สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2013 17:32 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกันยายน 2556 หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากภาคการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกและการลงทุนหดตัวสอดคล้องกับการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังขยายตัวดีส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ดัชนีผลผลิตเกษตรลดลงร้อยละ 9.4 ตามผลผลิตกุ้งขาวและปาล์มน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 44.9 และ 14.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากราคากุ้งขาวที่เร่งตัวสูงต่อเนื่องประกอบกับราคายางและปาล์มน้ำมันปรับตัวดีขึ้นตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.0 ตามการผลิตที่ลดลงเกือบทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง-แปรรูป และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลงนอกจากนี้การผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องและถุงมือยางลดลงตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลักอย่างไรก็ตาม การผลิตยางแปรรูปเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากประเทศคู่ค้าทั้งมาเลเซีย สหภาพยุโรปเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหลักมีการนำเข้าลดลง ขณะเดียวกันการผลิตไม้ยางพารายังขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้อินโดนีเซียและเวียดนามมีความต้องการเพิ่มขึ้น

จากการที่ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรลดลง ประกอบกับความต้องการของตลาดโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้ลดลงร้อยละ 6.2 โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและถุงมือยาง เป็นสำคัญ

ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.6 ตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ลดลงทั้งพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ ส่วนยอดจาหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวจากการส่งมอบรถยนต์ตามนโยบายรถคันแรกที่หมดลง นอกจากนี้มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนลดลงถึงร้อยละ 27.9 ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 23.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนและเป็นช่วงวันชาติมาเลเซีย นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเอเชีย ได้แก่ จีน มาเลเซีย และเกาหลี เป็นสำคัญ

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังขยายตัวร้อยละ 9.9 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดโรงแรมและภัตตาคารที่เพิ่มสูงถึงร้อยละ 20.7 สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ส่วนภาษีจากการค้าปลีกสินค้าบริโภคทรงตัว สะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามภาษีสรรพากรที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีน้ำมันและเครื่องดื่ม ขณะที่การจัดเก็บภาษีศุลกากรลดลงตามการลดลงของการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณลดลงร้อยละ 6.4 จากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนลดลง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.51 ชะลอต่อเนื่องจากร้อยละ 1.55 ในเดือนก่อนถึงแม้เดือนนี้ภาครัฐเริ่มปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติและค่าก๊าซหุงต้มในครัวเรือน แต่การส่งผ่านภาระต้นทุนมาที่ราคาสินค้าอื่นมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย

ด้านเงินฝากคาดว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากครัวเรือนยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระขณะที่รายได้ยังไม่กระเตื้องขึ้น ประกอบกับทางเลือกในการออมเงินแทนการฝากธนาคารมีมากขึ้น ส่วนเงินให้สินเชื่อคาดว่าทรงตัวจากการระมัดระวังในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ