FAQ: Issue 86 - รู้จักกับดัชนีค่าเงินบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 28, 2014 14:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 86

รู้จักกับดัชนีค่าเงินบาท

พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์ ธนภรณ์ หิรัญวงศ์

และ กันตภณ ศรีชาติ

บทคัดย่อ

ดัชนีค่าเงินบาท คือ การเทียบเงินบาทโดยเฉลี่ยกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทย ด้วยวิธีการถ่วงน้ำหนักแต่ละสกุลเงินตามความสำคัญทางการค้าต่อไทย ดัชนีค่าเงินมีบทบาทสำคัญในการใช้ประกอบการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศ และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

วิธีการจัดทำดัชนีค่าเงินมีหลายวิธีและค่อนข้างมีความซับซ้อนในการคำนวณ บทความฉบับนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาม ความสำคัญ วิธีการคำนวณดัชนีค่าเงิน รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงและเผยแพร่ดัชนีค่าเงินของ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินเพื่อให้มีความถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด รวมทั้งปรับน้ำหนักทางการค้าให้สอดคล้องกับพลวัตของโครงสร้างทางการค้าที่เปลี่ยนไปด้วย

บทนำ

เมื่อพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ มักนึกถึงการเปรียบเทียบระหว่าง 2 สกุลเงิน (Bilateral exchange rate) เช่น บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับอัตราแลกเปลี่ยนก็จะทำให้ทราบว่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง ค่าเงินบาทสามารถเทียบกับอีกหลายสกุลเงินอื่นๆ ที่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น เยน ยูโร หยวน เป็นต้น การดูเพียงอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นบาทต่อดอลลาร์ สหรัฐฯ ไม่สามารถชี้ว่าโดยรวมแล้วเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ การติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจึง ควรพิจารณาควบคู่ไปกับดัชนีค่าเงิน (Nominal Effective Exchange Rate, NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเงินบาทกับสกุลเงินอื่นๆ โดยรวม ทำให้ดัชนี NEER และ REER นี้เป็นเครื่อง ชี้สำคัญในการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนี NEER และ REER ของเงินบาท เป็นรายเดือนในเว็บไซต์ของธปท.*(1) เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปในการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ของค่าเงินบาท

วิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินบาทค่อนข้างซับซ้อนและมีข้อควรพิจารณาหลายประการ FAQ ฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดัชนี NEER และ REER ในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) นิยามและความสำคัญ (2) วิธีการคำนวณ และ (3) ข้อจำกัด

1. นิยามและความสำคัญของดัชนีค่าเงินบาท

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) คือ การเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย และนำมาเฉลี่ยโดยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการค้าระหว่างกัน โดยประเทศที่ไทยค้าขายหรือแข่งขัน ด้วยมากก็จะได้น้ำหนักมาก และลดหลั่นกันไปตามความสำคัญด้านการค้าของประเทศนั้นๆ ต่อไทย ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย เงินเยนก็จะได้รับน้ำหนักมากในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท เป็นต้น ดัชนีค่าเงินเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ใช้วัดความ สามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศได้ในระดับหนึ่ง

1.1 การเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายในกรณีที่มีเพียงสองประเทศค้าขายกัน เช่น ไทยค้าขายกับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐฯ ถูกลง ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนอเมริกันนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น*(2) ในขณะ เดียวกัน คนไทยจะมองว่าสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ นั้นแพงขึ้นและจะหันมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไทยค้าขายและแข่งขันกับหลายประเทศ การเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งจึงมีความซับซ้อนขึ้น การพิจารณาเพียงคู่สกุลเงินอาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน เพราะบางครั้งเงินบาทอาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับบางสกุลเงิน แต่อาจแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับอีกสกุลเงินหนึ่งและแต่ละสกุลเงินมีความสำคัญในแง่การค้าไม่เท่ากัน ฉะนั้น ดัชนีค่าเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการเปรียบเทียบสกุลเงินของตนกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ โดยดัชนีค่าเงินที่อ่อนลงจะสะท้อนว่าประเทศได้เปรียบด้านราคาโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง

นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินยังถูกนำมาพิจารณาควบคู่กับระดับราคาโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เพื่อให้ได้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ซึ่งเป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ถูกต้องตามหลักการกว่า เนื่องจากสามารถสะท้อนอำนาจซื้อที่แท้จริงและความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศด้วยต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยทั่วไป การเปรียบเทียบระดับราคาระหว่างประเทศนิยมใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Price Index, CPI) เพราะสามารถรวบรวมข้อมูลรายประเทศได้ง่าย*(3) สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนยังอาจนำค่าจ้างแรงงานต่อหนึ่งหน่วยการผลิต (Unit Labor Cost, ULC)*(4) มาใช้ประกอบการเปรียบเทียบระดับราคาระหว่างประเทศด้วย เพื่อสะท้อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ดี นอกจากดัชนี NEER และ REER แล้ว การชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจยังต้องพิจารณาข้อมูลในมิติอื่นๆ ประกอบกันด้วย*(5)

ในการอ่านค่าดัชนีค่าเงิน หากดัชนีค่าเงินบาทปรับสูงขึ้นแสดงว่าเงินบาท ณ ขณะนั้นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งลดทอนความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ ในทางกลับกัน หากดัชนีค่าเงินบาทปรับลดลงแสดงว่าเงินบาท อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ทั้งนี้ ในกรณีของไทยที่ระดับเงินเฟ้อภายในประเทศค่อนข้างต่ำและมีเสถียรภาพ ดัชนี NEER และ REER มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี ดัชนี NEER อาจเคลื่อนไหวในทิศทางที่ ไม่สอดคล้องกับดัชนี REER ได้ ในกรณีที่ระดับ เงินเฟ้อของประเทศเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศ คู่ค้าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ประเทศที่ค่าเงิน อ่อนลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ระดับราคาในประเทศสูงขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ดัชนี NEER ก็จะอ่อนค่าลง ในขณะที่ดัชนี REER จะแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่าแม้ค่าเงินจะอ่อนค่าลง แต่เพราะระดับ เงินเฟ้อที่สูงที่เป็นตัวกัดกร่อนอำนาจซื้อและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นประเทศจึงไม่ได้เปรียบด้านการแข่งขันด้านราคาอย่างแท้จริงจะเห็นว่าในปี 2555 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวน โดยอ่อนค่าลงในครึ่งปีแรก ก่อนปรับแข็งค่าขึ้นใน ช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ดัชนี NEER และ REER ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ค่าเงินบาทตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ดัชนี NEER และ REER แม้จะปรับอ่อนค่าลงแต่ก็เป็นการปรับในขนาดที่น้อยกว่า

1.2 การเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญประกอบการพิจารณาเชิงนโยบาย ธนาคารกลางส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed floating exchange rate regime) จะติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งที่เป็น Bilateral exchange rate และดัชนีค่าเงินควบคู่กันไป เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความสอดคล้องของค่าเงินกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ*(6)

นอกจากนี้ บางประเทศยังใช้ดัชนีค่าเงินเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น สิงคโปร์ ที่กำหนดให้ดัชนีค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบและทิศทางที่สอดคล้องกับเสถียรภาพทางราคาและศักยภาพของเศรษฐกิจ

2. การคำนวณน้ำหนักทางการค้าของดัชนีค่าเงิน

ในส่วนนี้จะอธิบายถึงวิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายประการ โดยเฉพาะในการคำนวณน้ำหนักการค้าของแต่ละประเทศ

2.1 วิธีการเฉลี่ยค่าเงินหลายๆ สกุล ตามน้ำหนักที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศรวมทั้งไทยนิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ การหาค่าเฉลี่ยเรขาคณิตแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted geometric mean) เพราะการคำนวณมีความเหมาะสมกว่าการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted arithmetic mean) รายละเอียดวิธีการคำนวณและคำอธิบายเหตุผลอยู่ใน ภาคผนวก 1

2.2 ปีฐานที่ ธปท. ใช้ในการคำนวณดัชนีค่าเงินปัจจุบัน คือ ปี 2550 เนื่องจากเป็นปีที่เศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพและภาวะการค้าการลงทุนโลกค่อนข้างเป็นปกติ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินจะมีค่าแตกต่างกันตามปีฐานที่ใช้แต่ยังคงสะท้อนการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

2.3 น้ำหนักทางการค้าที่ให้กับแต่ละประเทศคู่ค้าคู่แข่งเป็นประเด็นสำคัญและซับซ้อนที่สุดในการคำนวณดัชนีค่าเงิน ซึ่งควรปรับปรุงเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตของโครงสร้างทางการค้าระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการคำนวณน้ำหนัก ได้แก่

2.3.1 การคัดเลือกสกุลเงินโดยหลักการ การคำนวณดัชนีค่าเงินควรครอบคลุมสกุลเงินที่มากพอ เพื่อให้สะท้อนฐานะการค้าและการแข่งขันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด โดยทั่วไป เกณฑ์ในการคัดเลือกสกุลเงินมักอิงจากสัดส่วนการนำเข้าและ/หรือการส่งออกสินค้า ซึ่งสะท้อนโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา แต่บางประเทศอาจใช้สัดส่วนการลงทุนหรือสัดส่วนหนี้ต่างประเทศแทน ในการคำนวณของ ธปท. จะคัดเลือกสกุลเงินจากเกณฑ์การค้า ดังนี้ (1) สกุลเงินของประเทศที่เลือกมีสัดส่วนการนำเข้า (ไม่รวมน้ำมัน) และการส่งออกรวมกันเกินร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย (2) เป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดที่สาม และ (3) เป็นตัวแทนประเทศในภูมิภาคที่สำคัญอื่นๆ

2.3.2 ประเภทของสินค้า

ประเภทของสินค้าที่ใช้ในการคำนวณขึ้นอยู่ กับโครงสร้างการค้าของแต่ละประเทศและข้อจำกัด ด้านข้อมูล ธปท. ใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมเฉพาะสินค้าแต่ไม่รวมบริการ7 (Value of merchandise trade)เนื่องจาก (1) โครงสร้างการค้าของไทยแบ่งออกเป็นการส่งออกและนำเข้าสินค้าถึงร้อยละ 90 ในขณะที่มูลค่าบริการคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 และ (2) ข้อจำกัดด้านการจัดเก็บข้อมูลบริการ โดยข้อมูลการค้าด้านบริการของประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการแยกรายละเอียดเป็น รายประเทศคู่ค้า ดัชนีค่าเงินของหลายประเทศก็ไม่รวมบริการในการคำนวณน้ำหนักการค้าเช่นกันเพราะภาคบริการยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยและมีข้อจำกัดด้านข้อมูล

นอกจากนี้ ในบางประเทศมีการปรับรายละเอียดตัวเลขการส่งออกและนำเข้าสินค้าของตนให้เหมาะสมกับโครงสร้างการค้าของประเทศตนเองมากขึ้น เช่น การคำนวณน้ำหนักทางการค้าของสหรัฐฯจะหักสินค้าส่งออกทางการทหารและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ (Primary goods)ออกจากตัวเลขการค้าของประเทศด้วย*(8)

องค์กรระหว่างประเทศ เช่น Bank for International Settlement (BIS) และ International Monetary Fund (IMF) มีการคำนวณและเผยแพร่ดัชนีค่าเงินของสกุลเงินต่างๆ ที่เราสามารถอ้างอิงได้ แต่มีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันไป เช่น BIS จะคำนวณน้ำหนักเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว*(9) แต่จะจำแนกสินค้าละเอียดขึ้น

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำแนกวิธีการคิดน้ำหนักทางการค้าออกเป็น 3 ส่วน คือ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าบริการ โดยข้อมูลด้านบริการที่ใช้อยู่ในรูปของการประมาณการให้มีสัดส่วนการกระจายตัวคล้ายคลึงกับข้อมูลการค้าของสินค้าอุตสาหกรรม*(10)

2.3.3 วิธีการคำนวณน้ำหนัก การให้น้ำหนักของแต่ละสกุลเงินจะพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ (1) ความสำคัญในแง่ส่วนแบ่งตลาดและ (2)ความสำคัญของภาคการส่งออกนั้นต่อระบบเศรษฐกิจ รายละเอียดและวิธีการคำนวณแสดงในภาคผนวก 2 โดยสามารถอธิบายโดยสังเขปได้ดังนี้

(1)ความสำคัญในแง่ส่วนแบ่งตลาด (Market share) หมายถึง สัดส่วนของมูลค่าสินค้าส่งออกจากไทยไปยังแต่ละตลาดทั้งในและต่างประเทศเมื่อเทียบกับสินค้าทั้งหมดที่ขายอยู่ในตลาดแต่ละประเทศ โดยแบ่งออกเป็นการแข่งขันใน 3 ตลาด ดังนี้

ตลาดภายในประเทศ การแข่งขันโดยตรงในตลาดไทย (Direct import competition)*(11) ระหว่างสินค้าที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในไทยกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้า, k

ตลาดในประเทศคู่ค้า การแข่งขันโดยตรงในตลาดประเทศคู่ค้า, k (Direct export competition)ระหว่างสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า k กับสินค้าที่ k ผลิตและบริโภคภายในประเทศตนเองตลาดในประเทศที่สาม การแข่งขันทางอ้อมในตลาดที่สาม, j (Third market competition)ระหว่างสินค้าส่งออกของไทยและสินค้าส่งออกของ k ไปยังตลาดประเทศj ซึ่งทำให้ครอบคลุมการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศกว้างกว่าการนับเพียงการแข่งขันโดยตรงข้างต้น

(2)ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ(Production share) สะท้อนจากสัดส่วนของสินค้าที่ไทยผลิตเพื่อขายในตลาดต่างๆ เทียบกับผลผลิตโดยรวมของไทย ซึ่งใช้เพื่อถ่วงน้ำหนักความสำคัญของส่วนแบ่งตลาดในข้อแรก

วิธีการดังกล่าวช่วยให้การคำนวณดัชนีค่าเงินครอบคลุมโครงสร้างการแข่งขันตามความสำคัญต่อเศรษฐกิจได้ดีขึ้น สอดคล้องกับวิธีการคำนวณของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ IMF ซึ่งต่างจากการคำนวณ ตามแบบของ BIS ที่พิจารณาการให้น้ำหนักตามสัดส่วนการค้า (Trade share) เท่านั้น*(12) 3. ข้อจำกัดของดัชนีค่าเงิน

3.1 ดัชนีค่าเงินสะท้อนเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของสินค้าโดยรวม เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลและความซับซ้อนในการคำนวณ ทำให้การคำนวณน้ำหนักของแต่ละสกุลเงินไม่ได้แยกการแข่งขันเป็นรายสินค้าหรือรายอุตสาหกรรม ซึ่งอาจให้ภาพที่แตกต่างไปจากการวัดการแข่งขันโดยใช้การส่งออกรวมของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมกับประเทศที่ส่งออกเครื่องจักรกลเป็นหลัก แม้จะส่งไปขายในตลาดเดียวกันก็ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการแข่งขันกัน

นอกจากนี้ แม้ในสินค้าหมวดเดียวกัน ราคาสินค้าที่ถูกลงเพราะค่าเงินก็มิได้จะทำให้คนหันมาซื้อสินค้าของประเทศนั้นเสมอไป เพราะสิ่งที่อาจสำคัญกว่าราคาที่ถูกลงคือคุณภาพหรือความแตกต่าง (Product differentiation) ของสินค้า

ดังนั้น ดัชนีค่าเงินจึงมีประโยชน์ในระดับ หนึ่งในการใช้ประเมินความสามารถในการแข่งขัน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ในการพิจารณานัยเชิงนโยบายด้วย

3.2 ข้อจำกัดจากการใช้ข้อมูลที่ไม่สะท้อน ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ ความสำคัญของห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ (Global supply chain) ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ของการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป ในทางทฤษฎี การส่งออกที่แท้จริงของประเทศหนึ่งๆ ควรนับเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่ม (Value added) ที่สร้างขึ้น โดยประเทศนั้นๆ เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากข้อมูลการค้าที่มียังอยู่ในรูปของมูลค่าสินค้าขั้นสุดท้าย (Final goods) ซึ่งไม่สามารถแยกให้อยู่ในรูปของมูลค่าเพิ่ม*(13) ของสินค้าได้ แม้จะใช้ข้อมูลที่สามารถแยกเป็นรายหมวดอุตสาหกรรมได้ แต่ก็ยังไม่สามารถบ่งชี้สัดส่วนของวัตถุดิบจากประเทศต้นทางได้ ทำให้น้ำหนักการค้าของบางประเทศอาจสูงเกินไป เช่น จีน ที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าขั้นกลางในสัดส่วนที่สูง*(14) ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) อาจไม่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า นอกจากนี้ Global supply chain ในการค้าระหว่างประเทศ ยังอาจทำให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการแข่งขันได้อย่างถูกต้อง เพราะการที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นอาจจะไม่ได้สะท้อนภาพการแข่งขันของประเทศที่แย่ลง จากการที่ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น แต่เราสามารถที่จะนำเข้าสินค้าขั้นกลางได้ในราคาที่ถูกลงด้วย*(15) ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์*(16) ได้มีความพยายามในการสร้าง World input-output table ที่สามารถคำนวณการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบของมูลค่า เพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและเพื่อใช้คำนวณดัชนีค่าเงินจากตัวเลขมูลค่าเพิ่มแทนตัวเลขการค้า (Value-added NEER and REER)17 แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูลทำให้มูลค่าเพิ่มที่ได้ยังอยู่ในรูปแบบของค่าประมาณการไม่ใช่ตัวเลขจริง

3.3 การค้าระหว่างประเทศมักค้าขายด้วยสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นของคู่แข่งบางสกุลจึงอาจไม่กระทบต่อความ สามารถในการแข่งขันมากนักในระยะสั้น

บทสรุป

ดัชนีค่าเงินบาทมีบทบาทสำคัญในการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง และสามารถใช้ในการพิจารณานัยเชิงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ระดับหนึ่ง ที่ผ่านมา ธปท. ปรับปรุงวิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินเพื่อให้มีความถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด และปรับน้ำหนักทางการค้าอยู่เป็นระยะให้สอดคล้องกับพลวัตของโครงสร้างทางการค้าที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี มีข้อพึงระวังในการใช้ดัชนีค่าเงินในการประเมินความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากดัชนีค่าเงินสะท้อนเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้าโดยรวม โดยไม่สามารถชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพหรือการแข่งขันระดับ รายสินค้าหรืออุตสาหกรรม และการคำนวณในปัจจุบันยังไม่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ด้านการค้าในแง่ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ ดังนั้น ในการนำดัชนีค่าเงินบาทมาใช้ประกอบการพิจารณาเชิงนโยบายจึงควรคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ ทั้งนี้ ในแวดวงเศรษฐศาสตร์มีความพยายามในการคิดค้นวิธีการปรับปรุงการคำนวณดัชนีค่าเงินและการสร้างฐานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศที่พัฒนามากขึ้น ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นดัชนีค่าเงินใน รูปแบบใหม่ เมื่อมีข้อมูลที่พัฒนามากขึ้น

*(1) http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/Index/Pages/eer.aspx

*(2) สมมติให้ข้าวหอมมะลิของไทยราคาถุงละ 300 บาท เมื่อขายในสหรัฐฯ ราคาจะเท่ากับถุงละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หากเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสมมติให้มีการปรับราคาทันทีตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไป ข้าวหอมมะลิไทยจะมีราคาเพียง 9.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ

*(3) อย่างไรก็ดี CPI มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะด้านสัดส่วนสินค้าที่มี non-tradable ค่อนข้างสูง

*(4) Chinn (2006), "Trade-Weighted Effective Exchange Rate", Princeton University, p.338 พบว่า การปรับ REER ด้วย ULC มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ (1) ข้อมูลที่เผยแพร่อาจล่าช้าและมีการปรับปรุงข้อมูลบ่อยครั้ง (2) สะท้อนต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว และ (3) ข้อมูลที่สมบูรณ์จะพบเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่

*(5) ปัจจัยด้านค่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน เช่น คุณภาพและความแตกต่างของสินค้า เนื่องจากทำให้ประเทศแข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยด้านราคาหรือค่าเงิน

*(6) หรือที่เรียกว่า อัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพ (Equilibrium exchange rate) เป็นระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (REER) ที่ควรจะเป็นภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ย (โดยเปรียบเทียบระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าคู่แข่ง) และฐานะของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพจะช่วยในการประเมินการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันว่าสอดคล้องกับพื้นทางเศรษฐกิจหรือไม่ ยังช่วยให้เราคาดการณ์ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้าตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

*(7) ข้อมูลที่ใช้ คือ Trade Matrix ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Direction of Trade and Statistics จัดทำโดย IMF

*(8) อ้างอิงจาก Federal Reserve Bulletin (October 1998)

*(9) การคำนวณของ BIS มีทั้งดัชนีค่าเงินที่มีความครอบคลุมแบบกว้าง (Board Index มี 61 สกุลเงินในตะกร้าดัชนีค่าเงิน) และดัชนีค่าเงินที่มีความครอบคลุมแบบแคบ (Narrow Index มี 27 สกุลเงินในตะกร้าดัชนีค่าเงิน) (http://www.bis.org/statistics/eer/index.htm)

*(10) คำนวณข้อมูลการค้าด้านบริการจากตัวเลขการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในกรณีที่ประเทศนั้นมีมูลค่ารายรับจากการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกรวมอ้างอิงจาก Bayoumi and Jayanthi (2005)

*(11) การแข็งค่าของเงินบาทอาจทำให้เรานำเข้าสินค้าได้ถูกลง แต่จะส่งผลให้ผู้ผลิตของไทยสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศได้เช่นกัน

*(12) อ่านเพิ่มเติมได้จาก Klao and Fung (2006)

*(13) ส่วนต่างระหว่างมูลค่าของสินค้าที่ขายได้กับมูลค่าต้นทุนที่ใช้ในการผลิต

*(14) วิธีการหนึ่งที่จะลดปัญหาการส่งออก/นำเข้า สินค้าขั้นกลางคือ หักมูลค่าสินค้าเหล่านี้ออกจากการคำนวณน้ำหนัก เช่น จีน อาจหักข้อมูลส่วนที่เป็น Processing export ออกขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์จะมีลักษณะเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าและส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ โดยที่มิได้เป็นผู้ผลิตเอง (Re-export)

*(15) อ่านเพิ่มเติมจาก Saito et al. (2013)

*(16) อ่านเพิ่มเติมจาก Erumban et al. (2012)

*(17) อ่านเพิ่มเติมจาก Bems et al. (2012)

Reference:

Bayoumi, T., Lee, J. and S Jayanthi (2005), "New rates from new weights", IMF Working Paper WP/05/99 (May). Bems, R. and Johnson, R.C. (2012), "Value-Added Exchange Rates", NBER Working Paper, 18498.

Chinn, M. (2005), "A primer on real effective exchange rates: Determinants, overvaluation, trade flows and competitive devaluation", NBER Working Paper no 11521 (August).

Erumban et al. (2012), "The World Input-Output Database (WIOD): Contents, Sources and Methods", WIOD (April). Available at: http://www.wiod.org/publications/source_docs/WIOD_sources .pdf

Klau, M. and Fung, S.S. (2006), "The new BIS effective exchange rate indices", BIS Quarterly Review (March). Available at: http://www.bis.org/publ/qtrpdf/r_qt0603e.pdf

Loretan, M. (2005), "Indexes of the foreign exchange value of the dollar", Federal Reserve Bulletin (winter).

Saito, M., Ruta, M. and Turunen, J. (2013), "Trade interconnectedness: The world with global value chains", IMF (26 August). Available at: http://www.imf.org/external/np/pp/eng/2013/082613.pdf

Spilimbergo, A. and Vamvakidis, A. (2000), "Real effective exchange rate and the constant elasticity of substitution assumption", IMF Working Paper no 128 Washington DC (July).

พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์ ผู้บริหารทีม ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 2 ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน PornpinC@bot.or.th ธนภรณ์ หิรัญวงศ์ เศรษฐกรอาวุโส ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 2 ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน DhanapoH@bot.or.th กันตภณ ศรีชาติ เศรษฐกร ทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน 2 ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน KantapoS@bot.or.th

ผู้เขียนบทความขอขอบคุณ คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง และคุณณชา อนันต์โชติกุล สำหรับข้อคิดและคำปรึกษาในการเรียบเรียงบทความนี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ