สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 3, 2015 10:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2557 หดตัวจากปีก่อน ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและการส่งออกลดลง ส่วนการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนตอนล่าง ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเร่งใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 20.1 จากผลทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 16.0 ตามราคายางที่ลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 ปี จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ยางโลกชะลอลงและราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ทำให้สต็อกอยู่ในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.3 ตามผลผลิตยางที่ลดลงในครึ่งปีหลังเนื่องจากราคา ไม่จูงใจให้กรีดประกอบกับพื้นที่ปลูกบางส่วนเกิดอุทกภัย ส่วนปาล์มน้ำมันลดลงตามวัฏจักรหลังจากที่ให้ผลผลิตมากในปีก่อน ทั้งนี้ กุ้งขาวที่เริ่มเห็นผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอจากร้อยละ 2.4 ในปีก่อน ตามการผลิตยาง น้ำมันปาล์มดิบและอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่ลดลงตามปริมาณตถุดิบ ขณะเดียวกันการผลิตไม้ยางพาราชะลอลงมากตามการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน อย่างไร ก็ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ส่วนการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นมากจากความต้องการของตลาดตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการผลิตถุงมือยางเร่งตัวจากความต้องการจากสหภาพยุโรป

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าหดตัวจากปีก่อน โดยการส่งออกลดลงร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าหลักยางพารามีมูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 26.8 ขณะที่การส่งออกถุงมือยาง สัตว์น้ำและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.6 ตามการนำเข้าที่ลดลงของเครื่องจักรอุปกรณ์ อุปกรณ์ก่อสร้างและสัตว์น้ำ

การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ชะลอจากร้อยละ 18.9 ในปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ชายแดนจังหวัดสงขลา ส่งผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหลักชาวมาเลเซียลดลงร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจีนเริ่มประกาศใช้กฎคุมเข้มทัวร์ศูนย์เหรียญตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556

ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงต้นปีกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ประกอบกับราคายางซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดขายปลีกขายส่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.8 ชะลอจากร้อยละ 9.4 ในปีก่อน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำทั้งปี ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.3 โดยเฉพาะการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นการสร้างตามยอดจองในปีก่อน เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างซบเซา นอกจากนี้การลงทุนสินค้าทุนลดลง สะท้อนจากรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและการนำเข้าสินค้าทุนลดลง

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 1.7 เป็นผลจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ อปท. โดยตรง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการจ่ายเงินเดือนโดยตรงให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดีจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐทำให้การเบิกรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอจากร้อยละ 4.0 ในปีก่อน

ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและสถาบันการเงินเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อมากขึ้น ทำให้เงินให้สินเชื่อขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ชะลอจากร้อยละ 16.6 ในปีก่อน โดยชะลอทั้งจากสินเชื่อธุรกิจและอุปโภคบริโภค

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.21 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.22 ปีก่อน จากราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ

คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมาก เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันมาตรการภาครัฐ อาทิ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ การผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงรุกและการขยายเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะเอื้อต่อการลงทุน นอกจากนี้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน รัสเซียและสหภาพยุโรปซึ่งอาจส่งผลต่อการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ มาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้า และการแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716 E-mail : Arunyas@bot.or.th

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837

E-mail : NanoAppFID@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ