สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 29, 2006 17:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เดือนสิงหาคม 2549 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาคเกษตรกรรม ราคาข้าวเปลือกยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวเหนียว ในขณะที่ราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงภาคนอกเกษตร การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวตามการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน การจัดเก็บภาษีอากรในภาคฯ ชะลอตัวอย่างไรก็ตาม เงินฝากและสินเชื่อยังขยายตัว การค้าชายแดนขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านลาวและกัมพูชา อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.5
1. ภาคเกษตรกรรม ราคาข้าวเปลือกยังสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเหนียว โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 9,301 บาท สูงขึ้นร้อยละ 51.6 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการจากตลาด ประเทศจีนเพิ่มขึ้น ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 9,139 บาท สูงขึ้นร้อยละ 16.1 เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาหัวมันสำปะหลังเฉลยกิโลกรัมละ 1.04 บาท ลดลงร้อยละ 23.5 เนื่องจากคุณภาพหัวมันเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ลานมันเส้น ความต้องการชะลอลง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.88 บาท ลดลงร้อยละ 25.8 เป็นผลจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และมีความชื้นสูง
2. ภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัว โดยอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง โดยเฉพาะลานมันเส้นยังผลิตได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากอุปสรรคจากฝน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มขยายตัวตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
3. การใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะการจดทะเบียนรถทุกประเภทลดลงต่อเนื่อง การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2,399 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 4,848 คัน และรถจักรยานยนต์ 41,572 คัน ลดลงร้อยละ7.5 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 591.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 (เดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0) สำหรับการใช้ไฟฟ้า เพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว ดูจากการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยทุนจดทะเบียนบริษัทจำกัด 246.0 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด 241.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.7 และร้อยละ 30.0 ประเภทของธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนลดลงมาก ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง-ขายปลีก ในส่วนพื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและ เทศบาลนคร 187,690.9 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน มีเงินลงทุน 8,500.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เนื่องจากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อผลิต กระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว ใช้เงินลงทุนสูงถึง 7,300 ล้านบาท แต่นอกจากนั้นเป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก
5. การค้าชายแดน ภาวะการค้าชายแดนลาวและกัมพูชายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว 2,444.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 มูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา 3,033.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 สินค้าส่งออกของไทยที่ลาวและกัมพูชาต้องการ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้านำเข้าจากลาว ได้แก่ สินแร่ทองแดง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และพืชไร่ (ถั่วลิสง กระเทียม) ขณะที่สินค้านำเข้าจากกัมพูชาได้แก่ พืชไร่ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริกแห้ง พริกไทย) วัสดุที่ใช้แล้ว (เหล็ก กระดาษ ทองแดง)
6. ภาคการเงิน ณ สิ้นกรกฎาคม 2549 ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 328,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.3 สินเชื่อคงค้าง 287,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากจึงเป็นร้อยละ 87.7 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อการบริการ สินเชื่อการธนาคารและธุรกิจการเงิน ส่วนสินเชื่อที่มียอดคงค้างลดลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อ การค้าส่งและค้าปลีก
7. ภาคการคลัง เดือนนี้มีการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,978.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 โดยมีการจัดเก็บภาษีอากร 2,046.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 591.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 (เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงงานผลิตเบียร์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และธุรกิจจำหน่ายรถยนต์) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 924.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 ส่วนใหญ่เป็นภาษีสุรา 640.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 และการจัดเก็บอากรขาเข้า 7.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3
8. ภาคการจ้างงาน จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนสิงหาคม 2549 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงงานรวม 12.2 ล้านคน ผู้มีงานทำ 11.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.5ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 98.6 ในปีก่อน แรงงานในภาคเกษตรมีจำนวน 7.6 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนแรงงานนอกภาคเกษตร มีจำนวน 4.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมเดือนนี้ ภาวะการจ้างงานในภาคฯ พบว่า ตำแหน่งงานว่าง 4,671 อัตรา มีผู้สมัครงาน 5,420 คน โดยมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,764 คน ลดลงร้อยละ 50.1 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ ในส่วนแรงงานในภาคฯที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ 7,842 คน ลดลงร้อยละ 22.2 ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานยังประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์และกาตาร์
9. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.7 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.4 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ