สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2013 17:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 19/2556

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวส่งผลต่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ประกอบกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอลง ทาให้การส่งออกและการลงทุนหดตัว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังขยายตัวสูง ขณะที่รายได้เกษตรกรแม้จะยังหดตัว แต่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สนับสนุนให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่าต่อเนื่อง ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

สถานการณ์การขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวจากปัญหาโรคระบาดยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตกุ้งที่ลดลงร้อยละ 53.8 ขณะที่ผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลผลิตกุ้งที่ลดลงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคากุ้งเร่งสูงถึงร้อยละ 67.4 อย่างไรก็ตาม ราคายางและปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 12.2 และ 26.2 ตามลำดับ จากแรงกดดันด้านอุปทานและสต็อกโลกอยู่ในระดับสูงประกอบกับอุปสงค์ชะลอลง ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 3.4 และ 9.7 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวดีขึ้น

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.5 ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่ลดลงจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาว ขณะเดียวกันการผลิตถุงมือยางและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องลดลงตามคำสั่งซื้อที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลให้การสั่งซื้อและการส่งมอบสินค้าชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตยางยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดมาเลเซียและอินเดีย ชดเชยกับตลาดหลักจีนที่ชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากสต็อกในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการของจีนเพื่อรองรับภาคอสังหาริมทรัพย์

แม้ด้านราคาสินค้าเกษตรแปรรูปจะปรับตัวดีขึ้น แต่จากปริมาณการผลิตที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 โดยเฉพาะการส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการที่กังวลต่อกาลังซื้อที่ลดลงของครัวเรือน ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.6 สะท้อนจากการขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้าง การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและการนำเข้าสินค้าทุนลดลงมาก ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 แม้ว่าชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ลดลงทุกประเภท แต่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดค้าปลีก-ค้าส่ง และหมวดโรงแรมยังคงขยายตัว สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินและการขยายเส้นทางบินจากต่างประเทศมาภาคใต้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 59.6 สูงกว่าร้อยละ 58.7 ในไตรมาสเดียวกันปีก่อน

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณลดลงร้อยละ 11.6 ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ตามการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งภาษีสรรพากรสรรพสามิต และศุลกากร อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีจาก ร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 20 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.76 ชะลอจากร้อยละ 2.22 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าประกันตนที่ชะลอลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ