บทคัดย่อปาฐกถาพิเศษของผู้ว่าการ: ทิศทางการพัฒนาสถาบันการเงินไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 16:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทคัดย่อปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางการพัฒนาสถาบันการเงินไทย

โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามคำเชิญของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ -----------------------------------------------------------------------------------------------

ทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยเป็นประเด็นนโยบายที่สำคัญต่อระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภาวะแวดล้อมภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทายต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย การประเมิน SWOT Analysis ในประเด็นเหล่านี้เป็นประโยชน์กับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ให้พร้อมรับกับความท้าทายต่างๆ ในระยะต่อไป

I. สภาวะแวดล้อมที่กระทบต่อสถาบันการเงินไทย

1) กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องการเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้นจากระบบการเงินไทย เนื่องจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน อันเป็นผลมาจากความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลก (Global Imbalance)

2) พัฒนาการของระบบการเงินไทยสู่ Modern Finance ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องสามารถปรับ Business Model ได้อย่างคล่องตัว เพื่อให้ตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีกับวิวัฒนาการของระบบการเงิน เช่น ความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้นระหว่างธุรกิจการธนาคาร หลักทรัพย์ และประกันภัย เกณฑ์กำกับดูแลที่อิงมาตรฐานสากล และการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญยิ่งขึ้น

3) บริการทางการเงินที่ทั่วถึง (Financial Inclusion) ตามความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้ใช้บริการ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ การเข้าถึง การเข้าใจ และการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยและ SME ต้องเข้าถึงบริการพื้นฐานมากขึ้น ส่วนผู้มีรายได้ปานกลาง - สูง และธุรกิจขนาดใหญ่ก็เข้าถึงบริการที่หลากหลายขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์การเงินและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และดูแลลูกค้าให้มีบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยที่สถาบันการเงินก็ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม

4) วิวัฒนาการของระบบการชำระเงิน ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้ผู้ใช้บริการคาดหวังในความปลอดภัยจากการใช้บริการทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิวัฒนาการของระบบการชำระเงินที่สำคัญ ได้แก่ การใช้บัตรพลาสติกทดแทนเงินสดและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจ ที่นำไปสู่โอกาสในการกระจายผลิตภัณฑ์ทางการเงินถึงประชาชนวงกว้างมากขึ้นแต่ก็มีความท้าทายที่จะทำใหบ้ ริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่แพงและซับซ้อนเกินไป

II. การประเมินการทำหน้าที่ของระบบการเงินไทย ในการให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชน

1) ตัวกลางทางการเงินระหว่างผู้ออมและผู้ลงทุน

ความสำเร็จ การทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินที่ดีและมีเสถียรภาพในภาวะวิกฤติการเงินโลก โดยที่บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลายกว่าเมื่อก่อนมาก ทั้งในด้านการออม การลงทุน และการระดมทุน ในระยะสั้นและระยะยาว

ความท้าทาย ถึงแม้ว่าระบบการเงินไทยทำหน้าที่นี้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในภาพรวมเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ยังสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก การศึกษาเปรียบเทียบของ World Economic Forum ในรายงาน Financial Development Report ปีนี้ ที่ไทยได้คะแนน 3.37 จากคะแนนเต็ม 7 หรืออยู่อันดับที่ 34 จากทั้งหมด 57 ประเทศซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยที่ต้นทุนและราคาของบริการการเงินของไทยยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยและ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินจากธนาคารพาณิชย์และตลาดทุนได้อย่างทั่วถึง

2) การบริหารความเสี่ยง

ความสำเร็จ บริการบริหารความเสี่ยงเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและตอบสนองความต้องการของประชาชนมีเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านตลาดจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น ดอกเบี้ย และทองคำ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ผนวกกับผลิตภัณฑ์การออม

ความท้าทาย ผู้ใช้บริการยังไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภทยังขาดความลึกและสภาพคล่อง อาทิ ตราสารอนุพันธ์ระยะยาว ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะด้าน Cross-border ขณะที่สถาบันการเงินไทยยังไม่นิยมตามธุรกิจไทยออกไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศมากนัก ประกอบกับ SME ยังขาดความรู้ด้านการบริหารและป้องกันความเสี่ยง

3) การเป็นแหล่งข้อมูลทางการเงินสำหรับประชาชนและธุรกิจ

ความสำเร็จสถาบันการเงินเผยแพร่ข้อมูลที่ความโปร่งใสและมีคุณภาพสูงขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจออมและลงทุนในระยะยาว รวมถึงให้บริการข้อมูลด้านการวิจัย และคำปรึกษาการเงิน-การลงทุน นอกจากนี้ การรวมศูนย์ข้อมูลลูกหนี้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ขณะที่กระแสวินัยตลาด (Market Discipline) จากการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินต่อสาธารณชน ยังมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม

ความท้าทาย ข้อจำกัดจากการเผยแพร่ข้อมูลของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ธุรกิจขนาดเล็กไม่คุ้นเคย เช่น Foreign exchange forward โดยผู้ใช้บริการไม่ทราบเงื่อนไขและต้นทุนรวม (All in cost) อีกทั้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินในบาง Market Segment ยังขาดความโปร่งใส เช่น ตราสารอนุพันธ์ในตลาด Over-the-Counter (OTC) นอกจากนี้ ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SME ยังต้องพัฒนาอยู่มาก โดยเฉพาะการปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานบัญชี

4) การเป็นกลไกผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจมีธรรมาภิบาล

ความสำเร็จการอนุมัติสินเชื่อที่มีมาตรฐานสูงขึ้นของสถาบันการเงิน และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ได้ช่วยผลักดันให้ธุรกิจไทยมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

ความท้าทาย ธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์และ SME อีกจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบ จึงไม่ถูกพัฒนาด้วยกระแสวินัยตลาด (Market Discipline) เท่าที่ควร

5) การให้บริการชำระเงิน

ความสำเร็จ การใช้บริการชำระเงินอย่างแพร่หลาย ดังเห็นได้จากจำนวนบัตรพลาสติก เช็ค และตู้ ATM ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความสะดวกในการใช้ช่องทางบริการใหม่ๆ เช่น Mobile and Internet banking

ความท้าทาย การใช้บริการชำระเงินยังไม่ทั่วถึงและไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดต้นทุนและความเสี่ยงแก่ผู้ใช้บริการ เช่น การใช้บัตรพลาสติกเพื่อกดเงินสดของประชาชน และการใช้เช็คเป็นหลักของภาคธุรกิจ สถาบันการเงินยังต้องปรับปรุงการดูแลความเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้บริการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้ให้บริการประเภท Non-bank

III. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบ สง. ไทยเพื่อรองรับความท้าทายในระยะต่อไป

1) กระแสโลกาภิวัตน์

แนวทางการพัฒนาสถาบันการเงินไทยให้พร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การผลักดันให้มีการบริหารความเสี่ยงด้าน Cross-border ซึ่งยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสถาบันการเงินและผู้ใช้บริการมากนัก ส่วนด้านการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์การเงินนั้น จำเป็นต้องมีการประสานแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (แผนพัฒนาฯ 2) กับแผนพัฒนาตลาดทุน ในส่วนที่มีความเชื่อมโยงของผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น ตลาด Hedging นอกจากนี้ ยังต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความเสี่ยงจากการใช้บริการ

2) Modern Finance

แผนพัฒนาฯ 2 ดูแลให้เกิดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินไทย โดยส่งเสริมให้ลดต้นทุนของระบบสถาบันการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบสถาบันการเงินโดยเพิ่มการแข่งขัน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน อีกทั้ง เพื่อให้เกิดบูรณการในการพัฒนาตลาดการเงินไทย ก็จำเป็นต้องเชื่อมโยงแผนพัฒนาฯ 2 เข้ากับ แผนพัฒนาตลาดทุน แผนพัฒนาประกันภัย แผนแม่บทการเงินระดับฐานราก และแผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

3) ความคาดหวังของประชาชนที่ให้มีบริการทางการเงินทั่วถึงยิ่งขึ้น (Financial Inclusion)

ในการเข้าถึงบริการทางการเงิน แผนพัฒนาฯ 2 ส่งเสริมให้มีการปิดช่องว่างจากการให้บริการการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนธุรกิจ Microfinance และอาจเปิดให้มีสถาบันการเงินประเภทใหม่ขณะเดียวกัน ทางการก็ควรจะสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการสร้างความรคู้ วามเข้าใจทางการเงินให้แก่ SME และผู้มีรายได้น้อย และปรับปรุงกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

4) การให้บริการชำระเงิน

ในการสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้บริการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทางการต้องมีความคิดสร้างสรรค์เชิงนโยบาย เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีที่ประสบความสำเร็จในประเทศเกาหลี ขณะที่สถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยและแนวทางการดูแลลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดความเสียหายจากการใช้บริการ ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น Local switching ก็ช่วยลดต้นทุนของบริการการเงิน และเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมก็จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน (Level playing field) ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ให้บริการประเภท Non-bank รวมถึงป้องกันปัญหา Misselling ที่อาจดำเนินการควบคู่ไปกับการพิจารณาตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และที่ละเลยไม่ได้ คือ ทุกฝ่ายต้องมีความพร้อมในการจัดการกับความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและความเสี่ยงทั้งระบบ (Systemic Risk) ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการทำงานแบบรวมศูนย์ของบริการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้จะผลักดันให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวต่อความท้าทายในอนาคตได้อย่างดี และเป็นกลไกหลักที่สนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินที่ปลอดภัย สะดวก และมีราคาที่เหมาะสม

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ