แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 3, 2015 10:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 02/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ตามการลงทุนภาคเอกชนจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรยังขยายตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟอชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.14 ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 แต่ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการขยายตัวของยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายในห้างสรรพสินค้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนจากแรงงานนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวจากผลของผลผลิตและราคาที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังได้รับผลดีจากเงินช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรดีขึ้น สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 46.5 สอดคล้องกับรายได้ภาคบริการที่ขยายตัว

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากจากไตรมาสก่อน ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้น ทำให้การลงทุนภาคก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับแนวโน้มการลงทุน มีทิศทางดีขึ้น สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ เงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 1.8 เท่า จากอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มชูกำลังและน้ำตาลเป็นสำคัญ รวมถึงเงินลงทุนใน BOI ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหมวดบริการและสาธารณูปโภค หมวดเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟา

นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.9 โดยเร่งตัวขึ้นค่อนข้างสูงหลังจากที่หดตัวในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในโครงการของกรมชลประทานเป็นสำคัญขณะที่รายจ่ายประจำลดลงจากหมวดเงินเดือน เนื่องจากมีการโอนเงินเดือนจากส่วนกลางไปยังบัญชีเงินเดือนโดยตรง ส่งผลให้รายจ่ายโดยรวมยังคงหดตัว

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.0 และหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งด้านผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญ โดยผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงตามพื้นที่ปลูก ส่วนผลผลิตอ้อยโรงงานลดลงเพราะประสบปญหาภัยแล้ง และบางพื้นที่มีการระบาดของโรคใบขาว สำหรับราคาพืชสำคัญยังคงลดลง โดยราคาข้าว และยางพารา ลดลงตามแนวโน้มของราคาในตลาดโลก ขณะที่ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์เพื่อการส่งออกไปประเทศจีน และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประกอบกับผลผลิตลดลง สำหรับราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 จากที่หดตัวตั้งแต่ต้นปี 2556 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ขยายตัว เนื่องจากโรงงานบางแห่งกลับมาผลิตในระดับปกติ หลังจากที่มีการบริหารจัดการระบบคลังสินค้าในช่วงก่อนหน้า และเพื่อรองรับการบริโภคที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงเทศกาล สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการจากต่างประเทศที่มากขึ้น ส่วนการผลิตน้ำตาลขยายตัวจากความต้องการภายในประเทศเป็นสำคัญ

ภาคการเงินธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ฝากเงินหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 และขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสินเชื่อเงินหมุนเวียนที่ให้แก่ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกิจการโรงสีและสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนยังคงชะลอลงต่อเนื่อง สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามเงินฝากส่วนราชการของธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสินเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามสินเชื่อธนาคารออมสินเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟอทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.14 ชะลอลง จากไตรมาสก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่อเนื่อง จากการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเป็นสำคัญส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.88 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410 E-mail: [email protected]

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837

E-mail : [email protected]

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ