แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 27, 2015 13:42 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2558

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2558 ภาพรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แรงขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวในเกณฑ์ดี รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และรายได้นอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำด้านผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวทั้งสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐในเดือนนี้ลดลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังลดลง โดยส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อลดลง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามการว่างงานในภาคเกษตรและก่อสร้าง ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมี ดังนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นบ้างในเดือนนี้ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยส่วนสำคัญมาจากการจับจ่ายใช้สอยจาก นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่น รายได้นอกภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อกำลังซื้อของประชาชนขึ้นบ้าง สะท้อนจากสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวดีอย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าหมวดยานยนต์ยังซบเซา ครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าคงทน ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์สูงจากระยะเดียวกันปีก่อน และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน สังเกตได้จากมีการเปิดเที่ยวบินตรงจากเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลีและอาเซียนเป็นหลัก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน

รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4 ตามผลผลิตสินค้าเกษตร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตมันสำปะหลัง หอมหัวใหญ่และกระเทียม เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและพัฒนาคุณภาพ ทำให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ประกอบกับผลผลิตปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรและไก่พันธุ์เนื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านราคาสินค้าเกษตร ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนเพียงร้อยละ 0.9 สินค้าเกษตรที่ราคายังลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ถั่วเหลือง และราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่พันธุ์เนื้อและไข่ไก่ แต่ราคาข้าวโพด และสับปะรดโรงงานเพิ่มขึ้น

ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.9 จากการเร่งผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติควบคุมและอัตราภาษีใหม่ ประกอบกับการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวดีตามความต้องการของตลาดกลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย ในสินค้าประเภทชิ้นส่วนเลนส์กล้องถ่ายภาพ เครื่องใช้เซรามิกบนโต๊ะอาหารและผลิตภัณฑ์จากไม้ แต่สินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแปรรูปอาหารยังลดลง

การส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 โดยได้รับอานิสงค์หลักจากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาร์และลาว ประกอบกับการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดสิงค์โปร์ ฮ่องกง เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้า ลดลงร้อยละ 17.3 ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออกประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ซึ่งมีการนำเข้ามามากแล้วในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวช้า ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.9 ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ภาคธุรกิจรอดูท่าทีในการลงทุนใหม่ สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

ส่วนแรงขับเคลื่อนที่มาจาการเบิกจ่ายภาครัฐ แผ่วลงมาก ทั้งการเบิกจ่ายงบประจำและลงทุนที่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.1 และ 11.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนเงินอุดหนุนทั้งที่เป็นรายจ่ายประจำและลงทุนให้กับท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาจำนวนมากในปีก่อน ประกอบกับการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการโดยไม่ผ่านระบบงานของคลังจังหวัด อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายจากหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงและก่อสร้างของกรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและกรมทรัพยากรน้ำ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ ในเดือนนี้โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี ตามการปรับลดของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากแรงงานภาคเกษตรและก่อสร้าง

ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 มียอดคงค้าง 603,335 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนถอนเงินฝากไปลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับการแข่งขันระดมเงินฝากพิเศษผ่อนคลายลงจากช่วงก่อนหน้า ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 595,647 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยยังมีการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต พาณิชย์ การก่อสร้างและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน รวมทั้งสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังหดตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ