ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2554 ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและจากเดือนก่อนทั้งด้านอุปทานจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว และด้านอุปสงค์จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว และการเบิกจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.98 และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชผลสำคัญสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.3 แต่ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนตามผลผลิตข้าว ขณะที่ดัชนีราคาพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 1.6 ตามการหดตัวของราคาหัวมันสำปะหลัง ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยเกวียนละ 13,669.70 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 เนื่องจากยังมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศ ข้าวเปลือกเหนียว ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยเกวียนละ 14,894.70 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 หัวมันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.01 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.6 เนื่องจากตลาดส่งออกชะลอการสั่งซื้อประกอบกับราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันอ่อนตัวลง เนื่องจากผู้ส่งออกมันเส้นมีสต็อกอยู่ในโกดังมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.39 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ยางพารา ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.56 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.3 ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกยังเติบโตต่อเนื่อง
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.1 เป็นผลจากการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขึ้น 69.7 เท่า ตามความต้องการบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ตามแผนการตลาดเพื่อเพิ่มการเติบโตในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 17.6 ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง
ภาคการค้า ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อน ตามการค้าในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะการค้าในหมวดค้าส่งวัตถุดิบทางการเกษตร หมวดสินค้าขั้นกลาง และหมวดการค้ารถยนต์ที่หดตัว อย่างไรก็ตาม การค้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัว สะท้อนจากการขยายตัวของยอดขายจากห้างสรรพสินค้า และธุรกิจขายปลีกสินค้าอุปโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งจากการบริโภคสินค้าจำเป็นและสินค้าคงทน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ตามการขยายตัวของภาษีจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสินค้าบริโภคเป็นสำคัญ สำหรับการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 23.1 และรถจักรยานยนต์ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 21.7 การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 11.0 ตามการก่อสร้างในจังหวัดอุดรธานีเป็นสำคัญ และเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนหดตัวร้อยละ 94.3 แต่หากไม่นับรวมโครงการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดียวกันกับปีก่อนจะหดตัวเพียงร้อยละ 0.7 สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่หดตัวร้อยละ 9.0 ตามลำดับ
ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 4,413.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.1 จากภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 23,332.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.0 เร่งตัวจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายในหมวดเงินเดือน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และหากนับรวมการเบิกจ่ายของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 การเบิกจ่ายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5
การค้าชายแดนไทย - ลาว ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.9 เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หมวดน้ำมันปิโตรเลียม หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดวัสดุก่อสร้าง ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดสินแร่ โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ หมวดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และหมวดผลิตภัณฑ์ไม้
การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.4 เป็นการลดลงทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สินค้าบริโภคในครัวเรือน ส่วนการนำเข้าที่ลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของสินค้า ของป่า (ชัน ยางรง พรรณไม้) สินแร่ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์
ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม มีเงินฝากคงค้าง 468.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.9 ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการแข่งขันกันระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งเงินฝากจากส่วนราชการที่นำฝากเพื่อรอการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับสินเชื่อคงค้าง 489.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อตัวกลางทางการเงินอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 104.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 103.3
สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม มีเงินฝากคงค้าง 256.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.1 เป็นผลจากการขยายตัวของเงินฝากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับสินเชื่อคงค้าง 663.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.0 ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนจากสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ลดลงต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.98 สูงขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.24 ทั้งนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อนตามนโยบายของรัฐจากการลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.64 ตามการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่สูงขึ้นร้อยละ 23.43 อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 7.94 และเนื้อสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 20.85 ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.19 โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นร้อยละ 16.89 เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.50
ภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐ ในเดือนนี้มีผู้สมัครงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 โดยมีผู้สมัครงาน 8,826 คนขณะที่ตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานลดลง โดยมีตำแหน่งงานว่าง 4,230 อัตราและมีการบรรจุงาน 5,318คน ลดลงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ สำหรับตำแหน่งงานว่างเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นเนื่องจากจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าและโรงแรมขนาดใหญ่
ภาวะการทำงาน ณ เดือน กรกฎาคม 2554 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 13.5 ล้านคนแบ่งเป็นทำงานในภาคเกษตรกรรม 7.8 ล้านคน และทำงานนอกภาคเกษตร 5.7 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการขนส่งการขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง โดยมีผู้ว่างงาน 0.06 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4
แรงงานไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 5,067 คน ลดลงร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของแรงงานที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ฮ่องกง ลิเบีย กาตาร์และประเทศอื่น ๆ เกือบทุกประเทศ ยกเว้นไต้หวัน ญี่ปุ่น สวีเดนและเดนมาร์ก แรงงานที่เดินทางไปส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากจังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่นและบุรีรัมย์
ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม: นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส
E-mail: [email protected]
โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย