ดัชนีสินค้าเกษตร: การพัฒนาสู่ความร่วมมือ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 14:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

อโนทัย พุทธารี

ปุณฑริก ศุภอมรกุล

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม

บทคัดย่อ

ภาคเกษตรนับได้ว่ามีความสำคัญและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมานาน แม้ปัจจุบันขีดการพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้นแต่ข้อมูลภาคเกษตรยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลและผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนั้นข้อมูลในภาคการเกษตรจึงเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สามารถใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจมหภาค ทั้งในแง่ของเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะที่ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างใกล้ชิด จึงได้พัฒนาและจัดทำข้อมูลและดัชนีราคาและสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพื่อช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้อมูลสถิติและเครื่องชี้ที่รวดเร็ว ทันการณ์ ที่สามารถสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลกระทบได้ในหลายมุมมอง เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เริ่มจัดทำข้อมูลดัชนีสินค้าเกษตรนี้ขึ้น และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ธปท. จึงเห็นว่า สศก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับข้อมูลภาคการเกษตรโดยตรงควรเป็นหน่วยงานหลักเพียงหนึ่งเดียวในการจัดทำและเผยแพร่ เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพและไม่สร้างความสับสนแก่สาธารณะ จึงได้มีการลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อมูลดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้งานร่วมกันทั้ง 2 หน่วยงานและเป็นประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งานต่อไป

1. ความเป็นมาและความสำคัญดัชนีสินค้าเกษตร

ในอดีตภาคเกษตรเคยเป็นภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในช่วงที่ผ่านมาบทบาทของภาคเกษตรได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP และสัดส่วนในการจ้างงาน (รูปที่ 1 และ 2) ทำให้ดูเหมือนว่าภาคเกษตรจะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจมหภาคลดน้อยลง แต่ในความเป็นจริงภาคเกษตรยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวรองรับผลกระทบจาก Shock ต่างๆ (Counter Cyclical) ดังเช่นที่ เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินปี 1997 โดยแรงงานที่เคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้ย้ายกลับไปทำงานในภาคเกษตร นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตของภาคเกษตร ประกอบกับเศรษฐกิจโลกได้มีแนวโน้มที่จะเปิดเขตการค้าเสรีเพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้การพัฒนาประเทศก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งผลให้ภาคเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจส่วนรวม มีความมั่นคง และเกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน การดำเนินงานดังกล่าวให้บรรลุผลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของภาคเกษตรและสามารถเชื่อมโยงการวิเคราะห์สภาวการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การวางมาตรการ และการกำหนดนโยบายได้อย่างทันกาลและมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา ข้อมูลภาคเกษตรที่ ธปท. จัดทำและเผยแพร่ ได้แก่ 1) ดัชนีราคาสินค้าเกษตร (Agricultural Price Index) ซึ่งสะท้อนระดับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรได้รับจากการขายสินค้า ณ ไร่นา 2) ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (Crop Production Index) และ 3) ดัชนีรายได้เกษตรกร (Farm Income Index) โดยดัชนีราคาและปริมาณได้เริ่มจัดทำตั้งแต่ปี 2538 และ 2531 มีวิธีการคำนวณเป็นแบบ Fixed-Laspeyres โดยปี 2538 และ 2531 เป็นปีฐาน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะใช้วิธี Chained-weighted Laspeyres ยกเว้นประเทศออสเตรเลียที่คำนวณดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยใช้วิธี Chained-weighted Fisher Ideal1 นอกจากนี้ หน่วยงานที่จัดทำก็จะเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลและวางแผนนโยบายด้านการเกษตร (ตารางที่ 1)

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงได้ประสานงานกับสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งเป็นที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถิติการเกษตรทุกชนิดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลทางการดังกล่าวต่อไป

2. การจัดทำดัชนีสินค้าเกษตรของ ธปท. และ สศก.
2.1 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร

ธปท. ได้เริ่มจัดทำและเผยแพร่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเป็นรายเดือนตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งครอบคลุมหมวดพืชผลหมวดปศุสัตว์ หมวดปลาและสัตว์น้ำ และหมวดป่าไม้ โดยในหมวดพืชผลแบ่งออกเป็น 4 หมวดย่อย ได้แก่ กลุ่มพืชผลพืชอาหาร กลุ่มพืชน้ำมัน กลุ่มวัตถุดิบและเส้นใย และกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งสิ้น 24 รายการ ดัชนีเป็นข้อมูลรายสัปดาห์ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ยกเว้นราคาสินค้าในหมวดประมง หมวดไม้ และหมวดอ้อยโรงงาน ที่ใช้ข้อมูลจากองค์การสะพานปลา สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ตามลำดับ

ในการคำนวณดัชนีราคา ธปท. ใช้วิธี Fixed-base Laspeyres2 โดย ธปท. ได้มีการปรับเปลี่ยนปีฐานที่ใช้ในการคำนวณ 2 ครั้ง คือ ปี 2527 และปี 2538 อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีราคาโดยวิธีนี้จะก่อให้เกิด Overestimate Bias จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนปีฐานอย่างสม่ำเสมอ การที่ปีฐานไม่ได้ถูกเปลี่ยนอย่างเหมาะสมก่อให้เกิดความบิดเบือนสะสมของค่าดัชนีจากน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยเปรียบเทียบกับผลผลิต(Relative Weight) ทำให้เกิดค่าความคลาดเคลื่อนซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความถูกต้องของข้อมูล เห็นได้จากกรณีของหมวดพืชผลที่ Relative weight ในปี 2538 อยู่ที่ร้อยละ 61 และเพิ่มเป็นร้อยละ 78 ในปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากราคาในกลุ่มผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลผลิตในหมวดอื่นๆ

ธปท. ได้ตระหนักถึงปัญหาความคลาดเคลื่อนดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับ สศก. ในการปรับปรุงการจัดทำดัชนีราคาดังกล่าวให้มีความถูกต้องและทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรายการผลผลิตที่ใช้ในการคำนวณ โดยมีการตัดผลผลิตบางรายการที่ไม่ได้เป็นพืชผลสำคัญของภาคเกษตรออก ได้แก่ ยาสูบ เมล็ดละหุ่ง กระบือ และ ไข่เป็ด และเพิ่มบางรายการที่มีบทบาทต่อภาคเกษตรมากขึ้น อาทิ พริกไทย และกล้วยไม้ ซึ่งรายการผลผลิตใหม่ที่ใช้ในการคำนวณครั้งนี้ครอบคลุมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรประมาณร้อยละ 623 (ตารางที่ 2) ลดลงจากรายการเดิมครอบคลุมกิจกรรมในภาคเกษตรถึงร้อยละ 84 ซึ่งเป็นผลจากการที่รายการสินค้าในหมวดประมงในดัชนีชุดใหมที่มี่เพียงรายการเดียว ขณะที่ดัชนีชุดเดิมมีทั้งกลุ่มประมงน้ำเค็มและน้ำจืดรวม 27 รายการ เนื่องจากการจัดทำข้อมูลปริมาณทั้ง 27 รายการเพื่อใช้ในการคำนวณ Chained Weight นั้น มีความล่าช้าค่อนข้างมากจึงเป็นข้อจำกัดสำคัญในทางปฏิบัติ

ส่วนวิธีการคำนวณก็ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ Chained-base Laspeyres4 ซึ่งจะไม่คงปีฐานไว้ที่ ณ เวลาเดิม น้ำหนักที่ใช้ในการคำนวณจึงมีการปรับทุกปีเพื่อเป็นการลดการสะสมค่าความบิดเบือน อีกทั้งเอื้อต่อการเพิ่มรายการ ผลผลิตใหม่ที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรได้ โดยหมวดพืชผลที่แต่เดิมที่ใช้วิธี Fixed-base Laspeyres นั้น Relative weight ในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 78 ขณะที่นำหนักที่ใช้ในการคำนวณโดยวิธี Chained-base Laspeyres อยู่ที่ร้อยละ 82 โดยน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มพืชอาหารและไม้ยืนต้น ส่วนกลุ่มผักและผลไม้มีน้ำหนักเพียงร้อยละ 12 ขณะที่วิธีเดิมน้ำหนักถึงร้อยละ 50 ของหมวดพืชผล (รูปที่ 5 และ 6) ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวย้อนหลังถึงเดือนมกราคม 2548

2.2 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร

สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรของ ธปท. นั้นได้เริ่มจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเป็นรายเดือนตั้งแต่ปี 2531 ครอบคลุมเฉพาะหมวดพืชผลที่สำคัญทั้งสิ้น 41 รายการ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มธัญพืชและอาหาร กลุ่มพืชน้ำมันกลุ่มวัตถุดิบและเส้นใย กลุ่มไม้ผล กลุ่มไม้ยืนต้น และกลุ่มพืชผักเช่นเดียวกับดัชนีราคาพืชผล แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสำรวจของ สศก. ในการคำนวณดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ธปท. ใช้วิธี Fixed-base Laspeyres5 ปีฐานคือปี 2531 โดย Relative Weight ของกลุ่มพืชอาหารและธัญพืชในปี 2553 มีเพียงร้อยละ 40 แต่ถ้าหากใช้ปีฐาน 2548 Relative Weight ในปี 2553 จะสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งการที่น้ำหนักในหมวดดังกล่าวมีความแตกต่างกันมากเป็นผลจากการใช้ Fixed Weight ในปี 2538 (รูปที่ 7 และ 8) ดังนั้น ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรตัวใหม่ที่ สศก. จัดทำและเผยแพร่นั้นจะใช้ปีฐาน คือ ปี 2548 แต่ยังคงใช้วิธีการคำนวณแบบ Fixed-base Laspeyres รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรายการผลผลิตที่ใช้ในการคำนวณให้มีความสอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าเกษตร (ตารางที่ 3) ซึ่งรายการผลผลิตใหม่ที่ใช้ในการคำนวณครั้งนี้ครอบคลุมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรประมาณร้อยละ 626 เทียบกับรายการเดิมที่ครอบคลุมเพียงร้อยละ 46 ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวย้อนหลังถึงเดือนมกราคม 2548

2.3 ดัชนีรายได้เกษตรกร

ดัชนีรายได้เกษตรกรเป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ของเกษตรกร และความมั่นคงยั่งยืนในภาคการเกษตร ดังนั้นเพื่อการติดตามภาวะทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ ทาง ธปท.ได้จัดทำดัชนีดังกล่าวโดยการคำนวณจากการคูณดัชนีรวมราคาและดัชนีรวมผลผลิตซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนรายได้รวมของเกษตรกรก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ (gross income) ซึ่งแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้ มาจากข้อมูลชุดใหม่ที่ทาง สศก. เป็นผู้จัดทำและปรับปรุงขึ้นใหม่ ซึ่งได้กำหนดรายการสินค้าให้เหมือนกันทั้งในดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาและดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรรวมทั้งสิ้น 36 รายการ (ตารางที่ 3) ทั้งนี้แม้ว่าวิธีการคำนวณดัชนีมีความแตกต่างกัน กล่าวคือดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาคำนวณแบบ Chainedbase Laspeyres และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรคำนวณแบบ Fixed-base Laspeyres แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการคำนวณค่าดัชนีรายได้เกษตรกร ทั้งนี้หากพิจารณาถึงลักษณะการเคลื่อนไหวและแนวโน้มของดัชนีรายได้เกษตรกร กับมูลค่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในมุมมองของการลงทุน และรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคการเกษตรนั้น ข้อมูลดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน (รูปที่ 9) บ่งชี้ได้ว่าดัชนีรายได้เกษตรกรที่คำนวณได้นั้นสามารถเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในภาคการเกษตร

3. จากการพัฒนาสู่ความร่วมมือในการจัดทำดัชนีสินค้าเกษตร

ดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาพืชผลสำคัญเป็นข้อมูลหนึ่งที่ ธปท. ใช้วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ หากราคาดีและผลิตออกสู่ตลาดมาก รายได้เกษตรกรดีจะสะท้อนการใช้จ่ายภาคเอกชนที่สูงขึ้น ในทางตรงข้ามหากปัญหาจากภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรืออุทกภัยที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย หากราคาไม่สูงพอชดเชยกับความเสียหายจะส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ซึ่งจะกระทบการประเมินภาพการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ราคาพืชผลที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะมีผลต่อเงินเฟ้อและกดดันภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด ข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งยังใช้ในการประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจจากแบบจำลอง รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น ภัยธรรมชาติ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบจัดทำข้อมูลดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรโดยตรงนั้น ธปท. ได้จัดทำข้อมูลนี้ด้วยตัวเองเพื่อการใช้งานตามพันธกิจข้างต้น ต่อมา สศก. ได้เริ่มจัดทำข้อมูลดัชนีสินค้าเกษตรนี้ขึ้นและมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ธปท. จึงเห็นว่า สศก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับข้อมูลภาคการเกษตร โดยตรง ควรเป็นหน่วยงานหลักเพียงหนึ่งเดียวในการจัดทำและเผยแพร่ เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพและไม่สร้างความสับสนแก่สาธารณะ จึงได้มีการประสานงานและร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงานอย่างใกล้ชิดในการปรับปรุงดัชนีนี้จนมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลทางสถิติ และสามารถสนองตอบความต้องการใช้งานของทั้ง 2 หน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการเผยแพร่ข้อมูลดัชนีสินค้าเกษตรที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ทาง สศก. ซึ่งเป็นผู้เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเป็นรายเดือน สามารถเผยแพร่ได้ภายในเดือนถัดจากเดือนของข้อมูล ทั้งในส่วนของข้อมูลดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรโดยในการเผยแพร่ข้อมูลที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้จะเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่งวดข้อมูลของเดือนมกราคม 2554 ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลย้อนหลังจนถึงปี 2548 และทางธปท. จะเชื่อมโยงข้อมูลจากทาง Website ของ สศก. เพื่อมาเผยแพร่ใน Website ของธปท.ภายใต้หมวดภาคเศรษฐกิจจริง

  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา

http://www.oae.go.th/download/index_table/Table1.XLS

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร

http://www.oae.go.th/download/index_table/Table2.XLS

  • ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา

http://www.oae.go.th/download/index_table/Table3.XLS

  • ผลผลิตสินค้าเกษตร

http://www.oae.go.th/download/index_table/Table4.xls

ทั้งนี้สำหรับตารางเก่าที่ทางธปท. เคยเผยแพร่นั้นจะย้ายไปในหมวดตารางข้อมูลเดิมที่มีการยกเลิก ดังนี้

  • XLS_RL_003 ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ

http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/Discontinued/Pages/RealSector.aspx

  • XLS_EI_008: ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได และ XLS_EI_007: ดัชนีผลผลิตพืชผล

http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/Discontinued/Pages/EconomicIndices.aspx

เอกสารอ้างอิง

Australian Bureau of Statistics, Australian Consumer Price Index: Concepts Source and Methods: 2005.

Australian Bureau of Statistics, Labour Price Index: Concepts, Sources and Methods: 2004.

Canberra, Using Scanner Data to Explore Unit value Indexes, Room document at the Sixth Meeting of the International Working Group on Price Indices, Australia: 2- 6 April 2001.

Charles Aspden, Introduction of chain Volume and Price Measures — The Australian Approach, Joint

ADB/ESCAP WORKSHOP ON REBASING AND LINKING OF NATIONAL ACCOUNTA SERIES: March 21-24, 2000.

International Labour Office, Consumer Price Index Manual: Theory and Practice: Calculating consumer price indices in practice, Statistical Office of the European Communities United Nations World Bank : August 25, 2004.

Marshall B. Reinsdorf, W. Erwin Diewert and Christian Ehemann, Additive decompositions for Fisher, Tornqvist and geometric mean indexes, Journal of Economic and Social Measurement 28 (2002) 51-61.

Michel Chevalier, Chain Fisher Volume Index Methodology, Canada

Paul Schreyer, Chain Index Number Formulae in the National Accounts, 8th OECD- NBS Workshop on National Account, OECD Headquarters, Paris: December 2004.

กลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต, การจัดทำดัชนีราคาส่งออก, สำนักดัชนีเศรษฐกิจและการค้า กระทรวงพาณิชย์: พฤษภาคม 2547.

กลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต, คู่มือดัชนีราคาผู้ผลิต, สำนักดัชนีเศรษฐกิจและการค้า กระทรวงพาณิชย์: กรกฎาคม 2549.

เฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , คำกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีลงนาม บันทึกความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูล, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร: 7 มกราคม 2554.

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ดร.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, คำกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีลงนาม บันทึกความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูล, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร: 7 มกราคม 2554.

สายนโยบายการเงิน, รายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือนธันวาคม 2553, ธนาคารแห่งประเทศไทย: มกราคม2554.

ส่วนสารสนเทศปัจจัยการผลิตและราคา ศูนย์สารสนเทศการเกษตร, ดัชนีราคาที่เกษตรขายได้ที่ไร่นา และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ: พฤศจิกายน 2553.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, INPUT - OUTPUT TABLE,

http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=97 : 2548.

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ