ค่าจ้างขั้นต่ำ: ปัจจัยหนึ่งในการกำหนดศูนย์กลาง (Hub) อุตสาหกรรมในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2013 11:08 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

จิดาภา ช่วยพันธุ์

กรกฎาคม 2556

การเป็นศูนย์กลาง (Hub) อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ อาทิ การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน ตลาด พลังงานและเงินทุน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะภาคการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต่างกันออกไป สำหรับบทความนี้ จะให้ความสนใจไปที่ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในภาคการผลิต โดยค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) จะเป็นสิ่งที่บอกถึงลักษณะแรงงาน ซึ่งเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

ปัจจัยที่กาหนดการเป็น Hub อุตสาหกรรมต่างๆ

อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเข้มข้น*(1) อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น*(2)

          (Capital-intensive Industry)        (Labor-intensive Industry)
          แรงงานมีทักษะ (Skilled Labor)         แรงงานไร้ทักษะ (Unskilled Labor)
          ค่าจ้างสูง                             ค่าจ้างต่ำ
          เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า                เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้ามาก

การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ การเข้าถึงตลาด

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน

เช่น ขนส่ง ระบบโลจิสติกส์

ประเทศไทยได้ทยอยปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 เป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงภูเก็ต และให้ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศในอาเซียนต่างก็พากันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ประกาศให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเมียนมาร์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากฎเกณฑ์และรายละเอียดเพื่อจะออกกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการในไม่ช้านี้อีกด้วย

ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่ 1,500-1,700 บาท*(3) รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย มีค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันใกล้เคียงกันอยู่ที่ราว 280-307 บาท โดยมาเลเซียเพิ่งจะมีการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในปีนี้ กลุ่มต่อมา ได้แก่ เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย และกัมพูชา มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 60-156 บาทต่อวัน ส่วนเมียนมาร์ที่เพิ่งมีการเปิดประเทศนั้น มีค่าจ้างต่ำที่สุดเพียง 16 บาทต่อวันเท่านั้น

ค่าจ้างขั้นต่ำ ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันนี้ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกำหนดการเป็น Hub ของแต่ละอุตสาหกรรมในอาเซียนได้ โดยประเทศที่มีค่าจ้างอยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานมีทักษะ เหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเข้มข้น (Capital-intensive Industry) ที่มีเทคโนโลยีในการผลิตที่ก้าวหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Industry) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ จะมีการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างต่ำมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV*(4) ซึ่งเหมาะสำหรับการลงทุนในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากยังไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อนมาก

ดังนั้น การมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อเป็น Hub ในอุตสาหกรรมต่างๆ ค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กำหนด เพราะจะเป็นตัวบอกถึงกำลังแรงงานในประเทศว่าเป็นอย่างไร เป็นแรงงานมีทักษะหรือแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งเหมาะสมกับการเป็น Hub ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศและภูมิภาค ในยุคสมัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำได้

*(1) Capital-intensive Industry คือ อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร/อุปกรณ์ในการผลิต ที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และใช้แรงงานน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การบิน

*(2) Labor-intensive Industry คือ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก หรือแรงงานเป็นหลัก เงินลงทุนไม่สูง อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง ประมง

*(3) สิงคโปร์ไม่มีการกาหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จึงคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานไร้ทักษะ (Unskilled Labor) ในประเทศแทน

*(4) CLMV คือ ประเทศกัมพูชา (Cambodia) ลาว (Lao PDR) เมียนมาร์ (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ยังมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ