นางสาวศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล
ผู้บริหารทีม
สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ปี 2552 ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาผลิตในระดับปกติหลังจากที่มีคำสั่งซื้อทั้งจากต่างประเทศ และความต้องการในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่พบในปัจจุบันภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่สะท้อนจากความคิดเห็นผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปี 2553 คือการขาดแคลนแรงงาน ทั้งที่มีทักษะและไม่มีทักษะและล่าสุด บริษัทจัดอันดับต่างประเทศ 2 บริษัทที่ประเมินเศรษฐกิจไทยยังได้แสดงความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ตัวเลขอัตราการว่างงานซึ่งสะท้อนภาวะตลาดแรงงานในปี 2551 ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 1.3% ได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตต้นปี 2552 และเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานก็ปรับลดลงต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.7% ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในช่วง 10 ปีผ่านมา หลายท่านอาจสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยปจั จุบันฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจก่อนเกิดวิกฤตปี 2551 เท่านั้น ซึ่ง ณ ต้นปี 2551 เศรษฐกิจไทยไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เหตุใดตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันจึงตึงตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤตมาก มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี้หรืออย่างไร
สาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมคือการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคเกษตรโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรดีต่อเนื่องดังเช่นในปัจจุบัน เริ่มจากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แรงงานส่วนหนึ่งซึ่งถูกให้ออกจากงานในภาคอุตสาหกรรม ต้องกลับเข้าสู่ภาคเกษตร แต่เมื่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการปรับสูงขึ้นมากของราคาสินค้าเกษตรเนื่องจากอุปทานในตลาดโลกปรับลดลงมากจากภัยธรรมชาติต่างๆ ขณะที่ความต้องการบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้แรงงานภาคเกษตรได้รับผลตอบแทนที่ดี และการทำงานในภาคอุตสาหกรรมมีความน่าสนใจน้อยลง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่สอดคล้องในเรื่องของทักษะและประสบการณ์ของแรงงานกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและประสบการณ์ โดยเฉพาะแรงงานช่างระดับอาชีวะ ในขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนใหญ่นิยมการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ แรงงานยังนิยมเข้าสู่ภาคบริการสูงขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากลักษณะงานที่สบาย ทั้งนี้ ตัวเลขสัดส่วนของคนว่างงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานต่อตลาดแรงงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมกับสัดส่วนแรงงานในภาคบริการที่สูงขึ้นมาก จากเดิมที่เคยต่ำกว่าสัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนปัญหาตึงตัวของตลาดแรงงานและเหตุผลของการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขึ้น
หากพิจารณาลึกๆ แล้ว สาเหตุ 2 ประการข้างต้น อาจจะยังไม่ใช่แก่นของปัญหาการขาดแคลนแรงงานหากเราเปรียบเทียบการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวของแรงงานในช่วงปี 2543-53 จะพบว่าเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 4.4% ขณะที่อัตราการสะสมทุน (Capital Accumulation) ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตตัวหนึ่งขยายตัวค่อนข้างต่ำโดยเฉลี่ยปีละ 2.7% และแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอีกตัวหนึ่งนั้นปรับเพิ่มในอัตราเฉลี่ยปีละประมาณ 1.5% ในขณะที่แนวโน้มของอัตราการว่างงานปรับลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2543 จนมาสู่ระดับที่ต่ำกว่า 1% ในปี 2553 ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่ากำลังแรงงานและการสะสมทุน ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงคือการขยายตัวของการสะสมทุนที่ต่ำและไม่ทันการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานมากขึ้นเพื่อมาทดแทนปัจจัยทุนในการผลิต โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังพึ่งพาแรงงานค่อนข้างมาก ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม
บางท่านอาจคิดว่าปัญหานี้สามารถแก้ได้ไม่ยาก เพียงเพิ่มกำลังแรงงานในประเทศให้มากขึ้น ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่วิธีนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว และจากโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันที่อัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 1% จะไม่สามารถเอื้อให้ประชากรใหม่ที่เข้าสกู่ ลังแรงงานไปทดแทนแรงงานที่จะเกษียณได้ทัน สะท้อนว่าจำนวนประชากรไทยวัยแรงงานนับวันมีแต่จะคงที่หรือลดลงเท่านั้น จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานตามความต้องการภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแบบเดิมนี้ได้ และปัญหานี้ก็จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหากไม่รีบแก้ไข
เมื่อเศรษฐกิจไม่สามารถเพิ่มจำนวนแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการ วิธีแก้ไขคือการเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อหน่วยแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงานนั้นเอง ทั้งทางตรงคือการอบรมเพิ่มทักษะและการศึกษา และทางอ้อมโดยการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น การแก้ปัญหาที่มุ่งหวังการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ภายใต้ข้อจำกัดแรงงานที่ขยายตัวช้าลงนั้น เศรษฐกิจไทยจะต้องยกระดับการผลิต เปลี่ยนจากการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก มาเป็นแรงงานเครื่องจักร มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อการนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องลงทุนใน 3 ด้านคือ การลงทุนในเครื่องจักร การลงทุนในการวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาแรงงานด้านทักษะและการศึกษา เพื่อสร้างแรงงานที่มีผลิตภาพสูงและสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วพร้อมไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ประเทศไทยควรมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีนโยบายสนับสนุนต่างๆ ที่ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในเทคโนโลยีเครื่องจักรและแรงงาน และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย