การเสวนา “ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ลาว เวียดนาม...ปูทางสู่ AEC 2015”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2012 15:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 12/2555

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมมือกันจัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ลาว เวียดนาม... ปูทางสู่ AEC2015” ในวันพุธที่ 4 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรม Centara Hotel & Convention Centre จังหวัดขอนแก่น สาระสำคัญจากการเสวนาสรุปได้ดังนี้

1. ปัจจุบันมีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม อยู่หลายเส้นทางภายใต้กรอบข้อตกลง GMS โดยเส้นทางสำคัญคือ 1) เส้นทาง R9 (เชื่อมระหว่างมุกดาหาร — แขวงสะหวันนะเขต — เมืองดานัง) 2) เส้นทาง R8 (เชื่อมระหว่างนครพนม — แขวงคำม่วน — แขวงบอลิคำไซ - เมืองวิงห์) และ 3) เส้นทาง R12 (เชื่อมโยงระหว่างนครพนม - แขวงคำม่วน - เมืองฮาติงห์) อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน (CBTA : Cross - Border Transport Agreement) เพียงเส้นทางเดียวคือ เส้นทาง R9 (ซึ่งที่ประชุมเสนอแนะให้มีการขยาย CBTA ให้ครอบคลุม R8 และ R12 ด้วย) และสภาพถนนใน สปป.ลาวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางให้ทัดเทียมมาตรฐานของไทย และเวียดนาม ทำให้การขนส่งยังไม่สะดวกเท่าที่ควร

2. อุปสรรคสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างกันคือ มีพิธีปฏิบัติในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ในแต่ละเส้นทางที่ยังแตกต่างกัน เนื่องจากเส้นทาง R8 และ R12 ยังไม่มีข้อตกลงระหว่างกัน นอกจากนี้ เส้นทาง R8 ตัดผ่านภูเขาสูงชัน ทำให้การขนส่งใช้เวลามาก และมีความเสี่ยงในการขนส่งข้ามแดนใช้เวลาสำหรับพิธีการทางศุลกากรมาก รวมถึงไม่มีจุดพักสินค้าก่อนจะขนส่งต่อ

3. แนวทางที่ควรดำเนินการต่อไปในอนาคต คือ

3.1 ควรมีการสำรวจเส้นทางระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ ทั้งเส้นทาง R8 และ R12 ทั้งนี้ควรพัฒนาเส้นทาง R8 ให้เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวระหว่างเส้นทาง และเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางเพื่อโลจิสติกส์ เนื่องจากไม่มีภูเขาสูงเหมาะกับการขนส่งสินค้า รวมถึงการจัดสัมมนาด้านโลจิสติกส์นี้อีกเป็นระยะ ๆ ในเวทีอื่น ๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน - เซโน และ ฮานอย เป็นต้น

3.2 ภาครัฐของประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ควรกำหนดข้อตกลงที่ชัดเจนด้านกฎระเบียบทางพิธีการศุลกากรให้เกิดความสะดวกต่อการขนส่งสินค้า และนักท่องเที่ยว

3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศในลักษณะร่วมทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสามประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการใน สปป.ลาว ซึ่งยังมีบทบาทน้อยสามารถขยายบทบาท เพื่อให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการขนส่ง และมีส่วนแบ่งจากผลประกอบการจากการขนส่งให้สูงขึ้น

3.4 ควรส่งเสริมให้มีจุดพักและกระจายสินค้าเป็นระยะๆ ในประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการค้าและการลงทุนในบริเวณข้างเคียงของทั้ง 3 ประเทศด้วย

ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และพอใจกับผลของการเสวนา และนับเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ