บทความ: เงินเยนอ่อนค่า...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2013 14:12 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวปณิตา ตันติสุนทร

สายตลาดการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

จากความเดิมตอนที่แล้ว “เมื่อเงินเยนอ่อนค่า...การค้าเอเชียจะเป็นอย่างไร” ได้กล่าวถึงว่าเงินเยนที่อ่อนค่ามีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาการอ่อนค่าของเงินเยนเทียบกับเงินบาทก็ได้สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายว่าไทยจะเสียเปรียบในการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งในไตรมาสแรกปีนี้ถึงปัจจุบัน (10 พ.ค. 56) เงินเยนอ่อนลงเทียบกับเงินบาทร้อยละ 20 นับจากสิ้นปีก่อน โดยเป็นการอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วในวันที่ 4 เมษายน 2556 เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ชุดใหม่เป็นต้นมา ในบทความตอนนี้ จึงจะขอมาเจาะลึกเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินเยนต่อเศรษฐกิจบ้านเราบ้าง โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน

สำหรับด้านการค้าโดยรวมแล้ว ไทยไม่น่าจะเสียประโยชน์จากการที่เยนอ่อนมากนัก เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นมากกว่าส่งออกไปญี่ปุ่น (ปี2012 ไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไตรมาสแรกปีนี้ขาดดุลประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นอกจากนี้ ไทยไม่ได้เป็นคู่แข่งกับญี่ปุ่นโดยตรง เพราะสินค้าส่งออกของไทยและญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความซับซ้อนของเทคโนโลยีต่างกันแต่เรากับญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นคู่ค้ากันมากกว่า ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นพวกสินค้าขั้นกลาง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกไปญี่ปุ่นรวม) ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ พลาสติกและปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสินค้าต้นน้ำในห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่น และน่าจะได้รับอานิสงส์หากญี่ปุ่นส่งออกสินค้าปลายน้ำได้มากขึ้นจากการที่เงินเยนอ่อนค่า นอกจากนั้น สินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นที่สำคัญอีกหมวดหนึ่ง คือ อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (ประมาณร้อยละ 28 ของการส่งออกไปญี่ปุ่นรวม) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินค้าจำเป็นจึงไม่น่าขึ้นอยู่กับราคา (ค่าเงิน) มากนัก อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า (สัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของการส่งออกไปญี่ปุ่นรวม) อาจจะแข่งขันยากขึ้นกับผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น เพราะไม่ใช่สินค้าจำเป็นและไม่มีความแตกต่างกันมากนักในแต่ละผู้ผลิต

ที่สำคัญคือ ไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ20 ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งประเทศ โดยเป็นสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งมีสัดส่วนอย่างละประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดจากญี่ปุ่น การอ่อนค่าของเงินเยนจะทำให้ไทยนำเข้าเครื่องจักรได้ถูกลงช่วยลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของภาคธุรกิจไทย นอกจากนี้ หากจะมองในภาพรวม การค้าขายระหว่างประเทศของไทยส่วนใหญ่ยังชำระเงินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการชำระเป็นเงินเยนเพียงร้อยละ 6 ของมูลค่าการส่งออกของไทย ดังนั้น ผลกระทบ โดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกของไทยโดยรวมไม่น่าจะมากนัก

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เงินเยนอ่อนค่ามากขนาดนี้ย่อมมีกลุ่มผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีรายรับหลักเป็นเงินเยนแต่ไม่มีรายจ่ายเป็นเยน ทำให้ไม่สามารถบริหารรายรับกับรายจ่ายในสกุลเงินเยนเพื่อลดผลกระทบของค่าเงินต่อรายรับสุทธิของบริษัทได้ ผู้ส่งออกที่ไม่สามารถปรับราคาตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้ หรือผู้ส่งออกที่ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ที่เป็นญี่ปุ่น ในกรณีนี้ การอ่อนค่าของเยนจะส่งผลต่อรายรับในรูปเงินบาทอย่างมาก และอาจทำให้สัดส่วนกำไรติดลบได้ ผู้ส่งออกที่มีลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ส่งออกขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งทางการควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้

สำหรับด้านการลงทุน ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นที่มาตั้งบริษัทในไทยในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนระยะยาวจะขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุนเป็นสำคัญ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ พบว่าการตัดสินใจลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศพิจารณาปัจจัยระยะยาวมากกว่าปัจจัยระยะสั้น โดยให้ความสำคัญกับ (1) การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรม (2) โครงสร้างพื้นฐานที่ดี (3) แนวโน้มการเติบโตของตลาดผู้บริโภค รวมถึง (4) ความได้เปรียบของที่ตั้ง ซึ่งไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการที่ไทยมีเครือข่ายการผลิต (production network) ที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการรวมตัวกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้ AEC ทำให้ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นในด้านการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

การลงทุนในหลักทรัพย์ (portfolio investment) จากญี่ปุ่นยังมีบทบาทค่อนข้างน้อยต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจากประเทศอื่น เพราะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยจากต่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ดี หลังจากญี่ปุ่นทำมาตรการการผ่อนคลายทางการเงินครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน มีความเป็นไปได้ว่าเงินจากญี่ปุ่นเริ่มไหลออกไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) รวมถึงไทยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่อาจจะต้องจับตามองกันต่อไปว่า การทำนโยบายของญี่ปุ่นในครั้งนี้จะมีผลต่อไทยมากน้อยเพียงใด

มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงจะพอเห็นภาพว่าผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในด้านการค้าและการลงทุนไม่ได้น่ากังวลมากนัก ถึงแม้บางภาคธุรกิจที่ไม่มีอำนาจต่อรองราคาและขายสินค้าที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศเยอะก็คงถูกกระทบมากพอสมควรถ้าเงินเยนยังอ่อนต่อเนื่อง แต่ผลประโยชน์จากการที่เยนอ่อนก็คือ ธุรกิจไทยนำเข้าเครื่องจักรจากญี่ปุ่นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตได้ในราคาที่ถูกลง คนไทยที่มีหนี้ต่างประเทศสกุลเยนก็จะได้ประโยชน์จากการที่มูลค่าหนี้สกุลเยนลดลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น ค่าเงินเยนที่อ่อนไม่น่าจะทำให้คนญี่ปุ่นมาเที่ยวไทยน้อยลงเพราะคนญี่ปุ่นจะกังวลกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความปลอดภัย ภัยธรรมชาติ มากกว่า และถ้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นจากมาตรการของรัฐ ก็อาจจะช่วยให้คนญี่ปุ่นเริ่มใช้จ่ายเงินรวมถึงท่องเที่ยวมากขึ้นอีกด้วย สำหรับคนไทย ญี่ปุ่นน่าจะเป็นเมือท่องเที่ยวในฝันของพวกเราหลายๆ คน การที่บาทแข็งเทียบกับเงินเยนก็คงทำให้เราไปเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่นกันได้อย่างสบายกระเป๋ามากขึ้นใครยังไม่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่น...ก็ถือโอกาสนี้ไปเที่ยวกันนะคะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ