สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2011 15:02 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2554

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัว ตามการผลิตภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวตามรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งยางและปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตามผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง ตามปริมาณวัตถุดิบและความต้องการจากต่างประเทศ ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะ และน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัว ตามผลผลิตยางเป็นสำคัญ รวมทั้งปาล์มน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันราคาพืชผลขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 40.9 แม้ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 78.0 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ42.7 และ 47.8 ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.1ต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลกระป๋อง ถุงมือยาง และไม้ยางพาราลดลง ผลจากวัตถุดิบไม่พียงพอ และเหตุการณ์การเมืองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทำให้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องไปยังตะวันออกกลางลดลงมาก อย่างไรก็ตาม การผลิตยางแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และดีบุกเพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.2 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคใต้ชายแดน ผลจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานีหดตัว ส่วนหนึ่งจากอุทกภัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและอำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดกอปรกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพปรับสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายยานยนต์เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของรายได้จากภาคเกษตรและสินเชื่อเช่าซื้อรถ

การลงทุน ขยายตัวชะลอลง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.9 จากการก่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตเป็นสำคัญ และการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ สะท้อนจากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัว ขณะที่จำนวนเงินลงทุนรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใหม่ลดลงร้อยละ 86.5

การส่งออก ขยายตัวสูง โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 โดยเฉพาะยางพาราที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91.8 จากราคาที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ดีบุก สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้น

การค้าผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกเร่งตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 44.7 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดยางพารา เป็นสำคัญ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีมูลค่าส่งออกเร่งขึ้น

ทางด้านสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 14.4 ตามความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินฝากขยายตัวประมาณร้อยละ15.7 เป็นผลจากการขยายฐานเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ตามราคาหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงตามการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ และค่าบำรุงยานพาหนะ รวมทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4346 e-mail : somtawis@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ