มหาอุทกภัย 2554ผลกระทบและแนวโน้มการฟื้นตัว จากการสำรวจผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2012 14:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

บทสรุปผู้บริหาร

ในช่วงฤดูฝนปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงักชั่วคราว ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับตัวลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีแนวโน้มหดตัว และคาดว่าทั้งปี 2554 เศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือเพียงร้อยละ 1.8 (ประมาณการ ณ 30 พ.ย. 54) อย่างไรก็ดี การหดตัวดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวในปี 2555 และกลับมาขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ

ภาคการผลิตและการส่งออก ธุรกิจโดยรวมประเมินว่าจะทยอยกลับมาผลิตได้ภายใน 1-6 เดือนต่อจากนี้ส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัวตาม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่าน Supply Chain เริ่มทยอยกลับมาผลิตแล้วเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่ยังคงมีอยู่ โดยจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นทั้งในและต่างประเทศ สำหรับกระบวนการประเมินค่าสินไหมชดเชย บริษัทประกันภัยจะทยอยจ่ายค่าเสียหายขั้นต่ำก่อนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้ จากนั้นจึงเจรจาในส่วนที่เหลือ ขณะที่สถาบันการเงินได้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการบูรณะฟื้นฟูของธุรกิจ ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้กระบวนการฟื้นตัวของธุรกิจไม่ล่าช้า

ผู้ประกอบการประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยโรงงานที่ไม่ถูกน้ำท่วมจะสามารถผลิตได้ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงปกติประมาณปลายเดือนธันวาคม 2554 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาผลิตได้ภายในต้นเดือนมกราคมปีหน้า ขณะที่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะกลับมาผลิตได้บางส่วนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555

ด้านการลงทุน ผู้ประกอบการยังคงมีแผนลงทุนต่อเนื่องแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการผลิตและเพื่อป้องกันน้ำท่วม ขณะที่แผนลงทุนเดิมเพื่อทดแทนแรงงานขาดแคลนและขยายการผลิตในระยะยาวยังคงดำเนินการต่อ นอกจากนี้ ธุรกิจบางรายมีแผนขยายโรงงานในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

ในประเด็นการย้ายฐานการผลิต ในระยะสั้นนักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกต่อไป เนื่องจากได้มีการลงทุนไปแล้วในระดับสูงตามแผนระยะยาว เกิดเป็นเครือข่ายการผลิตที่ซับซ้อนและแข็งแกร่ง ทว่าในอนาคต ธุรกิจต่างชาติจะเชื่อมั่นและขยายการลงทุนเดิมหรือสร้างโรงงานใหม่หรือไม่จะขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ต้องเป็นรูปธรรมเป็นสำคัญอย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งธุรกิจของชาวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะต่อไป

สำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัย การที่บริษัทประกันภัยของต่างประเทศโดยเฉพาะรายใหญ่ของเยอรมันและญี่ปุ่นยืนยันที่จะรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในไทยต่อไป แต่ธุรกิจคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแบกรับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญมากในการลดต้นทุนประกันภัยดังกล่าวให้แก่ธุรกิจ หากสามารถกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ด้านการบริโภค ได้รับผลกระทบชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 จากปัญหาด้านอุปทานและการขนส่งผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จะกลับมาขยายตัวได้จากการเร่งใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและซื้อสินค้าทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่กลับมาเป็นปกติ และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลและสถาบันการเงิน

โดยสรุป การฟื้นฟูธุรกิจของภาคเอกชนได้ทยอยดำเนินการและจะใช้เวลาประมาณครึ่งปีที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความทนทานของธุรกิจไทย การฟื้นตัวดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2555

1. บทนำ

ในปลายปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี มหาอุทกภัยในครั้งนี้มีสาเหตุจาก ฝนที่ตกหนักเป็นบริเวณกว้างและสะสมต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูฝนจากอิทธิพลของมรสุมและพายุจำนวน 5 ลูก*(1) ส่งผลให้ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 ตุลาคม 2554 ไทยมีปริมาณฝนตกสะสม 1,822.4 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ(เฉลี่ย 30 ปี) ถึงร้อยละ 28 และหากนับเฉพาะภาคเหนือจะสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 42 ปริมาณน้ำฝนดังกล่าวจึงสะสมเป็นมวลน้ำจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ทางไหลของน้ำตามธรรมชาติไม่สามารถรองรับได้ จึงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อุตสาหกรรม และมีความรุนแรงสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียอย่างมากมายแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน ไร่นา โรงงานเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ

เพื่อประเมินผลกระทบและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างรอบด้านและตามความเป็นจริง ธปท. จึงได้รวบรวมข้อมูลโดยตรงจากภาคเอกชนผ่านช่องทางการสำรวจและเข้าพบผู้ประกอบการ เพื่อให้การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ประมวลข้อมูลที่รวบรวมได้จากภาคเอกชน*(2) ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ไว้ในรายงาน“มหาอุทกภัย 2554 ผลกระทบและแนวโน้มการฟื้นตัว จากการสำรวจผู้ประกอบการ” เพื่อเผยแพร่ให้ สาธารณชนใช้ประโยชน์ต่อไป

2. ผลกระทบจากอุทกภัย

อุทกภัยในครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ในพื้นที่ภาคเหนือ และแผ่ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด โดยสถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นตามลำ ดับจนเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนตุลาคม จากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์จำนวน 7 แห่งในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ในเบื้องต้นประเมินว่าความเสียหายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท และ

*(1) พายุโซนร้อน “ไหหม่า” (ปลาย มิ.ย.) พายุโซนร้อน “นกเตน” (ปลาย ก.ค.) พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (ปลาย ต.ค.) พายุไต้ฝุ่น “เนสาด” (ต้น ต.ค.) พายุโซนร้อน “นาลแก” (ต้น ต.ค.) โดย “นกเตน” เป็นพายุลูกเดียวที่เคลื่อนเข้าสู่ไทยในปีนี้ขณะที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ส่วนพายุลูกอื่นๆ ได้สลายตัวไปก่อนที่จะเข้ามาถึงไทย

*(2) รายงานฉบับนี้ ประมวลข้อมูลจากการสำรวจดังต่อไปนี้

  • แบบสำรวจพิเศษ เรื่อง “ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและแนวโน้มการส่งออก” มีผู้ประกอบการตอบกลับ 273 ราย
  • แบบสำรวจพิเศษ เรื่อง “แนวโน้มและคุณภาพสินเชื่อจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วม” มีธนาคารพาณิชย์ตอบกลับ 20 ราย
  • แบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนตุลาคม 2554 มีผู้ประกอบการตอบกลับ 510 ราย
  • การเข้าพบผู้ประกอบการและการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 61 ราย (เฉพาะที่สัมภาษณ์โดย ธปท. สำนักงานใหญ่)

โรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท3 เช่นกัน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 11.4 ล้านไร่ ส่งผลให้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะหดตัวลงมาก และทั้งปี 2554 เศรษฐกิจขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือเพียงร้อยละ 1.8 (ประมาณการ ณ 30 พฤศจิกายน 2554)

ธปท. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการรอบพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 พบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเกือบครึ่งหนึ่งได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคการผลิตได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าธุรกิจในภาคนอกการผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมยังทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ( Business Sentiment Index: BSI) เดือนตุลาคม 2554 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 36.7 ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุด 34.4 ของเหตุการณ์ปิดสนามบินในเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยการลดลงของความเชื่อมั่นในครั้งนี้เป็นการลดลงจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะการผลิต การจ้างงานคำสั่งซื้อ และผลกระกอบการ ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ดัชนีการผลิตปรับลดลงภายในเดือนเดียวมากกว่าการปรับลดในช่วงเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น แต่ยังไม่รุนแรงเท่าการปรับลดในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ราชประสงค์ในเดือนเมษายน 2553 ซึ่งการลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม4 ในเดือนตุลาคม 2554 ที่หดตัวถึงร้อยละ 35.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวมากที่สุดตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อมูลดังกล่าวในปี 2543

เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีการผลิตใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นที่ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 32 เดือนหลังฟื้นตัวจากวิกฤต Subprime ในปี 2551

*(3) รายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อ 25 ต.ค. 2554

*(4) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) จัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นนอกจากจะกระทบโดยตรงต่อโรงงานที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ยังส่งผลโดยอ้อมต่อผู้ประกอบการซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมผ่านเครือข่ายการผลิต (Supply Chain) โรงงานหลายแห่งไม่สามารถผลิตได้เพราะต้องพึ่งพิงชิ้นส่วนวัตถุดิบจากโรงงานที่ถูกน้ำท่วม หรือโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานที่ถูกน้ำท่วมต้องเลื่อนการส่งมอบสินค้าออกไปหรือถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ ระบบการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ (Logistic) มีอุปสรรคจากน้ำท่วมทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีระยะเวลาที่ผู้ผลิตส่งสินค้าหรือวัตถุดิบมายังบริษัท (Suppliers’ Delivery) ที่ปรับตัวแย่ลง สะท้อนถึงการใช้เวลาส่งมอบที่นานขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจต้องใช้วัตถุดิบที่มีใน Stock มาผลิตหรือขายสินค้าใน Stock ไปก่อน สอดคล้องกับดัชนีปริมาณสินค้าและวัตถุดิบใน Stock ที่ลดลง

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รวมถึง Supplier วัตถุดิบและชิ้นส่วนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำท่วมโดยตรง อาทิ บริษัท Honda ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และการผลิตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไทย บริษัท Western Digital ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและนวนคร และการผลิตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของการผลิต Hard Disk Drive ทั้งหมดในไทยบริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องหยุดการผลิตชั่วคราว นอกจากนี้ ความเสียหายจากอุทกภัยในไทยได้ส่งผลกระทบไปยังเครือข่ายการผลิตของโลก (Global Production Network) เป็นผลให้การผลิตในประเทศอื่นๆ ขาดแคลนชิ้นส่วนจากประเทศไทยและจำเป็นต้องลดการผลิตลง ส่งผลให้สินค้าในตลาดโลกลดลงและมีปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น ราคา Hard Disk Drive ปรับสูงขึ้นร้อยละ 20-30 ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมด้านการผลิตรถยนต์ในประเทศลดลงถึง 3-3.5 แสนคันในไตรมาสที่ 4 แต่ผลกระทบด้านชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยกลับทำให้การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นลดลงถึง 4 แสนคันในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลกระทบจากภาคเศรษฐกิจจริงส่งผลเชื่อมโยงถึงภาคการเงิน ธปท. ได้ทำการสำรวจแนวโน้มและคุณภาพสินเชื่อจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 พบว่า ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนส่วนใหญ่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น อย่างไรก็ดี หลายธนาคารคาดว่าสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 จะยังขยายตัวได้เล็กน้อย

สำหรับด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์เห็นว่าคุณภาพสินเชื่อและโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้ากลุ่ม SMEs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ไม่ได้มีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากนัก เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งและมีความสามารถฟื้นฟูกิจการได้เร็ว ขณะที่ลูกค้า SMEs มีความพร้อมในการฟื้นฟูกิจการน้อยกว่า สำหรับด้านสินเชื่อครัวเรือน ธนาคารพาณิชย์เห็นว่าคุณภาพสินเชื่อบางส่วนจะได้รับผลกระทบ จากความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้บางส่วนที่ลดลงเนื่องจากขาดรายได้ชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นฟูความเสียหาย ธปท. ได้ออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์และ Non-bank สามารถคงสถานะจัดชั้นของลูกหนี้ไว้เดิมก่อนการประสบอุทกภัย รวมถึงการสนับสนุนให้ดูแลลูกหนี้ โดยสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ได้

3. การปรับตัวของธุรกิจในภาวะอุทกภัย
3.1. การป้องกันโรงงานและเครื่องจักร

ในช่วงก่อนน้ำท่วม ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อป้องกันโรงงานและเครื่องจักรหลากหลายวิธี ได้แก่การเคลื่อนย้ายเครื่องจักร สินค้า และวัตถุดิบไปไว้ในที่ปลอดภัยก่อนน้ำท่วม การยกเครื่องจักรและสินค้าขึ้นที่สูง สำหรับเครื่องจักรขนาดใหญ่จะใช้วิธีถอดเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น กล่องอิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ชิ้นส่วนพลาสติก สำหรับบางโรงงานที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องจักรได้ทัน ผู้ประกอบการจัดให้ทีมนักประดาน้ำลงไปนำชิ้นส่วนเครื่องจักรที่สำคัญขึ้นมาเพื่อซ่อมแซม เพื่อย่นระยะเวลาการฟื้นฟูความเสียหาย

การป้องกันโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีการป้องกัน 3 ชั้น ได้แก่ 1.การป้องกันพื้นที่ส่วนรวมของนิคมฯ 2.การป้องกันพื้นที่ของแต่ละโรงงาน และ 3.การป้องกันน้ำท่วมที่ตัวเครื่องจักร แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งจะถูกน้ำท่วมทั้งหมด เนื่องจากกระแสน้ำรุนแรงและพื้นที่ที่ต้องป้องกันมีขนาดใหญ่ แต่โรงงานบางแห่งหรือเครื่องจักรบางชิ้นไม่ได้รับผลกระทบจากการป้องกันในชั้นที่ 2 และ 3 ทั้งนี้ โรงงานหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมสามารถป้องกันน้ำไว้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ที่ต้องป้องกันมีขนาดเล็กกว่าและมีการใช้เทคนิคที่เหมาะสม เช่น “วิธีน้ำดันน้ำ” โดยทำพนังกั้นน้ำสองชั้น แล้วปล่อยให้น้ำซึมเข้ามาอยู่ระหว่างพนังทั้งสอง เพื่อให้แรงดันน้ำด้านในช่วยค้ำยันพนังกั้นน้ำด้านนอก และมีการสูบน้ำออกตลอดเวลาเพื่อไม่ให้น้ำท่วมถึงโรงงานชั้นใน หรือ “วิธีแก้มลิง” โดยใช้พื้นที่ว่างของโรงงานเป็นพื้นที่รองรับน้ำชั่วคราวก่อนสูบออก เป็นต้น

3.2. การปรับตัวด้านการผลิต

ผู้ประกอบการบางรายที่ประสบปัญหาน้ำท่วมโรงงานอาจใช้วิธีย้ายเครื่องจักรและแรงงานไปผลิตที่อื่นชั่วคราว ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายย้ายเครื่องจักรและแรงงานไปผลิตที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคตะวันออก ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนย้ายแม่พิมพ์จาก Supplier รายที่คาดว่าจะถูกน้ำท่วมไปให้ Supplier รายอื่นผลิตต่อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ (Global Production Network) หรือมีโรงงานหลายแห่ง ใช้วิธีให้บริษัทในเครือที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยการผลิตในส่วนของโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเพื่อรักษาการส่งออกหรือนำเข้ามาขายในประเทศ

ผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้าน Supply Chain พยายามปรับตัวโดยการจัดหาสินค้าหรือชิ้นส่วนวัตถุดิบจากแหล่งอื่น โดยซื้อจาก Supplier ในประเทศรายอื่นที่ยังสามารถผลิตได้ หรือการนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากเดิมที่นำเข้า 20-30% จากจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อให้การผลิตดำเนินได้ต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้เร่งขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาการผลิต

อย่างไรก็ดี ปัญหาด้าน Supply Chain ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตลงให้เหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบและคำสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการบางรายลดการทำงานล่วงเวลา (OT) ลดวันทำงานต่อสัปดาห์ หรือหยุดงานชั่วคราวบางส่วน ผู้ประกอบการบางรายปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ยังผลิตได้เพิ่มขึ้น เช่น โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ผลิตเฉพาะสินค้าที่ยังมีวัตถุดิบอยู่ โรงงานอาหารแปรรูปที่ขาดแคลนแป้งบางชนิดก็ปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าแบบอื่นเพิ่มขึ้น เป็นต้น 3.3. การปรับตัวด้านการขนส่ง

การขนส่งสินค้าทางบกประสบอุปสรรคอย่างมากในภาวะน้ำท่วม แม้บางโรงงานจะสามารถผลิตสินค้าได้ แต่ไม่สามารถขนส่งไปยังโรงงานของลูกค้าหรือตัวแทนจำหน่าย ผู้ประกอบการเดินรถขนส่งทางบกต้องปรับตัวโดยใช้เส้นทางอ้อมพื้นที่น้ำท่วม หรือใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ขึ้นแทน ส่งผลให้การขนส่งสินค้าใช้เวลามากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องใช้บริการขนส่งทางอากาศแทน โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุ้มกว่าการจ่ายค่าปรับตามสัญญาการส่งมอบสินค้า ทั้งยังเป็นการรักษาฐานลูกค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกภายในประเทศบางรายได้เหมาพื้นที่ว่างที่เหลือทั้งหมดของเครื่องบินขนส่งเพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้ทันตามความต้องการ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีเจรจาขอเลื่อนการส่งมอบสินค้า หรือขอเลื่อนการรับมอบสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกได้สร้างศูนย์กระจายสินค้าชั่วคราวหลายแห่งเพื่อทดแทนศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ในบริเวณปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วม และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่ง โดยให้ Supplier เป็นผู้ขนส่งสินค้าไปยังร้านค้าปลีกโดยตรงไม่ต้องผ่านศูนย์กระจายสินค้า สำหรับในต่างจังหวัด ร้านค้าจะได้รับแจ้งจากผู้ผลิตให้รีบสั่งสินค้าเพื่อสต็อกก่อนการปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อรับมือน้ำท่วมหรือเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด

3.4. การปรับตัวด้านการจ้างงาน

ผู้ประกอบการพยายามรักษาการจ้างงานไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินงานต่อได้ทันทีหลังน้ำลด แม้จะต้องหยุดการผลิตชั่วคราว จากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่าร้อยละ 82 ยังคงจ้างงานตามปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 12.1 ลดจำนวนพนักงานที่เข้ามาทำงานลง มีผู้ประกอบการเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้นที่เลิกการจ้างงานบางส่วนสอดคล้องกับผลสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ซึ่งพบว่าร้อยละ 88 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่มีนโยบายลดพนักงานหลังจากน้ำท่วม5 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการประเมินว่าธุรกิจ SMEs บางแห่งอาจต้องปิดกิจการลงส่งผลให้มีแรงงานว่างงานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คาดว่าจะถูกดูดซับจากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวและต้องการเร่งการผลิต นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงการฟื้นฟูกิจการความต้องการแรงงานในภาคก่อสร้างและช่างเทคนิคจะเพิ่มสูงขึ้น

ในระหว่างน้ำท่วม ผู้ประกอบการปรับตัวด้านการจ้างงานหลายวิธี อาทิ การลดชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ลดวันทำงานต่อสัปดาห์ หยุดงานชั่วคราวบางส่วนเพื่อให้การผลิตสินค้าเหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่มี ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และส่งพนักงานไปทำงานในโรงงานอื่นทั้งในต่างจังหวัดและในต่างประเทศนอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังใช้เป็นโอกาสในการส่งพนักงานไปฝึกอบรมระหว่างรอฟื้นฟูโรงงาน

สำหรับการจ่ายค่าจ้าง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงจ่ายค่าจ้างตามปกติ หรือ จ่ายค่าจ้าง 75% ตามกฎหมายแรงงานกรณีหยุดกิจการชั่วคราว ผู้ประกอบการบางรายจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้คนเดินทางมาทำงาน และลดค่าจ้างเฉพาะผู้ที่ขาดงาน จากการสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศพบว่าร้อยละ 89.1 ยังคงจ่ายค่าจ้าง 100% ตามปกติ ร้อยละ 7.3 จ่ายค่าจ้าง 75% และมีบริษัทที่งดจ่ายค่าจ้างในสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 0.9

*(5) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.saa-thai.org/download/ConclusionSurvey_ThaiFlood_Final[2].pdf

4. แนวโน้มการฟื้นตัวจากอุทกภัย
4.1. ขั้นตอนและระยะเวลาในการฟื้นตัว

ผู้ประกอบการบางรายเริ่มกระบวนการฟื้นฟูธุรกิจตั้งแต่ระดับน้ำยังสูงอยู่ โดยการส่งนักประดาน้ำลงไปนำเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่สำคัญขึ้นมาซ่อมแซม ดำเนินการให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเมินความเสียหายและวางแผนการฟื้นฟูล่วงหน้า นอกจากนี้ บางรายได้สั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ทันทีเมื่อคาดว่าเครื่องจักรต้องจมน้ำเป็นเวลานานและเสียหายแน่นอนเพื่อให้สามารถกลับมาผลิตใหม่ได้โดยเร็วที่สุด เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลง นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งได้เร่งสูบน้ำออก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าพื้นที่และเริ่มการผลิตได้บางส่วนภายในกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

จากการสำรวจ ผู้ประกอบการคาดว่าการผลิตและยอดขายจะค่อยๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี 2555 โดยจะใช้เวลาตั้งแต่ 1-6 เดือนในการทยอยฟื้นตัว และคาดว่าการผลิตส่วนใหญ่จะสามารถเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดอุทกภัยภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 โดยผู้ประกอบการร้อยละ 46.3 คาดว่าจะใช้เวลา 4-6 เดือน การผลิตและยอดขายจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 10.4 คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ฟื้นตัวได้เต็มที่โดยโรงงานที่ไม่ถูกน้ำท่วมจะสามารถผลิตในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงปกติได้ประมาณปลายเดือนธันวาคม และจะเร่งผลิตมากกว่าปกติเพื่อชดเชย เนื่องจากความต้องการยังมีต่อเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาผลิตได้ภายในต้นเดือนมกราคม 2555 ขณะที่อุตสาหกรรม Hard Disk Drive อาจจะฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากผู้ผลิตหลักและผู้ชิ้นส่วนรายใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคาดว่าการผลิตโดยรวมจะฟื้นตัวได้ร้อยละ 70 ภายในเดือนมีนาคม 2555 และกลับมาถึงระดับก่อนน้ำท่วมได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2555 (รายละเอียดในบทความในกรอบ หน้า15-17) 4.2. แหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟู

ผู้ประกอบการประเมินว่าธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้ทำประกันภัย อาจประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของรัฐบาลและสถาบันการเงินมากที่สุดเนื่องจากโดยทั่วไปบริษัทขนาดใหญ่จะทำประกันภัยไว้ จึงสามารถใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนในการฟื้นฟู ประกอบกับมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะที่บริษัทที่เป็นเครือข่ายธุรกิจข้ามชาติสามารถใช้เงินทุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศมาช่วยฟื้นฟูธุรกิจ

4.2.1. ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย

สมาคมประกันวินาศภัยคาดว่าบริษัทประกันจะเริ่มทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในต้นเดือนมกราคม 2555 คาดว่ากระบวนการขอค่าสินไหมทดแทน (Claim) จะไม่ล่าช้า เนื่องจากบริษัทประกันภัยสามารถทยอยจ่ายเงินชดเชยความเสียหายขั้นต่ำให้ก่อนเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จากนั้นจึงเจรจาจ่ายในส่วนที่เหลือภายหลัง โดยระหว่างนี้ ผู้ประกอบการสามารถเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงได้ขึ้นอยู่กับการเจรจากระบวนการทำงานระหว่างผู้ประกอบการกับบริษัทประกันภัย แม้ในกรณีที่มีการทำประกันภัยต่อ*(6) สมาคมฯ คาดว่าจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการ Claim เช่นกัน เนื่องจาก Reinsurer จะใช้ข้อมูลที่บริษัทประกันภัยของไทยส่งให้เป็นหลัก โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้าจาก Reinsurer ต่างประเทศแล้ว ดังนั้น ความรวดเร็วจึงขึ้นอยู่กับการทำงานของผู้ประเมินในไทย ซึ่งภาครัฐได้ผ่อนผันให้ผู้ประเมินจากต่างประเทศสามารถเข้ามาทำงานได้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาจำนวนผู้ประเมินที่ได้รับอนุญาตไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประเมินจากต่างประเทศเพื่อขอให้ปรับการคิดค่าบริการจากเดิมที่คิดตามสัดส่วนของมูลค่าความเสียหาย (โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ของความเสียหาย) เป็นคิดตามชั่วโมงการทำงาน (man-hour) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประเมิน สำหรับประกันภัยประเภท Business Interruption บริษัทผู้เอาประกันสามารถขอค่าสินไหมทดแทนได้ทันทีหลังจากธุรกิจหยุดชะงักเป็นระยะเวลาตามเงื่อนไขกรมธรรม์

4.2.2. สินเชื่อจากภาครัฐและสถาบันการเงิน

สินเชื่อจากภาครัฐและสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งมีสภาพคล่องน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่ง เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ SMEs วงเงิน 100,000 ล้านบาทโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งจะกระจายสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง (Portfolio guarantee scheme) สินเชื่อ Soft Loan สำหรับ SMEs วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์คนละครึ่ง (Matching fund scheme) สินเชื่อสำหรับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น

สำหรับการลงทุนเพื่อป้องกันอุทกภัยในระยะต่อไป รัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยแก่นิคมอุตสาหกรรม วงเงิน 15,000 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ย 0.01% นาน 7 ปี ผ่านทางธนาคารออมสิน ในขณะเดียวกัน ธปท. ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย*(7) โดยผ่อนผันให้สถาบันการเงิน และ Non-bank คงสถานะจัดชั้นของลูกหนี้ไว้เดิมก่อนการประสบอุทกภัย และให้ถือว่าการให้สินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การลดเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั่วไป และให้ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยสามารถลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำน้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างได้จนถึง 30 มิถุนายน 2555 นอกจากนี้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ได้ผ่อนผันการรายงานข้อมูลลูกหนี้และข้อมูลเครดิต โดยให้ลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือขยายเวลาการชำระหนี้จากผลกระทบน้ำท่วม ไม่ต้องบันทึกเข้าในประวัติของลูกหนี้

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ Non-bank ได้ประกาศแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยโดยทั่วไป ได้แก่ การผ่อนผันการชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย เป็นเวลาสูงสุด 6-12 เดือน การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ การให้สินเชื่อฟื้นฟูกิจการในอัตราพิเศษ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือ

*(6) ร้อยละ 90 ของมูลค่าประกันภัยในภาคอุตสาหกรรมจะมีการทำประกันภัยต่อ (reinsurance) กับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ

*(7) ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bot.or.th/Thai/PressAndSpeeches/Press/News2554/n5354t.pdf

จะครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ลูกหนี้สามารถหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย*(8) หรือติดต่อได้โดยตรงที่สถาบันการเงินที่ลูกหนี้ใช้บริการอยู่ 4.3. การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออก

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าการผลิตและยอดขายในปี 2555 จะขยายตัวจากปี 2554 หลังจากที่สามารถฟื้นฟูการผลิตให้กลับมาเป็นปกติได้ตามความต้องการที่ยังดี จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการทั้งในภาคการผลิต (Manufacturing) และนอกภาคการผลิต (Non-Manufacturing) คาดว่าแนวโน้มการผลิตและยอดขายในปี 2555 จะขยายตัว โดยมีสัดส่วนร้อยละ 63 และ 57 ตามลำดับผู้ประกอบการบางรายคาดว่าจะมียอดขายสูงขึ้นจากการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เนื่องจากคู่แข่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ยังคงได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจะเร่งกระบวนการฟื้นฟูเพื่อผลิตชดเชย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ยังคงได้รับคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ไม่ได้กระทบต่อการส่งออกยานยนต์ของไทยมากนักเพราะมีสัดส่วนไม่สูงเทียบกับปริมาณการส่งออกยานยนต์รวม แต่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมากกว่า ส่งผลให้ในปี 2555 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องฟื้นฟูการผลิตพร้อมกับการเตรียมบริหารจัดการด้านอุปสงค์

จากการสำรวจของ ธปท. พบว่าผู้ส่งออกกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป โดยร้อยละ 40 ให้ความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบปานกลางถึงมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคาดว่าอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปของไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยเฉพาะสินค้าประเภทไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและมีราคาถูก เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลัก (ญี่ปุ่นและยุโรป)

*(8) ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Pages/HelpForFlood_301154.aspx

ในปี 2555 การส่งออกไปยังตลาดเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว ตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ผู้ส่งออกร้อยละ 45 คาดว่าการส่งออกไปยังเอเชียในปี 2555 จะขยายตัวจากปีก่อน ขณะที่ผู้ที่คาดว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรปจะลดลงในปี 2555 มีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 สะท้อนการฟื้นตัวด้านการผลิตและความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ 4.4. การฟื้นตัวของการบริโภค

การบริโภคได้รับผลกระทบเพียงชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เนื่องจากเป็นผลกระทบทางด้านอุปทานและการขนส่ง ผู้ผลิตสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญถูกน้ำท่วม รวมทั้งความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย ขณะที่การบริโภคสินค้าในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ประสบอุทกภัยได้รับผลกระทบน้อย เป็นเพียงการขาดแคลนสินค้าบางชนิดที่ต้องขนส่งมาจากภาคกลาง

ผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จะกลับมาขยายตัวจากการเร่งใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมและซื้อสินค้าทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่กลับมาเป็นปกติจากการที่โรงงานต่างๆ ทยอยเปิดดำเนินการ การสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล เช่น เงินชดเชยจากรัฐบาลครัวเรือนละ 5,000-30,000 บาท การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น การให้สินเชื่อฟื้นฟูน้ำท่วมดอกเบี้ยต่ำ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มอีกครั้งในส่วนที่ผ่อนชำระไปแล้ว การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% นาน 12-24 เดือน จากเดิม 4-6 เดือน หรือนโยบาย buy now pay later ที่ให้ผู้บริโภคเลื่อนการจ่ายเงินออกไประยะหนึ่ง เป็นต้น

ผู้ประกอบการค้าปลีกและสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าครัวเรือนจะกลับมาใช้จ่ายตามปกติภายหลังจากการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟู เนื่องจากการจ้างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วจึงคาดว่าไม่กระทบกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยอมรับว่าครัวเรือนบางส่วนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วจะมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้ง มีความกังวลว่าปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและภัยธรรมชาติในระยะต่อไปจะกระทบต่อขบวนการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 4.5. การฟื้นตัวของการลงทุน

สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเลื่อนแผนการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ออกไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งการลงทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจหลังน้ำลด การลงทุนตามแผนงานเดิมที่วางไว้ การลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และการลงทุนเพื่อขยายโอกาสในช่วงที่คู่แข่งประสบปัญหา สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนตุลาคมและพฤศจิยายน 2554 ที่อยู่สูงกว่าระดับความเชื่อมั่นที่ 50 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของธุรกิจที่พร้อมจะขยายการลงทุนในระยะต่อไป

หลายธุรกิจยังคงลงทุนตามแผนเดิม บริษัทรถยนต์ยังคงลงทุนขยายโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ตามแผน กลุ่มค้าส่งค้าปลีกลงทุนเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง บริษัทผลิตอาหารแปรรูปลงทุนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่ยังดี ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงที่บริษัทคู่แข่งยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รองรับความต้องการที่ขยายตัวต่อเนื่อง และทดแทนกำลังการผลิตของทั้งระบบที่ขาดหายไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนมากมีแผนการลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมสำหรับฤดูฝนปีหน้า

นักลงทุนต่างชาติยังแสดงความเชื่อมั่นที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปในประเทศไทย และยังไม่ย้ายฐานการผลิต จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและหอการค้าต่างประเทศ อาทิ หอการค้าอเมริกา หอการค้าเกาหลีองค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น (JETRO) พบว่า นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าอุทกภัยในครั้งนี้เป็นเพียงปัญหาระยะสั้น ขณะที่การตัดสินใจเลือกฐานการผลิตเป็นการวางแผนลงทุนระยะยาว ซึ่งไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านสาธารณูปโภคที่ดี แรงงานมีคุณภาพ และอยู่ในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหลายอุตสาหกรรมได้ลงทุนในไทยไปแล้วเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นเครือข่าย Supply Chain ที่ซับซ้อนและเข้มแข็ง เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่ม Hard Disk Drive การย้ายฐานการผลิตจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนอกจากนี้ การที่บริษัทประกันภัยของต่างประเทศโดยเฉพาะรายใหญ่ของเยอรมันและญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะรับประกันภัยต่อ (reinsurance) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป แต่ธุรกิจคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแบกรับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน คาดว่าในระยะต่อไปนักลงทุนต่างชาติจะวางแผนกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มกำลังการผลิตหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ยังประเทศอื่นในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย ซึ่งได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนแรงงานและค่าจ้าง โดยค่าแรงงานในกัมพูชาถูกกว่าไทยครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะถนนที่ดีขึ้น ขณะที่อินโดนีเซียเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวสูง

5. ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการฟื้นฟูหลังอุทกภัย

ความรวดเร็วในการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความอยู่รอดของผู้ประกอบการแต่ละราย ภาคเอกชนได้เสนอแนะมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด สามารถฟื้นฟูการผลิตให้กลับมาได้เร็ว มีสภาพคล่องเพียงพอแก่การดำเนินงาน และมีความมั่นใจในการลงทุนต่อไป โดยข้อแนะนำแบ่งออกเป็น 8 ข้อหลัก ดังนี้ 5.1. การอำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารราชการที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูธุรกิจ

เพื่อให้การซ่อมแซมและฟื้นฟูกิจการจากน้ำท่วมดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด ธุรกิจต้องการให้ทางการให้ความช่วยเหลือทางด้านวีซ่าสำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาประเมินความเสียหายและซ่อมแซมเครื่องจักรได้อย่างรวดเร็ว และให้มีการออกใบอนุญาตให้สามารถย้ายเครื่องจักรเป็นกรณีพิเศษไปยังโรงงานนอกเขตน้ำท่วม เพื่อเริ่มต้นการผลิตโดยเร็วที่สุด 5.2. ความช่วยเหลือด้านภาษี

ธุรกิจต้องการความช่วยเหลือในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป เฉพาะวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่ไม่สามารถผลิตได้ และต้องการให้ค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไม่ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี รวมถึงสามารถนำค่าเสียหายจากอุทกภัยมาลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่กลุ่ม Non-bank ต้องการให้นำการลดหนี้ (Hair cut) ในกรณีช่วยเหลือลูกหนี้น้ำท่วมมาหักภาษีได้นอกจากนี้ ธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2555 และ 2556 เหลือ 23% และ 20% ตามเป้าหมาย 5.3. ความช่วยเหลือด้านประกันภัย

ภาครัฐควรเข้ามาดูแลกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claim) ให้มีความเป็นธรรมและรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจมีเงินทุนสำหรับฟื้นฟูความเสียหายและดำเนินธุรกิจต่อได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกังวลว่าบริษัทประกันภัยจะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมประกันภัย (Premium) และปรับลดขอบเขตความคุ้มครอง(Coverage) ภาครัฐจึงควรผลักดันให้มีการประกันภัยที่ครอบคลุมน้ำท่วมต่อไปในอัตราเบี้ยประกันที่สมเหตุสมผล ค้ำประกันบางส่วนให้กับธุรกิจ หรือจัดตั้งกองทุนประกันภัยธรรมชาติสำหรับ SMEs เป็นต้น 5.4. ความช่วยเหลือด้านการเงิน

ธุรกิจบางรายอยู่ในภาวะที่ขาดรายได้แต่ยังมีรายจ่ายต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีสภาพคล่องต่ำและไม่ได้ทำประกันภัยที่ครอบคลุมน้ำท่วมเอาไว้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐบาลอาจตั้งกองทุนเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูธุรกิจ 5.5. การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยวางแผนระบบการจัดการน้ำอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นในระบบราชการและความไม่แน่นอนทางการเมือง จะช่วยเสริมความมั่นใจและช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเพิ่มการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย 5.6. ความช่วยเหลือด้านการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

เพื่อสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนของธุรกิจ ทางการควรขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยลดเงื่อนไขข้อจำกัดและกฎหมายเพื่อให้การลงทุนทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 5.7. ความช่วยเหลือด้านแรงงาน

ภาคธุรกิจต้องการให้ทางการบรรเทาภาระด้านต้นทุนในช่วงฟื้นฟูกิจการ โดยขอให้เลื่อนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทออกไปอีกระยะหนึ่ง และลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม นอกจากนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงขอให้ทางการจัดระบบการใช้แรงงานต่างชาติให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติได้ 5.8. ความช่วยเหลือด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงต้องการให้นโยบายการเงินผ่อนคลายลง ขณะที่ธุรกิจส่งออกต้องการให้ทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากกังวลเรื่องเงินทุนไหลเข้าจากค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อรักษาต้นทุนของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้

6. สรุป

การรวบรวมข้อมูลโดยตรงจากภาคเอกชนผ่านช่องทางต่างๆ ในระหว่างสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ธปท. สามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจในช่วงอุทกภัยได้ชัดเจนขึ้น ทั้งการปรับตัวของธุรกิจในระหว่างน้ำท่วมและแนวโน้มการฟื้นตัวภายหลังน้ำลด ต่างสะท้อนถึงการเป็นฐานการผลิตและ Supply Chain ที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการไทย ภาคเอกชนเริ่มดำเนินการฟื้นฟูกิจการและคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-6 เดือนที่จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ผุ้ประกอบการทั้งชาวไทยและนักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นใจในการขยายการลงทุนและดำเนินธุรกิจต่อไป

ความสามารถในการฟื้นตัวของธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมและได้ผลสัมฤทธ์จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 และช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาวให้กลับคืนมา อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อขบวนการบูรณะฟื้นฟูของภาคธุรกิจ

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

อุทกภัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทประกอบรถยนต์และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะบริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลาง ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในพื้นที่อื่น เช่น สมุทรปราการ ระยองฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านทาง Supply Chain เนื่องจากต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากผู้ผลิตชิ้นส่วนซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประกอบกับวิธีการผลิตแบบ Just in Time เพื่อลดต้นทุน ทำให้สต็อกวัตถุดิบมีปริมาณน้อย ธุรกิจต้องปรับตัวโดยลดปริมาณการผลิตลง หรือ หยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในปี 2554 จะลดลงไปประมาณ 3-3.5 แสนคัน เทียบกับเหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่นซึ่งทำให้การผลิตรถยนต์ของไทยลดลงไปราว 1 แสนคัน นอกจากนี้ การขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบจากไทยส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา ต้องลดปริมาณลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยนิสสัน ฟอร์ด มาสดา มิตซูบิชิ และฮิโน ได้กลับมาผลิตอีกครั้งเมื่อ 14 พ.ย. 2554 โตโยต้าเริ่มกลับมาผลิตเมื่อ 21 พ.ย. 2554 และคาดว่ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาผลิตได้เกือบเต็มที่ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ยกเว้นฮอนด้าซึ่งได้รับผลกระทบหนัก คาดว่าจะกลับมาผลิตได้ในช่วงหลังสงกรานต์ปี 2555

ปัจจัยที่สนับสนุนให้กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ผู้ประกอบการได้ย้ายเครื่องจักรแม่พิมพ์ออกจากโรงงานล่วงหน้าก่อนน้ำท่วมและมีการเก็บกู้เครื่องจักรที่จมน้ำออกมาซ่อมแซมก่อนโดยไม่รอน้ำลดเพื่อนำไปผลิตที่อื่น มีการจัดหาชิ้นส่วนวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ เช่น ผู้ผลิตในบริเวณภาคตะวันออก รวมถึงการนำเข้าชิ้นส่วนจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ความต้องการทั้งในและต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo ระหว่าง 1-12 ธ.ค. 2554 ซึ่งสูงถึง 27,021 คัน มากกว่าเป้าที่ 25,000 คัน ประกอบกับมียอดจองรถค้างสะสมในช่วงก่อนหน้า และมีความต้องการซื้อรถใหม่เพื่อทดแทนหลังน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้ผลิตเร่งฟื้นฟูการผลิตให้เร็วที่สุด และจะเร่งผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการผลิตที่หายไป

บริษัทรถยนต์ทุกค่ายยังคงฐานการผลิตในประเทศไทยต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการได้ลงทุนในไทยแล้วเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นเครือข่ายการผลิต Supply Chain ที่แข็งแกร่ง การย้ายฐานการผลิตจึงไม่สามารถทำได้ง่าย ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์บางรายจึงมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปีหน้า เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในช่วงที่คู่แข่งยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หรือ SMEs บางรายต้องเลิกกิจการไป อย่างไรก็ดี แม้ผู้ผลิตยานยนต์จะยังคงฐานการผลิตและส่งออกในไทย แต่ในระยะต่อไป คาดว่าจะวางแผนกระจายการจัดซื้อชิ้นส่วนมากขึ้นและขยายกำลังการผลิตเพิ่มหรือลงทุนผลิตรถรุ่นใหม่ในต่างประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง

ในปี 2555 ผู้ประกอบการยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่ 2 ล้านคันต่อปี โดยมีแผนเร่งการผลิตอย่างเต็มที่ บางรายมีแผนเร่งผลิตวันละ 24 ชั่วโมงทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเพื่อชดเชยการผลิตที่หายไปในช่วงน้ำท่วม นอกจากนี้ ฟอร์ด มิตซูบิชิ และซูซูกิ มีแผนเปิดโรงงานรถยนต์ใหม่ คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในปี 2555 ส่งผลให้ไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านคันต่อปี เป็น 2.7 ล้านคันต่อปี (เฉลี่ยโรงงานละ 1-2 แสนคันต่อปี)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่กระจุกตัวในบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมโดยตรง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดค่าขนส่งสินค้า และช่วยดึงดูดแรงงานฝีมือ ทั้งนี้ ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่และ Supplier จำนวนมากในอยุธยาและปทุมธานีถูกน้ำท่วมจนต้องหยุดผลิตชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ผลิต HDD รายอื่นนอกพื้นที่ต้องชะลอการผลิตลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้อุปทาน HDD ในตลาดโลกลดลง เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิต HDD รายใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของการผลิตในตลาดโลก จึงทำให้ราคา HDD ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 20-30 ในช่วงที่ผ่านมา

ในระหว่างน้ำท่วม ผู้ประกอบการกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับตัวหลายวิธี เช่น การถอดชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรก่อนน้ำท่วม การรีบนำเครื่องจักรขึ้นจากน้ำไปซ่อมแซม การปรับขบวนการผลิตให้สอดคล้องกับวัตถุดิบที่มีอยู่ การให้ Supplier ย้ายแม่พิมพ์ไปผลิตที่โรงงานอื่น การหา Supplier รายใหม่จากในประเทศ การนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 การย้ายแรงงานและเครื่องจักรไปผลิตที่โรงงานอื่นในต่างจังหวัด รวมถึงเพิ่มการผลิตในโรงงานในต่างประเทศเพื่อชดเชยโรงงานที่ถูกน้ำท่วม

ด้านแนวโน้มการฟื้นตัว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ประเมินว่าจะเริ่มกลับมาผลิตได้ภายในต้นเดือนม.ค. 2555 ขณะที่อุตสาหกรรม HDD คาดว่าจะกลับมาผลิตได้ร้อยละ 70 ในช่วงปลายเดือน มี.ค. และจะกลับมาถึงระดับปกติได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. สาเหตุที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มยานยนต์เนื่องจากเครื่องจักรมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีจึงใช้ระยะเวลาฟื้นฟูนาน และการนำเข้าเครื่องจักรมาแทนชุดเดิมที่เสียหายจะใช้เวลานาน 4-6 เดือน เนื่องจากสั่งซื้อพร้อมกันหลายบริษัท

การย้ายฐานการผลิตคงจะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนตั้งโรงงานใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากการสร้าง Supply chain ในการผลิตต้องอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจหลายฝ่าย และต้องคำนึงถึงจำนวนและความสามารถของแรงงาน/วิศวกร และความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค แต่ในอนาคตผู้ผลิตจะกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในภูมิภาค หรือในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหากไทยยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นทวีความรุนแรงเป็นลำดับ

นอกจากประเด็นด้านการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมแล้ว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของอุปสงค์ในปี 2555 ด้วย ส่วนหนึ่งจากการที่ผู้ซื้อได้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งและทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 3-6 เดือน จึงอาจสูญเสียคำสั่งซื้อได้เมื่อกลับมาผลิตอีกครั้ง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 ชะลอตัวลงด้วย

ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ Supply chain โดยเฉพาะการสนับสนุนสภาพคล่อง ตลอดจนการช่วยเหลือด้านการ matching ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เนื่องจากคู่ค้ารายเดิมถูกน้ำท่วมจึงต้องหาผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ขายวัตถุดิบรายใหม่ รวมทั้งช่วยเหลือด้านประกันภัย

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในสัดส่วนที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้ามีผู้ผลิตหลายรายและกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตที่ไม่ถูกน้ำท่วมโดยตรงยังคงได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านทาง Supply Chain ส่งผลให้การผลิตโดยรวมลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ขณะเดียวกันยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงจากอุปสงค์ที่หดตัวและอุปสรรคด้านการขนส่ง ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับตัวโดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังยังทำได้ตามปกติ

สำหรับการปรับตัวระหว่างน้ำท่วม ผู้ประกอบการบางรายได้ลงทุนสร้างพนังป้องกันน้ำท่วมโรงงาน ย้ายสินค้าและวัตถุดิบไปไว้ในที่ปลอดภัย ย้ายเครื่องจักรไปผลิตที่โรงงานอื่นซึ่งน้ำไม่ท่วม เพิ่มการผลิตที่โรงงานต่างประเทศเพื่อทดแทน สำหรับบริษัทที่ขาดแคลนวัตถุดิบจะลดการทำ OT ของแรงงานลงเป็นช่วงๆ ตามปริมาณวัตถุดิบที่มี และจัดหาชิ้นส่วนจาก Supplier รายอื่นจากทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะกลับมาใช้วัตถุดิบจาก Supplier เดิม เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่สร้างมาด้วยกันและมีความเข้มแข็ง

แนวโน้มการฟื้นตัว สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านทาง Supply chain จะสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติในเดือนธันวาคม 2554 แต่บริษัทที่น้ำท่วมโดยตรงประเมินว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนจึงจะกลับมาผลิตได้ในระดับปกติ ในระหว่างนี้จะมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ขณะที่บริษัทซึ่งไม่โดนน้ำท่วมเร่งนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าทดแทนเป็นโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั้งในประเทศและการส่งออก

ผู้ประกอบการคาดว่าอุปสงค์ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังน้ำลดจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายโดยเฉพาะตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ PC และ Notebook ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวได้ตามการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังลงทุนตามแผนเดิม แต่อาจมีการเลื่อนแผนลงทุนออกไปบ้างเพื่อฟื้นฟูโรงงานก่อน และไม่ย้ายฐานการผลิตเนื่องจากเป็นกลยุทธ์การลงทุนในระยะกลางถึงยาว ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาแรงงานให้มีทักษะดีได้อย่างปัจจุบัน ขณะที่น้ำท่วมถือเป็นปัจจัยลบระยะสั้นที่เพิ่งเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีแผนนำเข้าชิ้นส่วนและเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อผลิตสินค้าทดแทนกำลังการผลิตในตลาดที่ลดลงและจัดหาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยป้องกันน้ำท่วมโรงงานให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

ผู้ประกอบการต้องให้ภาครัฐยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าสำเร็จรูปที่จะนำเข้ามาผลิตและทำตลาดระหว่างขั้นตอนฟื้นฟูโรงงาน รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนการนำเข้าสินค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อาทิ ลดระยะเวลาในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อุทกภัยส่งผลให้ความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงักลง สะท้อนจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 50-60 จากค่าเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2554 อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการคาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงจะเป็นเพียงการเลื่อนการซื้อออกไปชั่วคราว และจะกลับมาซื้อใหม่อีกครั้งในอนาคตแต่อาจมีการเปลี่ยนเป็นทำเล ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับการยกเลิกสัญญาจากลูกค้าบ้างแล้ว คิดเป็นร้อยละ 10-15 ของยอดขาย ขณะที่ธุรกิจพยายามปรับตัวโดยเสนอให้ลูกค้าเปลี่ยนเป็นบ้านใหม่ในทำเลอื่นของบริษัทแทน หรือให้โปรโมชั่นเพิ่มขึ้น แทนการยกเลิกสัญญาซื้อบ้าน

ส่วนผลกระทบด้านอุปทาน ผู้ประกอบการคาดว่ายอดที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนรวมทั้งปี 2554 จะมีไม่ถึง 80,000 หน่วย (ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 107,000 หน่วย) และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2555 ขณะที่คาดว่าราคาที่อยู่อาศัยแนวราบจะไม่ลดลงมากนักเนื่องจากน้ำท่วมส่งผลกระทบระยะสั้น และความต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงยังคงมีอยู่ แต่ผู้ประกอบการอาจใช้รายการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น สำหรับราคาบ้านจัดสรรของโครงการที่สร้างใหม่อาจสูงขึ้นได้ หากผู้ประกอบการพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยและใช้เป็นจุดขาย

ผู้ประกอบการคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 6 เดือนเพื่อกลับสู่สภาวะปกติเนื่องจากมีความเสียหายเพียงด้านกายภาพเท่านั้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมี Debt/Equity ratio ต่ำ และธนาคารพาณิชย์เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ซื้อบ้านอย่างรวดเร็ว ต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นปัญหาด้านโครงสร้างทางการเงินที่ยืดเยื้อและกระทบไปทั้งระบบเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการคาดว่าผู้บริโภคจะย้ายทำเลหนีพื้นที่น้ำท่วม และย้ายประเภทบ้านจากแนวราบไปอยู่อาคารชุดเพิ่มขึ้น แต่ไม่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงเป็นทำเลที่ตั้งซึ่งใกล้กับสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ อาคารชุดมีขนาดพื้นที่จำกัดซึ่งไม่เหมาะสำหรับอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ 4—5 คน จึงไม่สามารถทดแทนบ้านแนวราบได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเห็นพฤติกรรมการซื้ออาคารชุดเป็นบ้านหลังที่สองมากขึ้นในกลุ่มผู้มีฐานะดี ด้านการปรับตัวของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร บริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะชะลอการเปิดโครงการใหม่ และจะออกแบบเพื่อเพิ่มการป้องกันน้ำท่วมมากขึ้น บริษัทที่โครงการอยู่ระหว่างการขายจะเร่งงานเฟสที่จะส่งมอบและชะลองานเฟสที่ยังไม่ขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะปรับตัวโดยกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านทำเลที่ตั้งและประเภทบ้าน โดยหันมาทำอาคารชุดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการรายเล็กอาจเปลี่ยนมาทำอาคารชุดได้ลำบากเนื่องจากต้องลงทุนสูงและแปลงที่ดินเริ่มหายากมากขึ้น

ในปี 2555 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งสามารถหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ร้อยละ 10 ของราคาบ้าน โดยแบ่งหักเท่าๆ กันเป็นเวลา 5 ปี และมาตรการสินเชื่อบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ใน 3 ปีแรก ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เลื่อนการใช้เกณฑ์สัดส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อราคาบ้าน (LTV) 95% สำหรับบ้านแนวราบออกไปเป็น 1 ม.ค. 2556 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องการให้ทางการมีมาตรการการบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรม เพื่อจะได้สามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกันและลูกค้าเกิดความมั่นใจ

ตารางข้อมูลนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม 7 แห่ง

นิคมอุตสาหกรรม  จำนวนโรงงาน    มูลค่าการลงทุน  จำนวนแรงงาน    ประเภทธุรกิจที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรม
สหรัตนนคร       43 โรงงาน    9,472 ล้านบาท    14,696 คน    เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์
(อยุธยา)                                                  เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย
โรจนะ          198 โรงงาน   55,742 ล้านบาท   42,100 คน    ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
(อยุธยา)
บางปะอิน        90 โรงงาน    60,000 ล้านบาท   60,000 คน    อิเล็กทรอนิกส์  อุปกรณ์ชิ้นส่วนเครื่องกล
(อยุธยา)
ไฮเทค          143 โรงงาน   65,312 ล้านบาท   51,186 คน    อิเล็กทรอนิกส์  เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก
(อยุธยา)
แฟคตอรี่แลนด์     99 โรงงาน    11,186 ล้านบาท   6,015 คน     ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์
(อยุธยา)                                                  ส่วนใหญ่เป็น SMEs
นวนคร
(ปทุมธานี)       227 โรงงาน   40,000 ล้านบาท   120,000 คน   ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ชิ้นส่วนรถยนต์  อาหารแปรรูป
บางกะดี
(ปทุมธานี)       47 โรงงาน    15,000 ล้านบาท   30,000 คน    เครื่องใช้ไฟฟ้า  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ตารางประมาณการความเสียหายจากน้ำท่วมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

นิคม /เขต/สวน มูลค่าที่ดิน อาคาร มูลค่าเครื่องจักรที่ มูลค่าวัตถุดิบและ มูลค่าความเสียหาย
 อุตสาหกรรม     และอุปกรณ์         เสียหาย        สินค้าที่เสียหาย
                 (A)          (B=Axo.56)          (C)          (B+C)

? สหรัตนนคร       9,106           5,099            2,973         8,072
? โรจนะ         86,986          48,712           25,913        74,625
? ไฮเทค         33,294          18,645           13,434        32,078
? บางปะอิน       30,215          16,920           10,612        27,532
? แฟคตอรี่         2,160           1,210              686         1,896
? นวนคร         92,614          51,864           34,647        86,511
? บางปะอิน        6,525           3,654            3,042         6,696
รวม            260,900         146,104           91,306       237,410
ที่มา: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ในนิคม) หน่วย : ล้านบาท

ตารางประมาณการความเสียหายจากน้ำท่วมของโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรม

จังหวัด            มูลค่าที่ดิน อาคาร  มูลค่าเครื่องจักรที่  มูลค่าวัตถุดิบและ  มูลค่าความเสียหาย
                  และอุปกรณ์       เสียหาย        สินค้าที่เสียหาย
                    (A)         (B=Axo.56)         (C)            (B+C)
? ชัยนาท            3,246          1,793          2,645            4,437
? นครสวรรค์         7,338          4,083          4,262            8,344
? นนทบุรี           30,536         16,920         14,291           31,211
? ปทุมธานี          62,834         35,187         27,738           62,925
? พระนครศรีอยุธยา  105,315         58,820         32,501           91,320
? ลพบุรี            52,139         29,180          8,303           37,483
? อ่างทอง           1,732            931            448            1,380
? อุทัยธานี             239            134            105              239
รวม              263,379        147,047         90,293          237,340
ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (นอกนิคม) หน่วย : ล้านบาท

รายงานฉบับนี้สามารถดูได้จาก http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/BLP/Pages/index.aspx

Disclaimer: รายงานฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่ได้สะท้อนความเห็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงินใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในการวิเคราะห์และประเมินภาวะเศรษฐกิจ

ข้อมูลเพิ่มเติม   นางสาววรางคณา อิ่มอุดม        ผู้บริหารทีม   Warangki@bot.or.th
             นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์       เศรษฐกร    Nitisanp@bot.or.th
             นายโชดก สุวัธนเมธากุล         เศรษฐกร    Chodoks@bot.or.th
             นางสาวอุทุมพร จิตสุทธิภากร      เศรษฐกร    Utumporj@bot.or.th
             นางสาวธัญลักษณ์ วิบูลย์ศรีสัจจะ    เศรษฐกร    Thayalv@bot.or.th

ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ (Economic Intelligence Team)

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่อยู่ 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

เบอร์โทรศัพท์ 0-2283-6920, 5646

เบอร์แฟกซ์ 0-2282-5082

เว็บไซต์ธนาคาร www.bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ