การปรับปรุงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการสำรวจภาวะธุรกิจ (Business Tendency Survey)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 16:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

อโนทัย พุทธารี

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม

สุภาดา รุจิรดากุล

อัญชลี ศิริคะเณรัตน์

บทคัดย่อ

นอกเหนือจากข้อมูลเศรษฐกิจของทางการ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะธุรกิจถือเป็นตัวชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้ม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจของภาคเอกชนและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการสำรวจภาวะธุรกิจและจัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ”รายเดือน ตั้งแต่ปี 1999 และดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยจัดเก็บข้อมูลจากบริษัทขนาดกลางและใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 865 ราย ทั้งนี้ ปัญหาที่พบจากการสำรวจของ ธปท. อาทิ อัตราการตอบกลับที่อยู่ในระดับต่ำ คือ ประมาณร้อยละ 60 และการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกับสัดส่วนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่จำนวนตัวอย่างในบางภาคเศรษฐกิจมีน้อยเกินไปจนไม่สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้จริง ล้วนเป็นผลให้สัดส่วนของการกระจายตัวของขนาดตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อนสูง(Error ratio) ดังนั้นเพื่อให้สามารถนำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและติดตามภาวะธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฝ่ายบริหารข้อมูลจึงทำการปรับปรุงนิยามประชากร เพื่อให้สามารถกำหนดขนาดตัวอย่างได้อย่างเหมาะสมตามหลักการทางสถิติ

จากการปรับปรุงนี้ ส่งผลให้จำนวนตัวอย่างที่ทำการสำรวจทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 รายซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างเดิมทั้ง 865 ราย เพื่อให้สามารถประมวลผลดัชนีภายใต้ชุดข้อมูลอนุกรมเวลาเดิมได้อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารข้อมูลได้เริ่มสำรวจโดยใช้กลุ่มตัวอย่างชุดใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 เป็นต้นมา สำหรับผลการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมทำการทดสอบทางสถิติ (Independent t-test) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ได้จากตัวอย่างชุดใหม่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับดัชนีที่ได้จากตัวอย่างชุดเดิม รวมถึงมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราการเติบโตของข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) สะท้อนให้เห็นว่าผลสำรวจจากตัวอย่างชุดใหม่นี้สามารถใช้ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นไปตามหลักการทางสถิติและมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ธปท. ได้เริ่มการเผยแพร่ผลการสำรวจชุดใหม่นี้ต่อเนื่องจากข้อมูลชุดเดิมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 เป็นต้นไป

1. ความสำคัญของการสำรวจภาวะธุรกิจ (Business Tendency Survey)

ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) ซึ่งได้แก่ ข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานทางการต่างๆ รวมทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) ที่ได้จากการสำรวจ(*1) เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่เนื่องจากข้อมูลเชิงปริมาณส่วนใหญ่มีความล่าช้าในการจัดเก็บ ดังนั้น ธนาคารกลางหลายแห่งจึงใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เพื่อช่วยในการประเมินภาพเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางออสเตรเลีย และกระทรวงการคลังออสเตรเลีย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้เล็งเห็นประโยชน์ของข้อมูลที่ได้ จากการสำรวจนี้เช่นกัน โดยในปี 1999 ธปท. ก็ได้เริ่มทำการสำรวจภาวะธุรกิจโดยผ่านช่องทางการส่งแบบสำรวจ (Business Sentiment Survey) และ ในปี 2000 ก็ได้ริเริ่ม “โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ/ธุรกิจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับนักธุรกิจ” (Economic/Business Information Exchange Program) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้ง การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการเงิน(*2) ทั้ง 2 โครงการนี้จึงถือเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) เพื่อช่วยเสริมการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ที่ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติในการประมาณการเศรษฐกิจ โดยเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าข้อมูลที่ได้การสำรวจมีประโยชน์ (*3),(*4) คือ

1) ช่วยตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้องของภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อมูลในระดับมหภาคมีความไม่สอดคล้องกัน

2) ช่วยสะท้อนมุมมองของการคาดการณ์ในระยะสั้น อาทิ แนวโน้มคำสั่งซื้อ การผลิต และการลงทุน

3) ช่วยสะท้อนข้อมูลที่ไม่มีการจัดทำและ / หรือ มีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ อาทิ ความเหมาะสมของระดับสินค้าคงคลัง

4) ช่วยให้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่อยู่นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ ความกังวลของภาคธุรกิจ

(*1) Britton, Erik and Andrew, Wardlow (1999), The Bank’s Use of Survey Data, Bank of England Quarterly Bulletin, May, p.177-182.

(*2) “โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ/ธุรกิจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับนักธุรกิจ” (Economic/Business Information Exchange Program) เริ่มดำเนินการครั้งแรกในเดือนมกราคม 2000 ด้วยความร่วมมืออันดีจากธุรกิจเอกชนประมาณ 400 ราย และได้ดำเนินการต่อมาเป็นลำดับ โดยการคัดเลือกธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งสิ้นประมาณ 300-400 บริษัทต่อปีทั่วประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมและสะท้อนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงได้มากที่สุด โดยได้จัดส่งคณะ ผู้แทนจาก ธปท. เข้าพบผู้บริหารของภาคธุรกิจต่างๆ จนปัจจุบันมีธุรกิจที่ร่วมอยู่ในโครงการกว่า 1,600 ราย (http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/BLP/Pages/index.aspx)

(*3) Speak on “Business Surveys and Monetary Policy” by Dr. Charles Bean, Deputy Governor for Monetary Policy, Bank of England, to CBI, on Occasion of 50th Anniversary of the Industrial Trends Survey, Thursday 24 July 2008.

(*4) OECD Statistics, “Business Tendency Surveys : A Handbook”, 2003

2. เปรียบเทียบการสำรวจภาวะธุรกิจของต่างประเทศและไทย
2.1 การสำรวจภาวะธุรกิจในต่างประเทศ

ในการจัดทำผลการสำรวจภาวะธุรกิจนั้นเป็นการนำผลจากการสำรวจที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) มาแปลงเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) โดยใช้วิธีการคำนวณแบบดัชนีการกระจาย หรือ Diffusion Index ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่เริ่มทำการสำรวจภาวะธุรกิจโดยเริ่มจัดทำในปี 1948 และเผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า ดัชนี ISM Manufacturing :PMI ต่อมาในปี 1957 ญี่ปุ่นก็เริ่มจัดทำ TANKAN Survey สำหรับประเทศในกลุ่มยุโรปก็มี อังกฤษจัดทำ CBI Quarterly Industrial Trends Survey ในปี 1958 และ ในปี 1997 สหภาพยุโรปจัดทำ Markit Manufacturing PMI โดยในการสำรวจของประเทศดังกล่าวข้างต้นจะสอบถามผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager) ของบริษัทต่างๆ ในประเทศ หรือกลุ่มประเทศนั้นๆ ถึงภาวะธุรกิจปัจจุบัน มีคำถามหลักประกอบด้วย คำสั่งซื้อ การผลิต การจ้างงาน Supplier Deliveries และ สินค้าคงคลัง

Table 1: Comparison of Business Tendency Surveys
Countries           U.S.             Japan                     UK                 Eurozone
Business         ISM Manufacturing   TANKAN Survey          CBI Industrial Trends  Markit Manufacturing
Tendency Survey  PMI                                        Survey                 PMI
Year of          1948                 1957                  1958                   1997
Conduction
Sample Size      400 firms            11,000 firms          1,500 firms            3,000 firms
Conducted by     Institute of Supply  Bank of Japan(BOJ)    The Confederation     Markit Financial
                 Management (ISM)                            of British            Information Services
                                                             Industry's            Company

Mission: CBI

Break-even Point Unchanged = 50       Unchanged = 0          Unchanged = 0         Unchanged = 50
Reported Index   Composite index      Individual indices:    Individual indices:   Composite index
                 with 5 components:   1.Business Conditions  1.Exports              with 5 components:
                 1.New Order          2.Supply and Demand    2.Output               1.Order Books
                 2.Production           Conditions,          3.Prices               2.Output
                 3.Employment           Inventories and      4.Costs                3.Employment
                 4.Supplier Deliveries  Prices               5.Investment           4.Suppliers’
                 5.Inventory          3.Sales and Current      Intentions             deliveries Times
                                        Profits              6.Business Confidence  5.Stock of Purchase

4.Fixed Investment 7.Capacity Utilisation

5.Fixed Investment of

Financial Institutions

6.Employment

Corporate Finance

Weight Applied   Equal weights*       -                       -                     Unequal weights

Note: *The U.S. PMI was calculated with different weights for each component until the release of January PMI 2009. The previous weights were assigned as followings: New Order (30%), Production (25%), Employment (20%), Supplier Deliveries (15%) and Inventory (10%).

Source: ISM Report on BusinessTankan Summary 141th Short-term Economic Survey of Enterprise in Japan (2009) CBI Quarterly Industrial Trends Survey Markit Eurozone Manufacturing PMI

สำหรับการนำเสนอผลการสำรวจนั้น ในกรณีของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้จัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปของดัชนีรวม (Composite Index) โดยดัชนีของสหรัฐฯ มีการให้น้ำหนักเท่ากันทุกองค์ประกอบซึ่งแตกต่างจากสหภาพยุโรป ส่วนอังกฤษและญี่ปุ่น Tankan Survey ที่นอกจากจะมีคำถามที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ แล้วยังมีการนำเสนอผลการสำรวจแยกกันในแต่ละองค์ประกอบโดยไม่มีการคำนวณเป็นดัชนีรวม(*5) (ตารางที่ 1) 2.2 การสำรวจภาวะทางธุรกิจในประเทศไทย

ในประเทศไทยมี 3 หน่วยงานที่จัดทำการสำรวจภาวะธุรกิจ ได้แก่ 1) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) เริ่มจัดทำปี 1999 โดย ธปท. ซึ่งสอบถามผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และบริการ ประมาณ 800 รายทั่วประเทศ 2) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI) เริ่มจัดทำในปี 2002 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสอบถามผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกประมาณ 1,000 รายจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง ดัชนี TISI สามารถเทียบได้กับ Manufacturing PMI และ 3) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade and Service Sentiment Index: TSSI) เริ่มจัดทำในปี 2005 โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์สอบถามผู้ประกอบการในภาคการค้าและบริการประมาณ 2,400 ราย

Table 2: Comparison among Business Tendency Surveys in Thailand
Business Tendency          Business Sentiment          Thai Industries          Trade and Service
Survey                     Survey                      Sentiment Index          Sentiment Index
                           BSI                        TISI                     TSSI
Year of Conduction         1999                        2002                     2005
Sample Size                800 firms                   1,000 firms              2,400 firms
Conducted by               The Bank of Thailand        The Federation of Thai   The office of Small and
                           (BOT)                       Industries (FTI)         Medium Enterprises

Promotion (OSMEP)

Break-even Point           Unchanged = 50              Unchanged = 100          Unchanged = 50
Reported Index             Composite index with 6      Composite index with 5   Composite index with 5
                           components:                 components:              components:
                           1.Total Order Books         1.Total Order Books      1.Sales
                           2.Production                2.Production             2.Profit
                           3.Production Cost           3.Production Cost        3.Cost of Business
                           4.Performance               4.Performance            4.Investment
                           5.Investment                5.Sales                  5.Employment

6.Employment Weight Applied Equal weights Equal weights Equal weights Source: Business Sentiment Survey, Bank of Thailand Thai Industries Sentiment Index, The Federation of Thai Industries (FTI) Trade and Service Sentiment Index, The office of Small and Medium Enterprises Promotion

(*5) ในการคำนวณดัชนีการกระจาย หรือ Diffusion Index นั้น มี 2 รูปแบบ ดังนี้

1) คำนวณจากร้อยละของผู้ตอบ “ดีขึ้น” และ “คงเดิม” โดยดัชนี = (100 x ร้อยละของผู้ตอบ “ดีขึ้น”) + (50 x ร้อยละของผู้ตอบ “คง เดิม”) + (0 x ร้อยละของผู้ตอบ “แย่ลง”) การคำนวณวิธีนี้จะมีค่ากลางอยู่ที่ 50 ดังเช่น ดัชนี PMI โดยถ้าดัชนีที่มากกว่า 50 สะท้อนภาวะธุรกิจที่ดีขึ้น ขณะที่ดัชนีที่น้อยกว่า 50 จะสะท้อนภาวะธุรกิจที่เลวลง

2) คำนวณจากร้อยละของผู้ตอบ “ดีขึ้น” และ “แย่ลง” โดยดัชนี = (ร้อยละของผู้ตอบ “ดีขึ้น”) - (ร้อยละของผู้ตอบ “แย่ลง”) วิธีนี้ดัชนีจะมี ค่ากลางอยู่ที่ 0 ดังเช่น TANKAN Survey ถ้าดัชนีมีค่าเป็นบวกจะสะท้อนถึงการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าดัชนีมีค่าเป็นลบจะสะท้อนถึงการปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำการสำรวจภาวะทางธุรกิจ อาทิ CEO Survey รายไตรมาสที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำการสอบถามบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 137 บริษัทใน 8 ภาคอุตสาหกรรม เกี่ยวกับภาพรวมทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจและการจ้างงาน การบริโภค การลงทุน การส่งออกปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาเงินฝืด และมุมมองทางเศรษฐกิจ-การเมืองต่อรัฐบาลในปัจจุบัน และการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรายไตรมาส ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ครอบคลุมผู้ประกอบการทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 150 ราย สอบถามเกี่ยวกับยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน และมุมมองต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

ความแตกต่างของการสำรวจภาวะธุรกิจของ ธปท. เทียบกับต่างประเทศ คือ 1) ในการสำรวจของไทยนั้นมีการสอบถามถึงการคาดการณ์ภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า และ 6 เดือนข้างหน้าสำหรับการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และ 2 ) ข้อมูลที่ทำการเผยแพร่นั้นเป็นข้อมูลที่มิได้มีการปรับฤดูกาล (Seasonally Adjusted)(*6)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในประเทศไทยจะมีหลายหน่วยงานที่จัดทำดัชนีดังกล่าว แต่จากการเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) พบว่ามีทิศทางการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกัน (รูปที่ 1 — 2) และจากการทดสอบสหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) พบว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันค่อนข้างสูง โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ทั้งดัชนีในเดือนปัจจุบันและดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระหว่าง 0.8 - 0.9 ขณะที่ดัชนีทั้ง 2 มีความสัมพันธ์กับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ต่ำกว่า เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในภาคการค้าและบริการ โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ระหว่าง 0.6 - 0.7

(*6) จากผลการทดสอบทางสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนี BSI ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลอย่างมีนัยสำคัญ

2.3 การติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยใช้ดัชนีความเชื่อมั่น

ในหลายประเทศได้นำดัชนีความเชื่อมั่นมาช่วยในการประมาณการภาวะเศรษฐกิจ(*7) รวมทั้งใช้เป็นเครื่องชี้สำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle)(*8) ซึ่งดัชนี BSI ของ ธปท. ก็มีคุณลักษณะนี้เช่นกัน (รูปที่ 3) นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นมักจะมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่วัดโดยเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน(%YoY) มากกว่าแบบเดือนต่อเดือน (%MoM) ทั้งที่ลักษณะคำถามเป็นการถามเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า(*9)

จากการทดสอบทางสถิติถึงความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี BSI กับเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาค อาทิ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Cross Correlation) อยู่ระหว่าง 0.5 — 0.7 ซึ่งสูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) โดยมีความสามารถในการชี้นำอยู่ที่ 2 — 5 เดือน เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) มีความครอบคลุมสาขาการผลิตมากกว่า (รูปที่ 4 - 6)

(*7) Trebing, Michael E., “What’s Happening in Manufacturing: Survey Says…”, Business Review, September/October 1998

(*8) Abberger, Klaus, “The Use of Qualitative Business Tendency Surveys for Forecasting Business Investment in Germany”, IFO Working Paper No. 13, June 2005

(*9) จากการทดสอบความสัมพันธ์ของดัชนี PMI และ Industrial Production (IP) ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอังกฤษ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ผลการทดสอบค่าBreak-even Point ของดัชนี BSI รวมเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 40.3 เช่นเดียวกับ ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ 41.9 ทั้งที่เป็นภาคที่มีจำนวนตัวอย่างมากที่สุด (ตารางที่ 3) ซึ่งค่าดังกล่าวมีความแตกต่างจากระดับเชื่อมั่นที่ 50 (Unchanged) ถึงร้อยละ 20 สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจไปในแง่ลบ เมื่อเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ในภาวะทรงตัวหรือไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ Break-even point ของ BSI อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 (รูปที่ 3) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Business Outlook Survey ที่จัดทำโดย Federal Reserve Bank of Philadelphia(*10) ค่า Break-even Point มีความแตกต่างจากระดับเชื่อมั่นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

(*10) Trebing, Michael E., “What’s Happening in Manufacturing: Survey Says…”, Business Review, September/October 1998

Table 3: Simple Regression Result between GDP Growth and Current BSI

Sector           Constant          Diffusion Index     Adjusted          Break-even
                 (p-value)          Coefficients          R2               Point*

(p-value)

GDP               -35.7947            0.8879             0.449               40.31
                   (0.001)           (0.000)
Manufacturing      -67.076             1.601             0.525               41.90
                   (0.000)           (0.000)
Construction       -12.289             0.322             0.049               38.21
                   (0.000)           (0.176)
Infrastructure     -28.693             0.675             0.542               42.53
                   (0.000)           (0.000)
Financial            2.284             0.063            -0.029              -36.53
                   (0.604)           (0.475)
Trade               -8.914             0.264             0.043               33.76
                   (0.287)           (0.192)
Transportation     -17.316             0.410             0.094               42.28
                    0.161)           (0.103)

Note: * Break-even point is defined as the level of the diffusion index consistent with no change in the underlying official statistic according to the regression model. It is equivalent to the negative of the ratio of the estimated intercept and slope coefficient.

Source: Authors’ Calculation

3. ปัญหาที่พบในการสำรวจในปัจจุบันและการปรับปรุงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแม้ว่าดัชนี BSI ของ ธปท. จะมีความสัมพันธ์กับเครื่องชี้ในระดับมหภาคในเกณฑ์ปานกลาง แต่มีความสามารถในการใช้เป็นดัชนีชี้นำในระยะสั้น ซึ่งสามารถอธิบายอัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP ได้ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อยามเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่ปัญหาที่พบจากการสำรวจของ ธปท. ได้แก่

1) การที่อัตราการตอบกลับที่อยู่ในระดับต่ำ คือ ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำหากเทียบกับการสำรวจแบบเดียวกันของประเทศในกลุ่ม OECD ที่อัตราตอบกลับสูงถึงร้อยละ 80 และ 2) การกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกับสัดส่วนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 เทียบกับสัดส่วนใน GDP ที่อยู่ที่ร้อยละ 50 3) การที่จำนวนตัวอย่างในบางภาคเศรษฐกิจมีน้อยเกินไปจนไม่สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้จริง เช่น กลุ่มตัวอย่างในภาคขนส่งการเงิน และโครงสร้างพื้นฐาน (ตารางที่ 4) เป็นผลให้สัดส่วนของการกระจายตัวของขนาดตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อนสูง (Error ratio) รวมถึงค่า Break-even point ในบางสาขาเศรษฐกิจที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการบริการทางการเงิน ภาคการค้า และภาคขนส่งและคมนาคม

Table 4: BSI and GDP classified by Business
          Sector         Firms in survey          Respond GDP*

                          No.  Share(%)    No.    Rate (%)  Share (%)  Share (%)
Total                    865     100       535     61.8      100.0      100.0
Manufacturing            552    63.8       347     40.1       64.9       48.4
Infrastructure            16     1.8        11      1.3        2.1        4.4
Construction              46     5.3        27      3.1        5.0        2.8
Trade                    148    17.1       111     12.8       20.7       17.5
Transportation            35     4.0        13      1.5        2.4       12.2
Financial                 31     3.6        13      1.5        2.4        4.9
Others                    37     4.3        13      1.5        2.4        9.7
Note: * Share of Real GDP in 2009 excluded agricultural,mining Public Administration Education
and Private household sectors
Source: National Economic and Social Development Board Business Sentiment Survey, October 2010, BOT.

ธปท. ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงดำเนินการปรับปรุงกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักการทางสถิติ โดยอาศัยแนวคิดหลักจากการกำหนดขนาดตัวอย่างของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจหรือ TANKAN ของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น(*11) คือ การกำหนดขนาดตัวอย่างในแต่ละภาคธุรกิจให้มีความคลาดเคลื่อนไม่เกินระดับ Error ratio (*12) ที่กำหนด

ในการกำหนดขนาดตัวอย่างที่ทำการปรับปรุงนี้ เบื้องต้นใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ซึ่งกำหนดให้ภาคธุรกิจเป็นชั้นภูมิ (Stratum) และบริษัทเป็นหน่วยตัวอย่าง (Sample) โดยประชากรที่อยู่ในชั้นภูมิใดมีจำนวนน้อยกว่า 5 รายจะไม่นำประชากรจากชั้นภูมินั้นมาคำนวณขนาดตัวอย่าง สำหรับในการคำนวณขนาดตัวอย่างในแต่ละชั้นภูมิใช้วิธีการตามแนวคิดของ TANKAN โดยวัดความคลาดเคลื่อนจากความผันแปรของทุนจดทะเบียนในแต่ละประเภทธุรกิจ ซึ่งกำหนดให้ค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ อยู่ที่ร้อยละ 20 เพื่อมิให้เป็นภาระต่อการสำรวจรายเดือน

ฐานข้อมูลของประชากรที่ใช้ในการสำรวจแบ่งออกเป็น 2 ชั้นภูมิคือ ภาคการผลิตและภาคธุรกิจที่มิใช่การผลิต ซึ่งประกอบด้วยชั้นภูมิย่อย คือ ภาคการค้า การบริการ สาธารณูปโภค ขนส่งและคมนาคม ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และการบริการทางการเงิน โดยเป็นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและใหญ่ที่มีรายชื่ออยู่ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมีฐานเงินทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป(*13) มีทั้งสิ้น 19,114 ราย (รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดูภาคผนวก 1) ซึ่งจากหลักการสุ่ม

Table 5: Sample Design
Sector             No. of     No. of Sample
                 Population    New    Old
Manufacturing      6,383       621    551
Non-Manufacturing 12,731       879    314
Total             19,114     1,500    865
Source: Bank of Thailand.

(*11) Bank of Japan, “Sample Design and Sample Maintenance of TANKAN”, Research and Statistics Department Bank of Japan, June 7, 2004

(*13) กำหนดตามกฏกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่เนื่องจากข้อมูลประชากรที่รวบรวมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานและสินทรัพย์ถาวร จึงใช้ทุนจดทะเบียนในการแบ่งขนาดบริษัท ตามมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร

ตัวอย่างข้างต้นพบว่า ขนาดตัวอย่างที่ต้องสำรวจทั้งสิ้น 606 ราย แบ่งออกเป็นภาคการผลิต 213 ราย และภาคธุรกิจที่มิใช่การผลิต 393 ราย ปรับด้วยอัตราตอบกลับเฉลี่ยที่ร้อยละ 57 จะได้จำนวนที่ต้องส่งแบบทั้งสิ้น 1,500 ราย ครอบคลุมบริษัทที่ทำการสำรวจเดิมจำนวน 865 ราย (ตารางที่ 5)

Table 6: Comparison of BSI Series
 BSI           Current 3-Month Expected
                 Old       New      Old       New
                Sample   Sample    Sample    Sample
January2010      50.4      50.6     56.4      56.7
February         51.3      51.8     57.3      57.2
March            55.7      55.7     53.5      53.7
April            46.0      46.8     55.3      55.2
May              49.9      49.9     55.5      55.2
June             52.1      52.3     55.4      55.9
July             50.4      51.6     55.7      56.6
August           50.3      50.8     56.7      56.7
September        50.6      51 6     56.0      56.3
October          50.0      51.3     54.6      55.5
Source: Bank of Thailand

สำหรับการสุ่มคัดเลือกบริษัทใหม่เพิ่มเติมจากรายเดิม ทำ การสุ่มด้วยวิธีสุ่ม แบบง่าย ( Simple Random) โดยกลุ่มตัวอย่างที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้มีสัดส่วนของทุนจดทะเบียนต่อทุนจดทะเบียนรวมทั้งประชากรคิดเป็นร้อยละ 34.8 แบ่งออกเป็นสัดส่วนของทุนจดทะเบียนภาคการผลิตร้อยละ 9.5 และภาคธุรกิจที่มิใช่การผลิตร้อยละ 25.3

ทั้งนี้ ธปท. ได้เริ่มกลุ่มตัวอย่างชุดใหม่ในการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลการสำรวจที่ได้จากกลุ่ม ตัวอย่างชุดใหม่เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างเดิม (ตารางที่ 6) ซึ่งจากการทดสอบทางสถิติ (Independent t — test) พบว่า ดัชนีจากกลุ่มตัวอย่างเดิมและกลุ่มตัวอย่างใหม่ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนปัจจุบันและดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 รวมทั้ง มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันดัชนีที่ได้จากตัวอย่างชุดเดิม จึงสามารถใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาต่อจากตัวอย่างชุดเดิมได้ โดยการเผยแพร่ผลการสำรวจชุดใหม่นี้จะทำการเผยแพร่ต่อเนื่องจากชุดเดิมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 เป็นต้นไป(*14)

(*14) http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/Index/Pages/bsi.aspx

เอกสารอ้างอิง

Abberger, Klaus, “Qualitative Business Surveys and the Assessment of Employment: A Case study for Germany”, IFO Working Paper No. 11, June 2005.

Abberger, Klaus, “The Use of Qualitative Business Tendency Surveys for Forecasting Business Investment in Germany”, IFO Working Paper No. 13, June 2005.

Bank of Japan, “Sample Design and Sample Maintenance of TANKAN”, Research and Statistics Department Bank of Japan, June 7, 2004.

Barnes, Sebastian and Colin Ellis, “Indicators of short-term movements in business investment”, Bank of England Quarterly Bulletin: Spring 2005.

Bruno, Giancarlo and Claudio Lupi, “Forecasting Euro-area Industrial Production using (mostly) Business Surveys data”, ISAE Istituto di Studi e Analisi Economica, March 2003.

Getz, Patricia M. and Mark G. Ulmer, “Diffusion indexes : a barometer of the economy”, Monthly Labor Review, April 1990.

Harris, Ethan S., “Tracking the Economy with the Purchasing Managers’ Index”, FRBNY Quarterly Review, Autumn 1991.

Keeton, William R. and Michael Verba, “What can regional manufacturing surveys tell us? — Lessons from the Tenth district”, Federal Reserve Bank of Kansas City Economic Review, Third Quarter 2004.

Lindstr?m, Tomas, “Qualitative Survey Reponses and Production over the Business Cycle”, November 23, 2000.

Nakamura, Leonard and Michael Trebing, “What does the Philadelphia Fed’s Business Outlook Survey say about Local Activity?”, Research Rap, December 2008.

OECD Statistics, “Business Tendency Surveys : A Handbook”, 2003.

Trebing, Michael E., “What’s Happening in Manufacturing: Survey Says…”, Business Review, September/October 1998.

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index), ธนาคารแห่งประเทศไทย

สมศจี ศิกษมัต, “ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย”, ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ภาคผนวก 1

1. ประชากรและนิยามประชากร

ประชากรที่ใช้ในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย ในอดีตส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งไม่ได้เจาะจงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน การปรับปรุงขนาดตัวอย่างใหม่นี้ ได้ทำการปรับปรุงแหล่งที่มาของประชากร โดยกำหนดให้ประชากรที่ใช้ในการสำรวจมีแหล่งที่มาจากกลุ่มบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ที่มีรายชื่ออยู่ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปี 2551 และมีฐานเงินทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปตามนิยามที่บัญญัติไว้โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 19,114 รายแบ่งออกเป็นภาคการผลิตจำนวน 6,383 ราย และภาคธุรกิจที่มิใช่การผลิตจำนวน 12,731 ราย รายละเอียดแยกตามประเภทธุรกิจได้ดังนี้

ตารางที่ 1: แสดงจำนวนบริษัทแยกตามประเภทธุรกิจในแต่ละภาคธุรกิจ
ประเภทธุรกิจ                                         จำนวนบริษัท
รวม                                                  19,114
ภาคการผลิต                                             6,383
ธุรกิจผลิตอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ                             986
ธุรกิจผลิตสิ่งทอสิ่งถักและเครื่องแต่งกาย                           709
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องเรือน                               147
ธุรกิจผลิตภัณฑ์กระดาษ และการพิมพ์                              335
ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก                   1,271
ธุรกิจการผลิตอโลหะ เครื่องดินเผา และผลิตภัณฑ์แก้ว                 321
ธุรกิจการผลิตเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐาน           1,183
ธุรกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์โลหะ                1,080
ธุรกิจหัตถกรรมอื่น ๆ                                         351
ภาคธุรกิจที่มิใช่การผลิต                                    12,731
ธุรกิจการค้าส่ง                                           2,046
ธุรกิจการค้าปลีก                                          1,370
ธุรกิจประเภทสาธารณูปโภค                                    156
ธุรกิจก่อสร้าง                                            1,271
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า                            3,189
ธุรกิจการขนส่งและการคมนาคม                                 739
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการเงิน                       1,293
ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร                                  1,336
ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและกิจกรรมทางธุรกิจ             759
ธุรกิจด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์                          259
ธุรกิจเกี่ยวกับนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา                    313
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

2. โครงสร้างแบบสอบถาม

แบบสอบถามสำหรับการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีจำนวน 14 คำถาม ซึ่งได้ออกแบบให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆอย่างกระชับ เข้าใจง่าย รวมทั้งสามารถตรวจสอบความสอดคล้องของคำถามแต่ละข้อได้ โดยคำถามที่นำมาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีมี 6 ข้อ คือ 1) ผลประกอบการของบริษัท (กำไร — ขาดทุน) 2) การผลิต/การค้าและการบริการ 3) การจ้างงาน 4) การลงทุน 5) ต้นทุนประกอบการ และ 6) คำสั่งซื้อทั้งหมด ซึ่งคำถามเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องชี้ถึงสถานภาพทางธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจ ส่วนคำถามอื่นที่นอกเหนือจากนี้สามารถใช้ในการตรวจสอบและอธิบายการเคลื่อนไหวของค่าดัชนี ทั้งนี้ นอกจากการสอบถามภาวะธุรกิจในปัจจุบันแล้ว ยังมีการสอบถามภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพื่อสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย โดยองค์ประกอบของแบบสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีรายละเอียดดังนี้

1) ผลประกอบการโดยทั่วไปของบริษัท (กำไร — ขาดทุน)

2) ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ

3) การจ้างงานของบริษัท

4) การลงทุนของบริษัท

5) คำสั่งซื้อทั้งหมด

6) ต้นทุนของการประกอบการ

สำหรับคำถามอื่นที่มิได้นำไปใช้ในการคำนวณค่าดัชนี แต่เป็นตัวแปรสำคัญในการชี้แนวโน้มเศรษฐกิจอาทิเช่น ราคาขาย กำลังการผลิต และข้อจำกัดทางธุรกิจ คำถามเหล่านี้สามารถสะท้อนการแข่งขันของตลาด ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศที่บริษัทต่างๆกำลังเผชิญอยู่ สำหรับคำถามเรื่องสภาวะการเงิน และเงินเฟ้อที่คาดการณ์ จะช่วยในการประเมินสภาวการณ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวโยงไปถึงภาคการเงิน และสภาพคล่องในตลาดเงิน

คณะผู้จัดทำ
ฝ่ายบริหารข้อมูล

อโนทัย พุทธารี ทีมพัฒนาคุณภาพข้อมูล anotaii@bot.or.th

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม ทีมพัฒนาคุณภาพข้อมูล pornsawanr@bot.or.th

สุภาดา รุจิรดากุล ทีมสถิติภาคเศรษฐกิจจริง supadar@bot.or.th

ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ

อัญชลี ศิริคะเณรัตน์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน anchales@bot.or.th

ธนาคารแห่งประเทศไทย

273 ถนนสามเสน

แขวงพระนคร

เขตพระนคร

กรุงเทพฯ 10200

http://www.bot.or.th

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ