ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงดีเซลทางเลือกโดยมีคุณสมบัติการเผาไหม้เหมือนกับดีเซลจากปิโตรเลียม*(1) มาก และสามารถใช้ทดแทนกันได้ คุณสมบัติสำคัญของไบโอดีเซลคือ สามารถย่อยสลายได้เองตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มพืชให้น้ำมันที่นิยมนำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในตลาดโลกมี 4 ชนิดหลัก ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง เมล็ดเรพ และทานตะวัน ซึ่งปาล์มน้ำมันได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อตันต่อไร่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น โดยในปีที่ให้ผลผลิตสูง ปาล์มน้ำมันสามารถให้ผลผลิตเป็นทะลายปาล์มสดถึง 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในทะลายปาล์มสดที่เก็บเกี่ยวมา จะมีน้ำมันประมาณร้อยละ 20 ดังนั้นหากพิจารณาการปลูกปาล์มในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีการให้น้ำมันประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
ปัจจุบัน ความต้องการใช้ไบโอดีเซลของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายประเทศเริ่มสนับสนุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันและเพื่อเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะประเทศหลักอย่างกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในระยะ 10 ปีข้างหน้าจากการขยายตัวด้านคมนาคมขนส่งและจากสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างอินเดียกับจีน ในขณะที่ผู้ผลิตและส่งออกไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันนั้น ตลาดหลักมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งทั้งสองประเทศนี สามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้เกินร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชีย
จากแนวโน้มการใช้ไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้นจึงมีการพัฒนาการเพิ่มศักยภาพการผลิตไบโอดีเซลด้านวัตถุดิบ โดยปัจจัยหลักจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน (Oil palm harvested area) ผลผลิตต่อไร่(Yield) และผลิตภาพ (Productivity) หากพิจารณาเปรียบเทียบไทยกับประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ พบว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทยอยู่มาก ส่วนในด้านผลผลิตต่อไร่และอัตราการให้น้ำมัน ไทยก็ยังต่ำกว่าผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองอยู่เช่นกัน ซึ่งถ้าเทียบไทยกับผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสอง ถือว่าผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองมีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันที่สูงกว่าไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่และครบวงจร โดยเฉพาะมาเลเซียที่ร้อยละ 60 ของพื้นที่เพาะปลูกเป็นพื้นที่ของเกษตรกรรายใหญ่ และที่เหลือเป็นของเกษตรกรรายย่อย แตกต่างกับไทยที่ส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อยกว่าร้อยละ 70 และมีพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองยังเป็นผู้นำด้านการเพาะปลูกพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนมีโรงงานสกัดและบีบน้ำมันที่มีกำลังการผลิตมาก โดยมีการสกัดน้ำมันแยกระหว่างเนื้อปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์มเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการให้น้ำมันให้มากขึ้นกว่าการสกัดจากปาล์มทั้งผล
ด้านความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มจากวันละ2.4 ล้านลิตร ในปี 2554 เป็นวันละ 8.5 ล้านลิตรในปี 2555 (ตารางที่ 1) และในระยะยาวภาครัฐยังคงดำเนินแผนระบายน้ำมันปาล์มดิบโดยให้มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 จาก บี5 เป็น บี7 แทนในต้นปี 2557 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวและมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เกษตรกร ให้เกษตรกรรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ รวมทั้งกำกับติดตามลานเทและโรงงานสกัดให้รับซื้อผลปาล์มสุก โดยไทยยังมีโอกาสที่จะทำรายได้จากการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซลจากแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและทิศทางการหันมาใช้พลังงานทดแทนของโลก
หากแนวโน้มเป็นไปตามนี้เราคงได้เห็นไทยมีแหล่งพลังงานที่สามารถผลิตได้เองมากขึ้นและสามารถลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงสร้างเสถียรภาพราคาและรายได้อย่างยั่งยืนแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย
*(1) น้ำมันปิโตรเลียม หมายถึง น้ำมันที่ได้มาจากใต้พื้นดินของโลกซึ่งมีอยู่ทั่วไป น้ำมันปิโตรเลียมเกิดจากสัตว์ทะเล ที่ตายทับถมอยู่ใต้ทะเลมหาสมุทร ไขมันของสัตว์เหล่านั้น ได้ถูกกักขังด้วยชั้นต่างๆ ตะกอนเหล่านี้จะถูกอัดให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหิน ดินดาน หินปูน หินทราย หยดไขมันต่างๆ เคลื่อนผ่านหินเหล่านี้จนกระทั่งไปพบกับหินที่แน่นทึบ ทำให้ไขมันไหลต่อไปไม่ได้ ไขมันที่ถูกขังจะสลายตัวเป็นน้ำมันปิโตรเลียม
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย