สุนทรพจน์: ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 16)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 13, 2012 10:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวในงานแถลงข่าว

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 16)

ณ ห้อง Auditorium อาคาร 1 ชั้น 1

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2555

สวัสดีครับ ท่านผู้บริหาร และสื่อมวลชนทุกท่าน

ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียนเชิญทุกท่านมาในวันนี้ ด้วยมีเรื่องน่ายินดีที่จะเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำธนบัตรแบบใหม่ออกใช้หมุนเวียนแทนธนบัตรแบบปัจจุบันซึ่งได้ออกใช้มานานกว่า 14 ปี

ท่านผู้มีเกียรติครับ ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและออกใช้ธนบัตร ได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านการผลิตและการบริหารจัดการธนบัตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธนบัตรไทยมีคุณภาพ ยากต่อการปลอมแปลง และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่เชื่อมั่นและพึงพอใจของประชาชน ทุกท่านครับ การเปลี่ยนแบบธนบัตรใหม่แต่ละครั้ง นับเป็นการเพิ่มบันทึกทางประวัติศาสตร์ของระบบเงินตราไทย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ครับ

สำหรับแนวคิดหลักในการเปลี่ยนแบบธนบัตรในครั้งนี้ ประการแรก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ ประการที่สอง ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของธนบัตรให้มีความสวยงามทันสมัย มีความเป็นสากลมากขึ้น และประการสุดท้ายเพื่อพัฒนาและปรับปรุงลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในธนบัตร ให้ทันสมัยและปลอมแปลงได้ยากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในธนบัตรมีความสะดวกในการใช้งาน สามารถตรวจสอบได้ง่าย ทั้งโดยเครื่องจักรนับคัดธนบัตร และโดยประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้พิการทางสายตาด้วยครับ

ธนบัตรแบบใหม่ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำออกใชมี้ทั้งสิ้น 5 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาท ซึ่งยังคงมีขนาดและสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบัน

โดยภาพด้านหน้าธนบัตรทุกชนิดราคา เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่มีความสง่างาม เปี่ยมด้วยพระบุญญาบารมี เป็นภาพประธาน

ส่วนภาพด้านหลังของธนบัตรแต่ละชนิดราคา เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละสมัย ดังนี้ ชนิดราคา 20 บาท เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ชนิดราคา 50 บาท เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชนิดราคา 100 บาท เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชนิดราคา 500 บาท เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชนิดราคา 1000 บาท เป็นภาพเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกำหนดนำธนบัตรชนิดราคา 50 บาท แบบใหม่ออกใช้ก่อนเป็นชนิดราคาแรก ในวันที่ 18 มกราคม 2555 ผมจึงขอแนะนำลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่น่าสนใจของธนบัตรชนิดราคา 50 บาท แบบใหม่ ดังนี้

1. ลายน้ำ เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพเดียวกับภาพประธานด้านหน้าธนบัตร และตัวเลขไทย “๕๐” ที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษมองเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังเมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่าง

2. แถบสีน้ำเงิน เป็นแถบพลาสติกเคลือบสีน้ำเงิน ที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษธนบัตรตามแนวยืน โดยมีบางส่วนปรากฏให้เห็นเป็นระยะที่ด้านหลังของธนบัตร สามารถเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงได้เมื่อเปลี่ยนมุมมอง

3. ภาพซ้อนทับ เบื้องซ้ายมุมบนมีตัวเลขอารบิก “ 50” พิมพ์แยกไว้บนด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่าง จะทับกันสนิทเป็นตัวเลข 50 ที่สมบูรณ์

4. ลายพิมพ์นูน นอกจากที่ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งราคาแล้ว ยังมีสัญลักษณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นรูปดอกไม้สีน้ำเงินเข้มในแนวเฉียง 2 ดอก มาจากตัวเลข “5” ในอักษรเบรลล์

โดยลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่ผมได้แนะนำทั้ง 4 จุดนี้ ประชาชนสามารถนำไปใช้เป็นจุดสังเกต ในการแยกความแตกต่างระหว่างธนบัตรจริงกับธนบัตรปลอมได้อย่างชัดเจนครับ

สำหรับธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบัน และแบบที่นำออกใช้ก่อนหน้านี้ ยังคงใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ในนามของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนธนบัตรแบบใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับคุณภาพของธนบัตรไทยให้เทียบเท่าสากล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในธนบัตรให้ประชาชน มีความสะดวกในการใช้งาน และมีความคุ้มค่าในการใช้งาน

ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง สื่อมวลชน ที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์การออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ด้วยดีเสมอมา

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ