แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2012 16:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2555

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2555 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระดับการผลิตในหลายอุตสาหกรรมปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ส่งผลให้การส่งออกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อการค้าและการกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสาคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ระดับการผลิตในภาพรวมฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่สามารถกลับมาผลิตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับผู้ผลิตบางรายเร่งผลิตมากกว่าระดับปกติเพื่อทดแทนผู้ผลิตที่ยังผลิตได้ไม่เต็มที่ อาทิ การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68.1 จากร้อยละ 62.5 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 เนื่องจากอุตสาหกรรมบางส่วนยังมีข้อจำกัดในการผลิต สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลผลิตข้าวในปีก่อนอยู่ในระดับสูงจากการเลื่อนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังได้เร็วกว่าฤดูปกติ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสาคัญหลายชนิด ยังขยายตัวทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และหมวดปศุสัตว์ ด้านราคาสินค้าเกษตรยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากผลของฐานราคายางพาราที่สูงในปีก่อน ประกอบกับ ความต้องการซื้อยางพาราจากจีนและผู้ประกอบการในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวต่อเนื่องส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การส่งออกโดยรวมหดตัวร้อยละ 6.8 จาก ระยะเดียวกันปีก่อนตามการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นสาคัญ เป็นผลจากราคายางพาราที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน และปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลงเนื่องจากราคาส่งออกของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง สำหรับ ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และลาว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่กลับมาแม้จะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนก่อน

สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่คลี่คลายลงและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ร้อยละ 3.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในทุกหมวด โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดจำหน่ายยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 9 โดยเฉพาะการลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์

เศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็น การเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า อีกทั้งในเดือนนี้ยังมีปัจจัยพิเศษที่ทำให้การนำเข้าน้ามันดิบเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ประกอบกับมีโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งนำเข้าเพื่อเร่งผลิตก่อนการปิดซ่อมบำรุงในเดือนพฤษภาคม

ภาครัฐมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง สะท้อนจากรายจ่ายรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย ในการซื้อสินค้าและบริการ รายจ่ายเงินโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผลจากการปรับค่าตอบแทนข้าราชการ สำหรับการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้า สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเร่งนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม ภาษีสรรพสามิตยังคงหดตัว จากผลของการขยายระยะเวลาลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รายจ่ายที่ขยายตัวมากกว่ารายได้ ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 180.3 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจ หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อการค้าและการกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศจากการที่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยทำธุรกรรมป้องกัน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.45 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและ การทยอยจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของน้ำมันเบนซินและแอลพีจีในภาคขนส่ง ขณะที่ราคาอาหารสดชะลอลงต่อเนื่องตามราคาเนื้อสัตว์จากปัญหาอุปทานล้นตลาดเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.77 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาในเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ฟื้นตัวในทุกภาคเศรษฐกิจ หลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในห่วงโซ่การผลิตจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลงมาก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภค การลงทุน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น หลังพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจาปี 2555 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การจ้างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ