ทางรอดสู่ยุคใหม่! ธุรกิจไทยเร่งปรับตัว ลดต้นทุน-ลุยอาเซียน-เร่งดิจิทัล สู้ศึกโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 8, 2025 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทางรอดสู่ยุคใหม่! ธุรกิจไทยเร่งปรับตัว ลดต้นทุน-ลุยอาเซียน-เร่งดิจิทัล สู้ศึกโลก

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย (UOB) เปิดเผยผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2025 ที่สะท้อนภาพธุรกิจไทยปรับตัวรับมือความท้าทายครั้งใหญ่! ทั้งจากประกาศ มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และ ความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานโลก แม้สถานการณ์จะบีบหัวใจแต่ภาคธุรกิจไทยยังแกร่ง ผลสำรวจระบุว่ากว่า 90% ของธุรกิจคาดเจอผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทาน ส่วน 68% เร่งเครื่องดิจิทัล และ 60% หันหน้าสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กลายเป็นตัวเร่งสำคัญ

การสำรวจจัดเก็บข้อมูลเมื่อเดือน ม.ค.68 และสัมภาษณ์เพิ่มเติมในเดือน เม.ย.68 พบว่า แม้ภาคธุรกิจไทยจะดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง แต่ยังแสดงศักยภาพในการปรับตัว ผ่านการขยายโอกาสในภูมิภาคอาเซียน เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO & Wholesale Banking ของ UOB ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจประจำปีนี้สะท้อนถึงความสามารถของภาคธุรกิจไทยในการปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลก ด้วยการมองหาโอกาสใหม่ในระดับภูมิภาค การประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ล้วนเป็นแนวทางที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในภาคธุรกิจในระยะยาว อย่างมั่นคง ธนาคารยูโอบีพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทยอย่างเต็มที่ ด้วยโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ ความเชี่ยวชาญในตลาดภายในประเทศ และเครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน

นายสถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ UOB เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ แบ่งออกมาได้เป็น 3 รอบ โดยในรอบแรกคือเรื่องความต้องการภายนอกที่จะลดลง ทำให้การผลิตในประเทศลดลง มีสินค้าให้คลังสูงขึ้น และการจ้างงานหรือรายได้ปรับลงตามขนาดการผลิต

ผลกระทบรอบที่ 2 คือความต้องการวัตถุดิบและสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศที่ลดลง เช่นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือซัพพลายเออร์อื่น ๆ ทำให้ความต้องการผลผลิตของผู้ผลิตหลักในประเทศลดลงตาม ซึ่งจะเป็นฐานของวงจรป้อนกลับเชิงลบ (Negative Feedback Loop) ร่วมกับผลกระทบรอบที่ 1

และผลกระทบรอบที่ 3 คือการไหลทะลักของสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นทั้งในตลาดภายในและตลาดส่งออกอื่น ๆ

ในกรณีที่ประเทศไทยโดนยื่นจดหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่อัตรา 36% จากสหรัฐเริ่มต้น 1 ส.ค.นี้ นายสถิตย์ มองว่า เป็นการขยายเวลาและเร่งให้ประเทศไทยรีบยื่นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถหาข้อสรุปที่ใกล้เคียงกับเวียดนามที่ 20% ได้ เนื่องด้วยไทยมีข้อได้เปรียบมากกว่าเวียดนามในหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ความพร้อม ภาคการผลิตที่มีความหลากหลาย และมิตรสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา

การที่เวียดนามทำข้อสรุปได้เร็วนั้น อาจเป็นเพราะมีทางเลือกที่มีน้อยกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยการเพิ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ ของเวียดนามที่ 40% ต่างกับประเทศไทยที่คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด รวมถึงการเพิ่งพาการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในเวียดนาม โดยเฉพาะในธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น ทำให้ข้อเสนอเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 0% หรือ Total Access นั้นเป็นความจำเป็นต่อภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ควรที่จะเปิดช่องทาง Total Access ให้แก่สหรัฐฯ แบบเดียวกับเวียดนาม แต่อาจจะยื่นข้อเสนอเป็น Selective Access ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจมีสินค้ายังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ เช่น ข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ซึ่งในกรณีนี้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า เพราะยังได้ช่วยเพิ่มการแข่งขันและให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น

*ภาษีสหรัฐฯ ฉุดความเชื่อมั่น จุดประกายธุรกิจเร่งปรับตัว

ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจาก 58% ในปี 67 เหลือ 52% ภายหลังการประกาศมาตรการภาษีสหรัฐเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กแสดงความกังวลมากที่สุด ปัจจัยหลักที่สร้างแรงกดดันคือ ต้นทุนการดำเนินงานและเงินเฟ้อ โดย 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น และ 57% คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการให้บริการ

ภาคธุรกิจไทยได้ริเริ่มมาตรการสำคัญเพื่อรับมือสถานการณ์ ดังนี้

ลดต้นทุน: ธุรกิจ 3 ใน 5 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง (67%) ได้ดำเนินการมาตรการลดต้นทุน

เพิ่มรายได้: ธุรกิจจำนวนมากมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่และแสวงหาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์

ต้องการการสนับสนุน: ธุรกิจให้ความสำคัญกับความช่วยหลือทางการเงิน (92%) การสนับสนุนด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (65%) และการให้คำปรึกษาหรือฝึกอบรม (50%) เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการปรับตัว

*ความกดดันในห่วงโซ่อุปทานผลักดันให้ธุรกิจไทยมุ่งเน้นตลาดภูมิภาค

90% ของธุรกิจไทยมุ่งเน้นการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน แต่มาตรการภาษีของสหรัฐกลับส่งผลให้ภาวะหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทวีความรุนแรงขึ้น 80% ของธุรกิจคาดว่าจะเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง แนวทางสำคัญที่ธุรกิจจะใช้ในการรับมือ ได้แก่

การวิเคราะห์ข้อมูล: ธุรกิจ 4 ใน 10 ราย นำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 68 แซงหน้ากลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง

การค้าภายในภูมิภาคอาเซียน: ธุรกิจเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกในภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลให้การค้าภายในภูมิภาคเติบโต

ความต้องการสนับสนุน: ธุรกิจมองหามาตรการจูงใจทางภาษี การเข้าถึงเทคโนโลยี และการฝึกอบรมแรงงาน

*การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเร่งเสริมความสามารถในการปรับตัว

การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ โดยเกือบ 40% ของธุรกิจได้นำเครื่องมือดิจิทัลมาผสานรวมอย่างเต็มรูปแบบ และ 68% คาดว่าจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหลังการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง

ทั้งนี้ ธุรกิจไทยมองว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายการเข้าถึงลูกค้า และการเข้าสู่ตลาดที่รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ความกังวลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้นทุน และความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูล ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ และกระตุ้นความต้องการด้านการฝึกอบรมและการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะอุตสาหกรรม

*ธุรกิจไทยเร่งเดินหน้าสู่ความยั่งยืน แม้ต้องเผชิญความท้าทาย

แม้ว่ามากกว่า 90% ของธุรกิจจะตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่มีเพียง 53% เท่านั้นที่ได้นำแนวทางปฏิบัติไปใช้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มากกว่า 60% คาดว่าจะเร่งดำเนินมาตรการเพื่อความยั่งยืน อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนที่สูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมจ่ายราคาพรีเมียมสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ มากกว่า 30% อยู่ระหว่างการพิจารณานำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ พร้อมทั้งแสวงหาข้อมูลและคำปรึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางดังกล่าว

*ธุรกิจไทยเร่งขยายสู่ต่างประเทศ โดยเน้นภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก

ธุรกิจไทยเกือบ 90% มีแผนขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยมากกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะเร่งดำเนินการหลังมาตรการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม รองลงมาคือจีนและภูมิภาคเอเชียเหนือ ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตของรายได้และกำไร แม้ยังเผชิญความท้าทายด้านจำนวนลูกค้าและความเข้าใจตลาดที่จำกัดในแต่ละประเทศก็ตาม ภาคธุรกิจจึงต้องการข้อมูลเชิงลึก การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อขยายตลาดข้ามพรมแดน

โดยถึงแม้ในระยะสั้น อาจจะยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนรายได้ที่คาดว่าจะหายไปจากการลดการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แต่นายสถิตย์มองว่าการลงทุนในภูมิภาคเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจจำเป็นต้องทำ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว หลังกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มลดบทบาทความสำคัญลงไป

*แรงงานยังคงเป็นปัญหาหลักที่ธุรกิจต้องเผชิญ

ครึ่งหนึ่งของธุรกิจไทยยังคงเผชิญปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนและความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้และความคาดหวังของบุคลากรรุ่นใหม่ ผลการสำรวจยังชี้ว่า ธุรกิจเกือบ 40% จึงประสบปัญหาในการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ แนวทางรับมือกับปัญหานี้ ได้แก่ การเพิ่มค่าตอบแทน การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และการสลับบทบาทหน้าที่ภายในองค์กร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ