FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 51
การส่งออกและนำเข้าทองคำ: นัยต่อการวิเคราะห์ตัวเลขดุลการค้าไทยวัสยา
ลิ้มธรรมมหิศร และปัณฑา เกตุเรืองโรจน์
พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรในทองคำได้ขยายวงกว้างในกลุ่มคนไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำโลกพุ่งสูงขึ้นและการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นค่อนข้างมาก พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ไทยก้าวกระโดดมาเป็นผู้ส่งออกทองคำอันดับต้นๆ ของโลกทั้งที่ไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าทองคำ และทำให้ข้อมูลรายเดือนของมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามีความผันผวนสูง ขึ้นอยู่กับราคาทองคำในตลาดโลกที่เป็นปัจจัยกำหนดการซื้อขายทองคำของคนไทย
ปัญหาหนึ่งที่ตามมา คือ การวิเคราะห์ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจอาจถูกบิดเบือนจากตัวเลขการส่งออกนำเข้าที่มีความผันผวนสูง ดังนั้น นักวิเคราะห์ต้องตระหนักว่าข้อมูลการค้าทองคำระหว่างประเทศอาจมีผลบิดเบือนการประเมินภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงการประเมินความสามารถในการแข่งขันและขยายตลาดส่งออก ตลอดจนความสำคัญของภาคการค้าต่างประเทศต่อ GDP growth จึงต้องอาศัยการดูองค์ประกอบที่ขจัดผลของการค้าขายทองคำออกไปแล้ว หรือมีการดูเป็นช่วงเวลาที่นานขึ้น เพราะการดูข้อมูลรายไตรมาสจะมีความบิดเบือนน้อยกว่าการดูข้อมูลรายเดือน
ในช่วงนี้แม้ราคาทองจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่เรากลับเห็นข่าวประชาชนต่อแถวรอซื้อทองคำอยู่หน้าร้านค้าทองเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจต้องเขียนใบจองเพื่อมารับทองคำแท่งในอีก 3 วันข้างหน้าเนื่องจากร้านค้าไม่มีทองคำส่งมอบได้ทัน!!!
พฤติกรรมตื่นทองนี้มาพร้อมกับราคาทองคำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การเก็งกำไรที่ขยายวงอย่างกว้างขวางไปสู่ระดับประชาชนทั่วไปส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกนำเข้าทองคำของไทยสูงและผันผวนมาก โดยในปี 2553 ไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าทองคำระหว่างประเทศอันดับ 3 ของโลก*(1) แม้จะไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าทองคำของโลกก็ตาม
การส่งออกนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าสูงและผันผวนขึ้นมากส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าในบางเดือนเกิดความบิดเบือนและประเมินแนวโน้มได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ความสำเร็จของการขยายตลาดส่งออกรวมถึงความสำคัญของภาคการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP อีกด้วย FAQ ฉบับนี้จึงต้องการชี้ประเด็นให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังการใช้ข้อมูลดังกล่าว โดยต้องใช้ตัวเลขอย่างเข้าใจภาวะ "ตื่นทอง" ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2545 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ สรอ. จากปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ค้าขายในรูปดอลลาร์ สรอ. ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบและทองคำ ประกอบกับนักลงทุนโยกเงินเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งทองคำเป็นโลหะที่มีมูลค่าในตัวเองจึงถือเป็น Safe haven asset ในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูง โดยที่ผ่านมาทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงมีข้อดีในแง่ช่วยป้องกันการกัดกร่อนจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) รวมทั้งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่าการฝากเงินและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เราจึงเห็นนักลงทุนยิ่งต้องการถือทองคำมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นและทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ 1877.5 ดอลลาร์ สรอ./ทรอยออนซ์
Year Gold SET Dubai oil 2001 - 2010 18.2% 12.1% 14.7% 2006 - 2010 19.3% 4.6% 6.2% ที่มา: จากการคำนวณ
ในอดีตการซื้อทองคำในประเทศไทยเป็นไปเพื่อการบริโภคหรือการออมอย่างแท้จริง โดยไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิทองคำอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการซื้อทองคำของประชาชนได้เปลี่ยนไปเป็นการลงทุนและการเก็งกำไรมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบการซื้อขายทองคำ จากในอดีตที่มีการซื้อทองคำรูปพรรณร้อยละ 95 และทองแท่งเพียงร้อยละ 5 เป็นการซื้อทองคำแท่งร้อยละ 95 และทองรูปพรรณร้อยละ 5
ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าทองคำ*(2) ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องหลังปี 2549 ที่ราคาทองคำในตลาดโลกเร่งขึ้นมาก ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการค้าทองคำสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งที่ผลิตทองคำเพียงร้อยละ 0.2 ของการผลิตทองคำของโลกและไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าทองของโลกแต่อย่างใด
% Share 2001 2010 % of Thailand / World Gold Exports 0.1 7.0 % of Thailand / World Gold Imports 4.1 12.6 % of Thailand / World Gold Trade 2.5 9.2 % of Gold Trade/GDP 0.7 4.3 ที่มา: www.trademap.org และจากการคำนวณ
ด้านการนำเข้า ไทยเป็นผู้นำเข้าอันดับต้นๆ ของโลกมาเป็นเวลานานแล้ว สะท้อนความนิยมในการบริโภคทองคำของไทย โดยในปี 2544 ไทยเป็น ผู้นำเข้าทองคำอันดับที่ 6 ของโลก และเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ในปี 2553 ตลาดนำเข้าทองคำ ที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย (ร้อยละ 50.9 และ 20.4 ของการนำเข้าทองคำรวมของไทย ตามลำดับ) โดยทองคำแท่งส่วนใหญ่ที่ไทยนำเข้ามีความบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐานสากล จากนั้นพ่อค้าจะนำทองคำแท่งดังกล่าวมาผ่านกระบวนการแปรรูปให้มีความบริสุทธิ์ลดลงเหลือเพียง 96.5% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับเฉพาะในประเทศไทยตามข้อตกลงของสมาคมผู้ค้าทองคำแห่งประเทศไทยเพื่อให้ร้านทองทั่วประเทศใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมาตรฐานนี้ถูกกำหนดตามลักษณะความนิยมและความเหมาะสมกับผู้บริโภคของไทย
ด้านการส่งออก เป็นด้านที่มีการเปลี่ยน แปลงอย่างมากในช่วงไม่ถึง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ ไทยกระโดดจากการเป็นผู้ส่งออกทองคำอันดับที่ 38 ของโลกในปี 2544 มาเป็น ผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ในปี 2553 ตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย (สัดส่วนร้อยละ 50.8 24.8 และ 20.7 ของมูลค่าการส่งออกทองคำรวมของไทย ตามลำดับ) โดยส่งออกไปเพื่อสกัดทองคำ 96.5% ให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐานโลกและขายสู่ตลาดโลกต่อไป ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันไทยจะสามารถสกัดทองคำบริสุทธิ์ได้ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
การค้าทองคำที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากควบคู่กันไประหว่างการนำเข้าและส่งออกสะท้อนลักษณะการถือครองที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย จากเดิมที่เป็นการถือเพื่อออมเงินระยะยาว กลายเป็นการลงทุนระยะสั้นและการเก็งกำไรจากราคาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี พบว่านักลงทุนไทยมักจะซื้อ (นำเข้า) ในปริมาณมากเป็นพิเศษเมื่อราคาทองคำในตลาดโลกอ่อนตัวลงเทียบกับแนวโน้ม และขาย (ส่งออก) ในปริมาณมากเป็นพิเศษเมื่อราคาทองคำปรับตัวกลับเข้าใกล้หรือมากกว่าแนวโน้ม สะท้อนการทำกำไรระยะสั้นๆ สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ส่งออกทองคำว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นเก็บสต็อกทองคำไว้นานๆ เพื่อเก็งกำไร แต่จะซื้อเร็วขายเร็วเพื่อให้มีสภาพคล่องเพราะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาก
การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ไม่พบในประเทศอื่นในภูมิภาค อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศอื่นไม่ค่อยมีการส่งออกนำเข้าทองคำที่เป็นกายภาพมากนัก ซึ่งต่างจากกรณีของไทย สาเหตุหลักเพราะ
1) บางประเทศมีการควบคุมการนำเข้าและส่งออกทองคำ เช่น อินเดีย จีน และเวียดนามที่ธนาคารกลางเป็นผู้อนุญาตนำเข้าและส่งออกทองคำ สำหรับอินเดียมีการเก็บภาษีนำเข้าทองคำด้วยเนื่องจากประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ตาม อินเดียและจีนมีแนวโน้มที่จะเปิดเสรีตลาดทองคำมากขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับประชาชน แต่เวียดนามมีแนวโน้มที่จะจำกัดการนำเข้าและส่งออกทองคำมากกว่าเดิม โดยกำหนดข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและระยะเวลาการนำเข้า เนื่องจากกำลังประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ การขาดดุลการค้า และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน จึงพยายามลดการเก็งกำไรในตลาดทองคำ นอกจากนี้ เวียดนามยังเก็บภาษีส่งออกทองคำแท่งถึงร้อยละ 10 และขยายการเก็บภาษีมายังการส่งออกทองรูปพรรณ รวมถึงเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของทองคำบริสุทธิ์ด้วย สำหรับประเทศไทยการส่งออกนำเข้าทองคำแท่งเป็นไปอย่างเสรีและไม่ต้องเสียภาษี
การควบคุมการนำเข้าและส่งออกทองคำในประเทศเหล่านี้ทำให้ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าทองคำไม่ได้ถูกบันทึกไว้ แต่ในความเป็น 2) ช่องทางการลงทุนในทองคำของคนไทยมีน้อยกว่าและพัฒนาช้ากว่าในหลายประเทศคนไทยนิยมลงทุนและซื้อขายทองรูปพรรณและทองคำแท่งที่เป็นกายภาพมาเป็นเวลานาน ขณะที่ช่องทางการลงทุน อาทิ Gold Futures เริ่มมีขึ้นในปี 2552 ซึ่งเกิดขึ้นช้ากว่าในประเทศอินเดียและจีน และยังได้รับความนิยมในวงจำกัด ส่วนช่องทางการลงทุนอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ และล่าสุดในปี 2554 เพิ่งมีการจัดตั้ง Gold ETF ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าไทยยังไม่มีช่องทางการลงทุนประเภท Gold Savings Account เหมือนเช่นในหลายประเทศ ซึ่งช่องนี้จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถฝากทองคำกับธนาคารในรูปของเงินฝากที่ตีมูลค่าเป็นน้ำหนักทองคำ โดยมีการกำหนดน้ำหนักทองคำสุทธิในการรับฝากขั้นต่ำ และมีการกำหนดน้ำหนักขั้นต่ำในการฝากถอนต่อครั้ง ส่วนรูปแบบการถอนมีทั้งแบบที่ถอนได้เป็นเงินหรือทองคำ แต่บางประเทศอนุญาตให้ถอนออกในรูปตัวเงินเท่านั้น ทำให้เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องใช้ทองคำที่เป็นกายภาพ
ในภาพรวมนักลงทุนไทยที่ลงทุนในทองคำแท่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้ลงทุนในตลาด Gold Futures และกองทุนรวมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนน้อย*(3)
การส่งออกและนำเข้าทองคำที่มากขึ้นส่งผลให้เกิดความบิดเบือนต่อการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งผู้ที่ใช้ข้อมูลเศรษฐกิจจำเป็นต้องรู้และระมัดระวัง ดังนี้ 1. การวิเคราะห์การส่งออกนำเข้า และดุลการค้า
หากเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวจากปีก่อนหน้าของการส่งออก การนำเข้า และดุลการค้าที่รวมทองคำกับที่ไม่รวมทองคำ พบว่าข้อมูลรายเดือน
โดยเฉพาะข้อมูลดุลการค้า บางครั้งแสดงทิศทางสวนทางกันระหว่างตัวเลขที่รวมและไม่รวมผลของทองคำ เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2553 ดุลการค้ารวมขาดดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ดุลการค้าที่ไม่รวมทองคำกลับเกินดุล 0.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากในเดือนนั้นมีการนำเข้าทองคำสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเสียอีก
สำหรับอัตราการขยายตัวรายเดือนของการส่งออกและนำเข้า พบว่า ในบางเดือนที่มีการส่งออกและนำเข้าทองคำสูง อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกและนำเข้าที่รวมและไม่รวมทองคำแตกต่างกันมาก เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2554 มูลค่าการส่งออกรวมของไทยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 36.4 แต่หากไม่รวมทองคำ อัตราการขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 30.2 ขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมในเดือนเดียวกันขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.1 แต่หากไม่รวมทองคำจะขยายตัวถึงร้อยละ 21.1
อย่างไรก็ดี หากเป็นข้อมูลรายไตรมาสและรายปี การนับรวมทองคำหรือไม่นับรวมไม่ได้มีนัยมากต่อตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้า ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมการส่งออกและนำเข้าทองคำมีลักษณะซื้อๆ ขายๆ ภายในเวลาไม่นานนัก ส่วนหนึ่งจึงมีการเฉลี่ยชดเชยกันไประหว่างเดือนในไตรมาสหรือในปีเดียวกัน
สำหรับตลาดที่ไทยมีการส่งออกและนำเข้าทองคำสูง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง หากรวมผลของทองคำอาจทำให้เกิดการตีความผิด เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2554 การส่งออกไปออสเตรเลียของไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 แต่หากไม่รวมทองคำแล้วเปลี่ยนเป็นหดตัวถึงร้อยละ 16.7 การดูตัวเลขรวมที่ไม่หักทองคำจึงบิดเบือนการประเมินความสำเร็จในการขยายตลาดส่งออกของสินค้าที่เกิดจากการผลิตแท้จริงในประเทศไทยได้ จริงมีการส่งออกและนำเข้าที่ผิดกฎหมายอยู่
การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับถูกบิดเบือนได้มาก เนื่องจากการส่งออกทองคำแท่งนับรวมอยู่ในหมวดสินค้านี้ ในบางเดือนที่มีการส่งออกทองคำสูง เช่น เดือนกรกฎาคม 2554 มูลค่าการส่งออกสินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 302.0 แต่หากไม่รวมทองคำ อัตราการขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 47.2 ดังนั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันสินค้ากลุ่มนี้กับประเทศอื่นๆ จึงต้องพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่ประเทศเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ (X-M เป็นบวก) จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ในกรณีของการเกินดุลการค้าทองคำ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่าการส่งออกทองคำสุทธิไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน ดังนั้น เพื่อให้ผลของการค้าทองคำต่อ GDP เป็นกลาง สศช. จึงนำดุลการค้าทองคำไปหักออกจาก Inventory หรือยอดสินค้าคงคลัง โดยจะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ดุลการค้าทองคำเกินดุลหรือขาดดุลค่อนข้างมาก ในไตรมาสนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังในทิศทางตรงข้าม เช่น ในไตรมาสที่ไทยมีการส่งออกทองคำสุทธิ สินค้าคงคลังในไตรมาสนั้นมักจะปรับลดลง เท่ากับให้เห็นว่าเป็นการส่งออกจากทองคำที่อยู่ในคงคลัง ไม่ใช่การส่งออกทองคำจากการผลิตขึ้นใหม่ ดังนั้น การใช้ตัวเลขดุลการค้าซึ่งเป็นตัวเลขที่ประกาศเร็วเพื่อประโยชน์ในการประมาณการ GDP ต้องมีการคำนึงถึงผลของการค้าทองคำในลักษณะที่กล่าวมาแล้วด้วย
พฤติกรรมการลงทุนแบบเก็งกำไรในทองคำที่เป็นกายภาพ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าทองคำอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้าทองคำมีความผันผวนสูงตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประเมินแนวโน้มการส่งออก นำเข้า ดุลการค้า ตลอดจน Contribution ของการส่งออกสุทธิต่อการขยายตัวของ GDP
ดังนั้น นักวิเคราะห์ต้องตระหนักว่าข้อมูลการค้าทองคำระหว่างประเทศอาจมีผลบิดเบือนการประเมินภาพเศรษฐกิจได้ จึงต้องอาศัยการดูองค์ประกอบที่ขจัดผลของการค้าขายทองคำออกไปแล้ว หรือมีการดูเป็นช่วงเวลาที่นานขึ้น เพราะการดูข้อมูลรายไตรมาสจะมีความบิดเบือนน้อยกว่าการดูข้อมูลรายเดือน
*(1) ไม่รวมจีนที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าและส่งออกทองคำ
*(2) นับเฉพาะส่วนที่เป็น Non-monetary Gold ได้แก่ การแลกเปลี่ยนทองคำระหว่างประเทศของภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ทองแท่ง เหรียญทอง ก้อนทอง และผงทอง
*(3) คำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมผู้ค้าทองคำ
"CHINA GOLD REPORT: Gold in the Year of the Tiger," World Gold Council, 2010.
"India: Heart of Gold Revival," World Gold Council, 2010.
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณดอน นาครทรรพ และคุณรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
วัสยา ลิ้มธรรมมหิศร
เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ
ปัณฑา เกตุเรืองโรจน์
เศรษฐกร สายนโยบายการเงิน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย