FAQ Issue 59: บทบาทของธนาคารกลางในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2011 15:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 59

บทบาทของธนาคารกลาง ในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติ

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

Summary

วิกฤติอุทกภัยที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง และมีการคาดหวังว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ความจริงแล้ว มาตรการนี้ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่ทั่วถึงและเกิดการแย่งชิงทรัพยากรได้ รวมถึงไม่สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งในระยะยาวอย่างที่คาดหวัง นอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบต่อกลไกการดำเนินการของสถาบันการเงิน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางด้วย

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของธนาคารกลางอื่นในการบรรเทาภัยพิบัติ พบว่า การดำรงสภาพคล่องในระบบการเงินให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจนับว่าเป็นหัวใจในการดำเนินของธนาคารกลางอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจโดยตรง

ธนาคารกลางมีช่องทางที่เหมาะสมให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติผ่านการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายระยะหนึ่งควบคู่นโยบายตลาดการเงินในการอัดฉีดสภาพคล่องให้เพียงพอในตลาดการเงิน ทั้งนี้ อาจพิจารณาขยายฐานหลักประกันที่สามารถนำมาค้ำประกันกับธนาคารกลางด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายควรดำเนินนโยบายควรเลือกดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจและมีมาตรการเสริมจากภาครัฐในการให้ Incentive แก่ธนาคารพาณิชย์ให้สานต่อความช่วยเหลือได้อย่างถูกทิศทาง

บทนำ

วิกฤติอุทกภัยที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้างอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้ และหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกับเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังน้ำลด และมาตรการหนึ่งที่สาธารณชนคิดถึงเป็นลำดับต้นๆ คือ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมาตรการดังกล่าวสามารถจับต้องได้อย่างชัดเจนและอยู่คู่กับ

สังคมไทยยาวนานถึง 55 ปี และเพิ่งยุติบทบาท*(1) ได้เพียงครึ่งปี (พฤษภาคม 2554) นี้ ประกอบกับตั้งแต่ปี 2548 มาตรการนี้มีบทบาทในการให้ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบกับปัญหาที่หลากหลาย เช่น ไข้หวัดนก สึนามิ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงธุรกิจ SMEs ที่ประสบกับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการ Soft Loan ของธนาคารกลางเช่นนี้เป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงในกลุ่มนักวิชาการในระดับสากล และธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินมาตรการลักษณะนี้ ดังนั้น FAQ ฉบับนี้ จึงพยายามสร้างความกระจ่างว่า "การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจของธนาคารกลางมีข้อจำกัดอย่างไร" และหากไม่ใช้มาตรการนี้ "ธนาคารกลางจะมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติอย่างไร" ผ่านประสบการณ์ของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา จากนั้นจึงนำมาสู่การวิเคราะห์แนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

1. การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจของธนาคารกลางมีข้อจำกัดอย่างไร?

ในการดำเนินการ กรณี ธปท.ในอดีตจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋วฯ) ของผู้ประกอบการเป็นหลักประกัน โดย ธปท.ให้แรงจูงใจ (Incentive) กับธนาคารพาณิชย์ด้วยการกำหนดสัดส่วนการให้สินเชื่อระหว่าง ธปท.และธนาคารพาณิชย์และการ กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจควรได้รับที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและธนาคารพาณิชย์ยังสามารถสร้างทัศนคติที่ดีต่อลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเพียงผลประโยชน์ที่ภาคธุรกิจได้รับน่าจะเป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ (Private Benefit) แต่หากพิจารณาถึงต้นทุนที่สังคมได้รับ (Social Cost) จะพบว่า บทบาทนี้ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งในระยะยาวอย่างที่คาดหวัง รวมถึงไป

กระทบต่อกลไกการดำเนินการของสถาบันการเงิน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางด้วย ดังนี้

1. มีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ทั่วถึงกล่าวคือ การที่ธนาคารพาณิชย์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนมาตรการนี้ และเมื่อไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมมาช่วยคัดกรองการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องอาศัยหลักเกณฑ์อื่นที่ไม่ใช่กลไกตลาดมาคัดกรองผู้ประกอบการที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ลูกค้าชั้นดีที่มีความเสี่ยงต่ำได้รับประโยชน์ ขณะที่ธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงมักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกลับไม่ได้รับผลประโยชน์นี้ ดังนั้น มาตรการนี้จึงไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง และหากพิจารณาให้ลึกขึ้น จะพบว่า ถ้าในธุรกิจที่เผชิญปัญหาเดียวกันมีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันเพราะมีต้นทุนการเงินที่ไม่เท่าเทียมกัน

2. สามารถเกิดการแย่งชิงทรัพยากรได้เนื่องจากความเสียหายครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการทุกขนาด การให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาดอาจเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการที่สามารถระดมทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น อาทิ ออกตราสารหนี้ ตลาดทุน หรือกู้จากต่างประเทศ ถือโอกาสมาใช้สินเชื่อช่องทางนี้ ซึ่งจะยิ่งริดรอนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า

3. ลดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ภาคธุรกิจได้รับจากธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวแปรที่สะท้อนถึงความเสี่ยงของธุรกิจ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอาจจะทำให้ภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงน้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินการและการลงทุน เพราะเปรียบเสมือนการคุ้มครอง ทำให้ภาคธุรกิจนั้นไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว (Enfant Business) นอกจากนี้ จากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวมักถูกขยายขอบเขตทั้งในเรื่องของประเภทธุรกิจ และระยะเวลา จึงยิ่งทำให้ภาคธุรกิจแข็งแกร่งอย่างแท้จริงได้ยาก

4. สร้างการบิดเบือนในการลงทุนด้วย เพราะเงินที่นำมาใช้ในการผลักดันนโยบายนี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาส จึงควรพิจารณานำไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

5. มีผลต่อสภาพคล่องในระบบซึ่งกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางกล่าวคือ ธนาคารกลางทุกแห่งมีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในประเทศ ผ่านการรักษาปริมาณเงินในระบบให้เหมาะสมไม่ว่าจะกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินอย่างไร เช่น การดูแลเสถียรภาพด้านราคา ปริมาณเงิน อัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เป็นต้น แต่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะนี้เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่อยู่ในเป้าหมาย เช่น หากธนาคารต้องการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา แต่อีกช่องทางหนึ่งกลับมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเมื่อสภาพคล่องในระบบสูงขึ้นและอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความกังวลต่อสาธารณชนขณะนี้คือ ภายใต้วิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ ภาคธุรกิจต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วนและจำนวนมาก หากปราศจากบทบาทนี้ ธปท.จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร

2. ประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติที่ของธนาคารกลางอื่น

จากประสบการณ์ของธนาคารกลางหลายแห่งทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่พยายามช่วยเหลือธุรกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ พบว่า การให้ความช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรง โดยแบ่งเป็น

(1) ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว

กรณีเหตุการณ์ 911 (ปี 2544): ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ได้ซื้อหลักทรัพย์รัฐบาล (US Treasury Securities) ในตลาดรองจำนวนมากเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน รวมถึงให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินโดยตรง และในระยะต่อมา ได้เตรียมสภาพคล่องให้พร้อมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวและเกิดสึนามิในญี่ปุ่น (ปี 2554): ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ดำเนินการเสริมสภาพคล่องหลักๆ คือระยะแรกเร่งอัดฉีดสภาพคล่องผ่านตลาดการเงินให้เพียงพอโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและใช้แนวนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะต่อมา และในช่วงฟื้นฟู ได้ขยายประเภทของหลักประกันที่สถาบันการเงินสามารถนำมาวางกับ BOJ ผ่านธุรกรรมตลาดการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ

(2) ธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนา มุ่งสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจเป็นหลัก

กรณีอุทกภัยในมาเลเซีย (ปี 2550)ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ใช้วิธีค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ภาคธุรกิจโดยมอบหมายให้ Credit Guarantee Corporation Malaysia Berhad (CGC) ช่วยค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ภาคธุรกิจในวงเงินร้อยละ 80 ของหนี้ทั้งหมด โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน แต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้ BNM จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายเท่ากับวงเงินค้ำประกัน แต่ไม่เกินวงเงิน 500 ล้านมาเลเซียริงกิตที่ BNM จัดสรรให้ ขณะเดียวกัน BNM ได้ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการค้ำประกันเงินต้น และดอกเบี้ยที่ BNM ดำเนินการอาจทำให้เกิดปัญหา Moral Hazard กับธุรกิจเนื่องจากจะตัดสินใจลงทุนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรและนำมาสู่ปัญหาการเบี้ยวหนี้ต่อไป

กรณีพายุไต้ฝุ่น Juan ในฟิลิปปินส์ (ปี 2554) : ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ใช้วิธีผ่อนผันเกณฑ์ในการกำกับสถาบันการเงินให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ประสบภัยภัยพิบัติเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องมากขึ้นในการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ ดังนี้

  • ไม่ให้นำลูกหนี้ค้างชำระในพื้นที่ประสบภัยเข้ามารวมในการคำนวณสัดส่วนหนี้ค้างชำระ
  • ให้ลดอัตราส่วนการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 1 สำหรับลูกหนี้ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่เข้ารับการปรับการปรับโครงสร้างหนี้
  • งดเว้นค่าปรับในกรณีที่สถาบันการเงินไม่สามารถดำรงเงินสำรองได้ตามเกณฑ์สำหรับสถาบันการเงินทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
  • ให้สถาบันการเงินสามารถทยอยนำผลขาดทุนในการลงบัญชีได้ภายใน 5 ปี เพื่อช่วยงบดุลของสถาบันการเงินให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นการช่วยรักษาชื่อเสียงและมูลค่าหุ้นในตลาดของสถาบันการเงินในอีกทางหนึ่งด้วย

จากตัวอย่างการดำเนินการในช่วงวิกฤติของธนาคารกลางเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า "การดำรงสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจนับว่าเป็นหัวใจในการดำเนินของธนาคารกลางอย่างแท้จริง" ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าการให้ภาคธุรกิจโดยตรงเช่นที่ผ่านมา

3. ธนาคารกลางมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติอย่างเหมาะสมได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ธนาคารกลางอื่นในส่วนที่ 2 พบว่า ช่องทางในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติสามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

(1) นโยบายการเงิน ได้แก่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนคลาย เพื่อสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลงในที่สุด

(2) นโยบายตลาดเงิน ควรอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่ออุปสงค์ของภาคธุรกิจ และถ้าหากหลักประกันในตลาดการเงินไม่เพียงพอ อาจต้องพิจารณาขยายฐานหลักประกันที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำมาวางค้ำประกันที่ธนาคารกลางได้ เพื่อสามารถอำนวยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ (คล้าย BOJ)

(3) นโยบายสถาบันการเงิน โดยผ่อนผันเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสู่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น (คล้ายธนาคารกลางฟิลิปปินส์)

4. การเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินนโยบาย

(1) การเลือกดำเนินนโยบายให้สอดคล้อง ปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ทั้งนี้จากการประเมินผลกระทบต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับจากภัยพิบัติครั้งนี้สามารถแบ่งปัญหาสภาพคล่องเป็น 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกคือ ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจจากการกอบกู้กิจการที่ได้รับผลกระทบและการดำเนินธุรกิจ แบบที่สองคือ ความเสี่ยงต่อการเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคธุรกิจ ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินงานและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจในที่สุด แบบที่สามคือ ปัญหาสภาพคล่องจากความต้องการเงินลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและโรงงานที่ได้รับผลกระทบซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนระยะยาวจากสถาบันการเงิน โดยช่วงนี้มีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว และจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย

(2) มาตรการเสริมจากภาครัฐ แม้ ธปท.พยายามเตรียมพร้อมให้และการพิจารณาให้ความช่วยเหลือจึงขึ้นกับการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดเป็นหลัก ดังนั้น หากต้องการเพิ่มประสิทธิผลในเชิงนโยบาย ภาครัฐควรมีมาตรการเสริมเพื่อสร้าง Incentive ให้ธนาคารพาณิชย์หันมาปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง เช่น การนำผลขาดทุนจากการดำเนินการตามภารกิจนี้มาลดหย่อนภาษีได้มากกว่าปกติภายในระยะเวลากำหนด รวมถึงการสร้างแรงกดดันจากการแข่งขันจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจแก่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เป็นต้น

5. สรุป

วิกฤติอุทกภัยที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง และมีการคาดหวังว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ความจริงแล้ว มาตรการนี้ทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่ทั่วถึงและเกิดการแย่งชิงทรัพยากรได้ รวมถึงไม่สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งในระยะยาวอย่างที่คาดหวัง นอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบต่อกลไกการดำเนินการของสถาบันการเงิน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางด้วย

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของธนาคารกลางอื่นในการบรรเทาภัยพิบัติ พบว่า การดำรงสภาพคล่องในระบบการเงินให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจนับว่าเป็นหัวใจในการดำเนินของธนาคารกลางอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจโดยตรง

ธนาคารกลางมีช่องทางที่เหมาะสมให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติผ่านการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายระยะหนึ่งควบคู่นโยบายตลาดการเงินในการอัดฉีดสภาพคล่องให้เพียงพอในตลาดการเงิน ทั้งนี้ อาจพิจารณาขยายฐานหลักประกันที่สามารถนำมาค้ำประกันกับธนาคารกลางด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายควรดำเนินนโยบายควรเลือกดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจและมีมาตรการเสริมจากภาครัฐในการให้Incentive แก่ธนาคารพาณิชย์ให้สานต่อความ ช่วยเหลือได้อย่างถูกทิศทาง บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณปฤษันต์ จันทน์หอม คุณสุรัช แทนบุญ คุณวรารัตน์ เขมังกรณ์ คุณณัฐา ปิยะกาญจน์ คุณสหัสศร เบญจพิพัฒน์กุล คุณ พรทิพย์ พงศ์มรกต และคุณนกุล โกสลาทิพย์ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact author:

Mrs. Nutthikarn Vorasa-ngasil Senior researcher Economic Research Department NutthikV@bot.or.th

References

Bank Negara Malaysia "Enhanced Features for the Special Relief Guarantee Facility for Flood", Press Statement, 15 February 2007.

Bank Negara Malaysia, "BNM Establishes Special Relief Guarantee Facility for Businesses Affected by the Recent Floods", Press Statement, 8 January 2007.

Christopher J. Neely, "The Federal Reserve's Response to the Sept. 11 Attacks", Federal Reserve Bank of St. Louis, January 2002.

Masaaki Shirakawa, "Great East Japan Earthquake: Resilience of Society and Determination to Rebuild", Remarks at the Council on Foreign Relations in New York, 11 April 2011.

The Bangko Sentral ng Pilipinas, "BSP Grants Regulatory Relief to Banks Affected by Typhoon "Juan"". Press Statement, 11 September 2010.

ธนาคารแห่งประเทศไทย, บทบาทที่ท้าทาย : 55 ปี การ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท.แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ, 2554. รายงานประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย, หลายฉบับ

*(1) ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และที่แก้ไข1เพิ่มเติม พ.ศ.2551

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ