FAQ: Issue 18 - แนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2554 และความเหมาะสมของนโยบายชดเชยราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2011 15:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 18

แนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2554 และ ความเหมาะสมของนโยบายชดเชยราคา

ธิติ เกตุพิทยา

Summary

ราคาน้ำมันในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ราคาไม่น่าจะสูงขึ้นรวดเร็วเพราะอุปทานในตลาดโลกยังคงผ่อนคลายอยู่ แม้กระนั้นทางการไทยยังคงใช้มาตรการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเร่งตัวของราคาน้ำมัน กลไกดังกล่าวสามารถมีผลดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวราคาควรเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เพื่อไม่ให้บิดเบือนการใช้ทรัพยากรและเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ

ช่วงปลายปี 2553 ราคาน้ำมันดิบใน ตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากจนมีผู้ตั้งคำถามว่า ราคาจะเกิน 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 หรือไม่ คำถามทำนองนี้ผุดขึ้นมาเนืองๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความผันผวนสูงขึ้น

FAQ ฉบับนี้จึงอยากมองไปข้างหน้าและประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2554 รวมถึงประเมินความเหมาะสมของนโยบายที่ทางการไทยดำเนินอยู่เพื่อรับมือกับสภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันภายใต้สภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ซึ่งทำให้เราผ่านพ้นยุคน้ำมันราคาถูกมานานพอสมควรแล้ว

แนวโน้มตลาดน้ำมันในปี 2554

สภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติเป็นปัจจัยที่เร่งให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2553 แต่สภาพอากาศหนาวเย็นนี้คาดว่าจะอยู่เพียงชั่วคราวและจะมีผลต่อราคาน้ำมันเฉพาะในระยะสั้นเท่านั้น สังเกตได้จากรูปร่างของ Future curve ณ วันที่ 7 ม.ค. 54 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ราคาน้ำมันที่มีกำหนดส่งมอบในระยะสั้นสูงกว่าที่มีกำหนดส่งมอบในระยะยาว และเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันที่มีกำหนดส่งมอบในระยะข้างหน้า ราคาน้ำมันที่เห็นจาก Future curve ล่าสุดไม่ได้แตกต่างจาก Future curve ของเดือนตุลาคมและธันวาคม 2553 มากนัก

การมองไปในระยะไกลขึ้นว่าทิศทางของราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไรควรเริ่มต้นจากปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ International Energy Agency (IEA) คาดว่า ความต้องการ ใช้น้ำมันโลกในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 88.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (IEA, ธันวาคม 2553) ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางเป็นสำคัญ ด้านอุปทาน ปริมาณน้ำมันที่โลกต้องการจาก OPEC เพื่อที่จะสนองระดับความต้องการของโลกโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ (หรือที่เรียกกันว่า Call on OPEC *(1)) น่าจะอยู่ประมาณ 35.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าระดับการผลิตของ OPEC ณ ไตรมาส 3 ของปี 2553 อยู่แค่ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตคงเหลือของ OPEC หรือ OPEC Spare Capacity (ไม่รวมอิรัก ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา) ในขณะนี้ที่ 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เห็นได้ว่า OPEC ยังมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอที่จะตอบสนองการขยายตัวของความต้องการในปี 2554 ได้โดยง่าย ซึ่งต่างจากปัจจัยพื้นฐานในเดือนมิถุนายน 2551 ที่กำลังผลิตคงเหลือของ OPEC มีเพียง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (IEA, กรกฎาคม 2551) และกดดันให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงนั้นเร่งตัวเร็วแตะระดับสูงสุดที่ 140 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

จากปัจจัยพื้นฐาน จึงคาดว่าราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยในปีนี้จะสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นสำคัญ แต่จะไม่เร่งตัวเร็วเนื่องจากอุปทานยังสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนมากขึ้นจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินโลก ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเฉพาะในภาวะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเป็นไปได้ทั้ง สองทาง คือ บางช่วงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจดีกว่าที่ตลาดคาดมาก และบางช่วงอาจย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้นักลงทุนน่าจะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงน้ำมัน นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองจะยังเป็นปัจจัยที่เสริมให้ราคาน้ำมันผันผวน เช่น การคว่ำบาตรอิหร่านโดยนานาประเทศอาจทำให้อิหร่านต้องประสบปัญหาด้านเงินลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบ และในช่วงที่ข่าวดังกล่าวปะทุ ราคาน้ำมันอาจเร่งตัวกว่าปกติ เป็นต้น

การควบคุมราคาน้ำมันในประเทศไทย

น้ำมันยังเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามในการแสวงหาพลังงานทดแทน แต่จากต้นทุนที่ยังสูงและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ยังต้องพัฒนาเพื่อไปสู่การผลิต เชิงพาณิชย์ บทบาทของพลังงานทดแทนจึงยังมีไม่มากพอที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น แม้การปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดจะสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรี แต่ยังมีหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ใช้มาตรการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศ ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันดิบ Dubai เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 10 จะทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นทันทีประมาณร้อยละ 0.6 *(2) รัฐบาลจึงมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงรวมถึง LPG โดยใช้กองทุนน้ำมัน ดังนี้

(1)ควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ ธันวาคม 2553 จนถึงกุมภาพันธ์ 2554 โดยคาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกครั้งนี้ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการชดเชยราคาขายปลีกดีเซลและดีเซล B5 ในอัตรา 1.65 และ 2.5 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งใช้เงินประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อเดือน

(2)ตรึงราคาขายปลีก LPG ไว้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ใช้เงินประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ทางการมีกำหนดยกเลิกการอุดหนุนราคาสำหรับ LPG ที่ใช้ในภาค อุตสาหกรรม โดยจะทยอยลดการอุดหนุนแบบขั้นบันไดตั้งแต่มีนาคม 2554 จนกระทั่งปล่อยลอยตัวอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อเดือนตั้งแต่ กรกฎาคม 2554 โดยจะยังเหลือการชดเชยในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอยู่ประมาณ1,000 ล้านบาทต่อเดือน

สถาบันบริหารกองทุนพลังงานประเมิน ฐานะกองทุนน้ำมัน ล่าสุด ณ วันที่ 11 มกราคม 2554 อยู่ที่ 27,617 ล้านบาท โดยเงินไหลออกหลักมาจากการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลและ LPG ในประเทศรวมประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่มีเงินไหลเข้าจากการเก็บเงินเข้ากองทุนในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ E85 ประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อเดือน สุทธิแล้วกองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น ในระดับราคาน้ำมันดิบปัจจุบัน จะสามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเป็นกลไกควบคุมราคาได้อีก 11 เดือน และหากรวมการยกเลิกการอุดหนุน LPG ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้กองทุนมีเงินไหลออกน้อยลงตั้งแต่กรกฎาคม 2554 เงินกองทุนจะคงสถานะเป็นบวกต่อไปได้อีก 14 เดือน จึงอาจกล่าวได้ว่าฐานะของกองทุนขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ

แม้ฐานะของกองทุนฯ ไม่ได้เป็น ประเด็นความกังวลมากนักในขณะนี้ แต่การชดเชยราคาน้ำมันเป็นการฝืนกลไกตลาด จึงควรทำเพียงชั่วคราวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะสั้น และควรกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน มิฉะนั้นจะนำมาซึ่งการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม

ในระยะยาว ทางการควรปล่อยให้ ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเป็นไปตามกลไกตลาดและอิงกับราคาในตลาดโลกมากขึ้น เพื่อให้การใช้น้ำมันสะท้อนถึงความหามาได้ยากของทรัพยากร ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของประเทศต่อไป

*(1) Call on OPEC = อุปสงค์น้ำมันดิบโลก - อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่ม Non-OPEC

*(2) ผลกระทบต่อเงินเฟ้อคำนวณจากน้ำหนักของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตะกร้า CPI ที่ร้อยละ 6.5 ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตคำนวณจากตาราง I-O ปี 2548

References

Cevik and Saadi-Sedik (2011), A Barrel of Oil or a Bottle of Wine : How Do Global Growth Dynamics Affect Commodity Prices?, IMF Working paper No.wp/11/1, January 2011

International Energy Agency (2008), Oil Market Report , Jul 2008

International Energy Agency (2010), Oil Market Report , Dec 2010

PTT OIM (2010), 2011 Oil Market Outlook , Nov 2010

บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณนันทวัฒน์ สังข์หล่อ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact author:

Mr. Thiti Kedphitthaya

Economist Domestic Economy Department

Monetary Policy Group thitik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ