สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมิถุนายน ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 6, 2012 14:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2555

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมิถุนายน 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัว โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการท่องเที่ยว ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญลดลงสอดคล้องกับราคาในตลาดโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมหดตัวและรายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะราคาอาหารสดจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การผลิตพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 5.7 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงมากถึงร้อยละ 27.6 จากเดือนก่อน ที่ลดลงร้อยละ 19.4 เป็นผลจากการพักฟื้นของต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตมากในปีก่อนรวมทั้งภาวะอากาศแปรปรวน ขณะที่ผลผลิตยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 ชะลอลงจากเดือนก่อน

ด้านราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 29.6 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญทุกชนิดทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงร้อยละ 33.6

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.9 ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลงร้อยละ 31.6 จากวัตถุดิบผลผลิตปาล์มที่ออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้สต๊อกในประเทศลดลง ทำให้ภาครัฐเริ่มพิจารณาการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ นอกจากนี้การผลิตไม้แปรรูปและถุงมือยางลดลงร้อยละ 27.8 และ 7.0 ตามลำดับ ขณะเดียวกันการผลิตยางแปรรูป อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งอาหารทะเลกระป๋องขยายตัว ในอัตราชะลอลง เนื่องจากการส่งออกลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป รวมทั้งตลาดจีนที่ชะลอตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน

ทางด้านการส่งออก มีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.8 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกยางพารา ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 34.1 ส่วนสินค้าอื่นที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ดีบุก ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 63.8 28.2 และ 12.0 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกอาหารกระป๋องและสัตว์น้ำแช่แข็งขยายตัว สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 29.4 ตามการลดลงของมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

การอุปโภคบริโภคชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนตามกำลังซื้อที่ลดลง จากการหดตัวของรายได้ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการชะลอตัวของภาคท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.9 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในเดือนก่อน

การลงทุนชะลอลงจากเดือนก่อนเช่นกัน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อนตามการชะลอลงของภาคการก่อสร้าง แม้การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวก็ตาม เนื่องจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ลดลงในพื้นที่เศรษฐกิจได้แก่ ภูเก็ตสงขลา และสุราษฎร์ธานี จากผลกระทบของวิกฤตแรงงานจนต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่ ๆ รวมทั้งการหดตัวของพื้นที่ก่อสร้างภาคบริการ ทำให้ยอดจาหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวลงเช่นกัน

การท่องเที่ยวขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จำนวน 440,889 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในฝั่งอันดามันและอ่าวไทยจากนักท่องเที่ยวจีน ออสเตรเลีย เกาหลี และรัสเซีย ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 52.7P อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวในภาคใต้ชายแดนยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนักจากเหตุการณ์ระเบิดในจังหวัดสงขลา จึงทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากเดือนก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.8

ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 17.7 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งระดมเงินฝาก โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ ทำให้เงินฝากขยายตัวร้อยละ 11.6

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.22 ชะลอลงจากร้อยละ 3.65 ในเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสดที่ชะลอตัวลงมากตามราคาในหมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำซึ่งมีผลผลิตออกมาก นอกจากนี้ราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ชะลอลงตามราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Puangpeu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ