัสเซียได้นั้น คงจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับไทยไม่น้อย

เศรษฐกิจ (Economics)

จากตารางแสดงค่า RCA หรือดัชนีความสามารถในการแข่งขันในแต่ละชนิดสินค้าของทั้งสองประเทศ ที่แสดงไว้ในตารางข้างท้าย ซึ่งค่า ดัชนีนี้นอกจากจะบอกว่าประเทศไหนน่าจะเก่งอะไรยังบอกด้วยว่าประเทศนั้นนิยมส่งออกสินค้าอะไรเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาจากตารางดังกล่าว พบว่า สินค้าที่ไทยมีค่า RCA เกินหนึ่งเกือบทุกรายการนั้น รัสเซียมีค่า RCA ต่ำกว่าหนึ่งทั้งหมด (เช่น อาหารแปรรูป ผักผลไม้ ยาง และข้าว) ในทางกลับ กัน สินค้าที่รัสเซียมีค่า RCA เกินหนึ่งไทยก็ต่ำกว่าหนึ่งเช่นกัน (เช่นน้ำมัน ปุ๋ย เหล็ก ไม้ และ กระดาษ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไทยเก่งในสินค้าที่ รัสเซียไม่เก่ง และ รัสเซียก็เก่งในสินค้าที่ไทยไม่เก่ง

สำหรับในแง่ของผลประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดกับทั้งประเทศ คือ ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการแล้ว การทำ FTA ระหว่างประเทศที่ผลิต สินค้าที่เก่งคนละประเภทน่าจะเกิดประโยชน์ กับทั้ง 2 ประเทศ เช่น รัสเซียมีสินแร่เหล็กชั้นดี ขณะที่ไทยมีแต่โรงงานเหล็กขั้นปลาย ซึ่งเหล็กเกรดเอที่ ใช้เทคโนโลยีสูงมากก็ผลิตไม่ได้ แทนที่ไทยจะลงทุนมหาศาลเพื่อให้ผลิตเหล็กคุณภาพปานกลางราคาแพงมาใช้ การนำเข้าเหล็กจากรัสเซียโดยตรงน่าจะ ได้ประโยชน์มากกว่า ในทางกลับกันรัสเซียเป็นประเทศหนาวเย็นจัดการเพาะปลูก และจับสัตว์น้ำก็ยากลำบาก การนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงจาก ไทยจึงน่าจะดีกว่าเป็นต้น นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแบบจำลองที่มีความซับซ้อนและยอมรับอย่างกว้าง ขวาง พบว่าการเปิดเสรีทางการค้าดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศแม้ว่าจะมีไม่กี่อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบทางลบ เช่น เหล็ก และ ปุ๋ย เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นสรุปได้ว่า การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียน่าจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับพบว่าการ ค้าระหว่างกันมีน้อยมาก คือ ไม่ถึง 1% ของการค้ารวมของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น ระยะทาง หรือ ความที่ไทยยังไม่ชำนาญใน ตลาดรัสเซียโดยพิจารณาได้จากรายการย่อยของรายการสินค้าหลัก พบว่า สินค้าหลายชนิดที่ไทยเก่งรัสเซียกลับมีการนำเข้าน้อย แต่รัสเซียกลับนำเข้า สินค้าที่ไทยไม่ค่อยนิยมผลิตแทน เช่น รัสเซียนิยมนำเข้าอาหารแช่แข็งมากกว่าอาหารกระป๋อง เป็นต้น

ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยการตลาดหลายชิ้น ชี้ว่าสินค้าต่างประเทศที่ส่งเข้ามาขายในรัสเซียจำนวนมากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพที่เน้นราคาต่ำ และลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งทางสังคมของคนรัสเซียชั้นกลางคือ ชอบที่จะทดลองซื้อสินค้าต่างประเทศใหม่ๆ(ง) และเปรียบเทียบกับสินค้าเดิม ลักษณะนิสัย ในการบริโภคเช่นนี้น่าจะส่งผลดีต่อสินค้าไทยในการแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นๆในรัสเซีย โดยเฉพาะสินค้าที่เน้นราคามากกว่าคุณภาพทั้งหลาย เพื่อ ชนะใจชนชั้นกลางจึงควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่รับได้ โดย หากไทยใช้กลยุทธ์ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่สูงกว่าสินค้าที่รัสเซีย เคยซื้อจากประเทศอื่นเพียงเล็กน้อย น่าจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการวางแผนร่วมกันที่ดีระหว่าง ภาครัฐและเอกชน(จ)

สังคม (Social)

ปัญหาอย่างหนึ่งในการค้าขายกับต่างประเทศก็คือ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ปัญหาที่สำคัญมากคือ เรื่องภาษา คนรัสเซียไม่ค่อยจะนิยมพูดภาษา อังกฤษเพราะถือว่าเป็นภาษาของอเมริกัน ในขณะที่คนไทยก็ยังไม่เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมากนัก อีกทั้ง มีคนไทยจำนวนน้อยที่พูดภาษารัสเซียได้ แต่ อันที่จริงปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีล่ามที่แปลไทยเป็นรัสเซียเลยก็พูดอังกฤษให้ล่ามรัสเซียแปลอังกฤษเป็นรัสเซียให้ หรือ พูดไทยให้ล่ามไทย แปลเป็นอังกฤษให้ล่ามรัสเซียแปลอีกทีก็ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตำราวิชา Cross Cultural Management มักจะเขียนตรงกันว่าไม่ต้องไปหัดพูดภาษาให้ เหมือนเจ้าของภาษา แต่ต้องพยายามเข้าใจวัฒนธรรม และ เรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันด้วยความใส่ใจสนใจก็เพียงพอแล้ว

หมายเหตุ

(ง)ต่างกับกลุ่มคนรวยใหม่ (Neo Riche) ซึ่งซื้อสินค้าโดยไม่ค่อยสนใจกับราคา

(จ) นักท่องเที่ยวรัสเซียในไทยจำนวนมาก นอกจากจะติดใจในรสชาติอาหารไทย และ ธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังนิยมซื้อสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศจากเมืองไทยอีกด้วย

ในการทำ FTA กับประเทศอื่น เช่น JTEPA มีเรื่องของการลักลอบนำเข้าขยะพิษ หรือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆตามมา แต่คาดว่าในการ เจรจา FTA กับรัสเซีย ปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่อาจตามมาจากการที่มีกลุ่มมาเฟีย รัสเซียเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากไทยจะเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบนักท่องเที่ยวและการตรวจตราโดยอาจขอความ ร่วมมือกับตำรวจของรัสเซียน่าจะลดปัญหาดังกล่าวลงได้

เทคโนโลยี (Technology)

หากมองย้อนไปในช่วงสงครามเย็น รัสเซียพยายามแข่งขันกับอเมริกาอย่างหนักในทุกๆด้านโดยเฉพาะด้านอวกาศ เพราะความก้าวหน้า ทางอวกาศ แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ(ฉ) ดังนั้น แม้รัสเซียจะประสบปัญหาเมื่อครั้งเปิดประเทศใหม่ๆ แต่เนื่องจากรัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหลือเฟือ ประกอบกับ เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอยู่ (แม้รูปแบบจะไม่สวยงาม) ทำให้รัสเซียฟื้นตัวกลับมาได้ อย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากประเทศหนึ่งของโลก

เทคโนโลยีที่สูงดังกล่าวของรัสเซีย (ซึ่งน่าจะสูงกว่าไทยในหลายด้าน) น่าจะเป็นประโยชน์กับไทยหากจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ กัน เช่น การส่งนักเรียนไทยไปเรียนในรัสเซีย(ช) การสัมมนาทางวิชาการร่วมกัน การทดลองร่วมกัน หรือ การลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งรัส เซียเป็นประเทศที่พร้อมให้มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาติอื่นเช่นกัน(ซ) แต่อาจมีอุปสรรคทางภาษาอยู่บ้าง

โดยสรุป การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยและรัสเซียโดยรวมทั้ง 4 มิติน่าจะเกิดผลดี แต่อาจมีบางประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่บ้าง เช่น มี บางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบทางลบ ทางสังคมอาจมีเรื่องอาชญากรรมจากมาเฟียรัสเซีย ซึ่งต้องมีมาตรการและนโยบายรองรับผลกระทบ/ช่วย เหลือตามความเหมาะสม ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยน่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์/ความร่วมมือทางการค้าการลงทุนของไทย กับรัสเซียอย่างต่อเนื่องต่อไป

หมายเหตุ

(ฉ) การปฏิบัติการทางอวกาศแต่ละครั้ง ต้องมีการค้นคว้าวิจัยสูงมาก ทั้งด้าน ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ วัสดุศาสตร์ ดาราศาสตร์ เครื่องกล ยานยนต์ ฯลฯ ดังนั้น ผลพลอยได้จากการปฏิบัติการทางอวกาศแต่ละครั้ง คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

(ช) การไปเรียนในรัสเซียนั้นนอกจากจะไม่เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ในอดีตยังมีการให้เงินเดือนแก่นักเรียนต่างชาติด้วย

(ซ) ในอดีตแม้แต่ความรู้หรือแปลนในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รัสเซียก็ไม่หวงแต่ประการใด โดยได้ถ่ายทอดให้แก่กลุ่มประเทศ คอมมิวนิสต์ด้วยกัน เช่น เกาหลีเหนือ หรือ คิวบา ใช้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตนเองอย่างไรก็ตาม ก็มีบางศาสตร์ที่รัสเซียหวงแหนไว้ให้คนในชาติ เท่านั้นทำการศึกษา เช่น สาขาพลังจิต (โดยเฉพาะการสะกดจิต) เป็นต้น

ตารางที่ 1: แสดงค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขัน Balassa Index ของสินค้ารัสเซียที่มี

ค่าตั้งแต่ 1.00 ขึ้นไป เปรียบเทียบกับสินค้าไทย ในพิกัดระดับ 2 หลัก ปี 2549

HS           Descriptions                                        Thai RCA      Russia RCA
'75           Nickel and articles thereof                          0.03           8.27
'31           Fertilizers 0.18 5.64
'27           Mineral fuels, oils, distillation products, etc      0.34           4.29
'99           Commodities not elsewhere specified                  0.47           3.10
'81           Other base metals, cermets, articles thereof         0.30           2.49
'44           Wood and articles of wood, wood charcoal             0.89           2.39
'76           Aluminium and articles thereof                       0.60           2.19
'72           Iron and steel                                       0.42           2.16
'74           Copper and articles thereof                          0.74           1.33
'36           Explosives, pyrotechnics, matches, pyrophorics, etc  0.29           1.32
'10           Cereals 4.93 1.25
'47           Pulp of wood, fibrous cellulosic material, waste etc 0.36           1.12
'28          Inorganic chemicals, precious metal compound,isotopes 0.27           1.09
ที่มา: ข้อมูลมูลค่าการนำเข้าและส่งออกโดย Trademap, UNCTAD ประมวลค่าดัชนีโดยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ตารางที่ 2: แสดงค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขัน Balassa Index ของสินค้าไทยที่มีค่า

ตั้งแต่ 1.00 ขึ้นไป เปรียบเทียบกับสินค้ารัสเซีย ในพิกัดระดับ 2 หลัก ปี 2549

HS           Descriptions                                           Thai RCA      Russia RCA
'16           Meat, fish and seafood food preparations nes           12.53           0.15
'40           Rubber and articles thereof                             6.85           0.63
'10           Cereals                                                 4.93           1.25
'80           Tin and articles thereof 4.88 0.04
'11           Milling products, malt, starches, inulin, wheat gluten  4.69           0.36
'20           Vegetable, fruit, nut, etc food preparations            3.39           0.08
'03           Fish, crustaceans, molluscs, aquatic invertebrates nes  3.19           0.33
'55           Manmade staple fibres                                   3.17           0.09
'17           Sugars and sugar confectionery                          2.71           0.16
'25           Salt, sulphur, earth, stone, plaster, lime and cement   2.07           0.86
'21           Miscellaneous edible preparations                       2.06           0.31

'35           Albuminoids, modified starches, glues, enzymes          1.90           0.08
'69           Ceramic products                                        1.77           0.19
'23           Residues, wastes of food industry, animal fodder        1.71           0.16
'07           Edible vegetables and certain roots and tubers          1.62           0.07
'67           Bird skin, feathers, artificial flowers, human hair     1.60           0.00
'39           Plastics and articles thereof                           1.55           0.09
'71           Pearls, precious stones, metals, coins, etc             1.43           0.29
'84           Nuclear reactors, boilers, machinery, etc               1.40           0.13
'56           Wadding, felt, nonwovens, yarns, twine, cordage, etc    1.40           0.10
'54           Manmade filaments                                       1.39           0.04
'58           Special woven or tufted fabric, lace, tapestry etc      1.34           0.00
'91           Clocks and watches and parts thereof                    1.32           0.01
'85           Electrical, electronic equipment                        1.31           0.06
'61           Articles of apparel, accessories, knit or crochet       1.31           0.01
'64           Footwear, gaiters and the like, parts thereof           1.15           0.02
'19           Cereal, flour, starch, milk preparations and products   1.13           0.27
'41           Raw hides and skins (other than furskins) and leather   1.07           0.23
'33           Essential oils, perfumes, cosmetics, toiletries         1.03           0.12
'96           Miscellaneous manufactured articles                     1.00           0.02
ที่มา: ข้อมูลมูลค่าการนำเข้าและส่งออกโดย Trade map, UNCTAD ประมวลค่าดัชนีโดยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

แท็ก รัสเซีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ