ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (7-11 ก.ค.) ที่ระดับ 32.00-32.80 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ของไทย ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. นอกจากนี้ต ลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย.ของจีน รวมถึงสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ
สำหรับในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 มิ.ย.-4 ก.ค.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือน แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนท้ายสัปดาห์ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ Sentiment ของค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากหลายเรื่อง ทั้งความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการคลังที่เปราะบางมากขึ้นของสหรัฐฯ โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับดีลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับคู่ค้าสำคัญ
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือนที่ 32.305 บาท/ดอลลาร์ฯ (นับตั้งแต่ต้นต.ค.67) ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วน หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด และทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดจะยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในการประชุม FOMC 29-30 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่า ขณะที่การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. นี้
โดยในวันศุกร์ (4 ก.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.35 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.62 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติร หว่างวันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค.68 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,742 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,920 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,907 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 13 ล้านบาท)