สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 28, 2008 15:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกันยายน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งทางด้าน อุปทานและอุปสงค์ ด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผลชะลอลงตามผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพารา เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวและการประมงลดลง ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามรายได้เกษตรกร ส่วน การส่งออกขยายตัวและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณลดลง สำหรับดัชนี ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลง ส่วนด้านสินเชื่อและเงินฝากขยายตัว

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ขยายตัว แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยทางด้าน อุปทานชะลอลงทั้งผลผลิตพืชผลสำคัญ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ทางด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่สูงขึ้นเป็น สำคัญ ขณะเดียวกันการส่งออกขยายตัว ขณะที่การลงทุนชะลอลงโดยเฉพาะการก่อสร้าง ส่วน การเบิกจ่ายงบประมาณลดลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 45.0 ชะลอลงจาก เดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.3 โดยผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ตามปริมาณผลผลิต ปาล์มน้ำมันและยางพาราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ ด้านราคาพืชผลสำคัญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 ตามราคายางที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 เนื่องจากยังมีอุปสงค์จากต่างประเทศ

ประมงทะเล ปรับตัวลดลง จากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงและต้นทุนการทำประมงอยู่ใน ระดับสูง ให้เรือประมงส่วนหนึ่งหยุดทำการประมง ประกอบกับอินโดนีเซียเริ่มเข้มงวดให้มีการ นำสัตว์น้ำขึ้นแปรรูปก่อนที่จะส่งออก ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 21.7 และ 20.1 ตามลำดับ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงร้อยละ 5.4 เนื่องจากเกษตรกรชะลอการเลี้ยงจากต้นทุนการผลิตที่ สูงขึ้น และราคากุ้งตกต่ำ ทางด้านราคากุ้งในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อ กิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 131.60 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 13.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนปีก่อนเป็นช่วงที่ราคาต่ำสุด

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 62.4 ตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากการเพิ่มขึ้นของปาล์มน้ำมันและ ยางพารา ขณะเดียวกันราคาผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9

ส่วนการประมง ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ในไตรมาสนี้ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.2 และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ ผลกระทบจากต้นทุน ที่สูงขึ้น ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลในประเทศลดลง และการเข้มงวดในการทำประมงในน่านน้ำ ของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรบางส่วนชะลอการเพาะเลี้ยง เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น กอปรกับราคากุ้งที่ตกต่ำ ทำให้ผลผลิตกุ้งเมื่อ เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 7.8 ด้านราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.37 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.5

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากการผลิต อุตสาหกรรมยางที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมยางแท่ง น้ำยางข้น และยางแผ่นรมควัน มีปริมาณส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้จำนวน 92,691.6 เมตริกตัน 71,917.6 เมตริกตัน และ 48,161.9 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.3 11.6 และ 16.2 ตามลำดับ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง การผลิตเพิ่มขึ้นตาม ความต้องการ ซึ่งผู้บริโภคยอมรับราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดย มี ปริมาณส่งออก 11.0 พันเมตริกตันเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1ส่วนหนึ่งเป็นผล จากขยายตลาดไปตะวันออกกลาง สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบมีผลผลิตจำนวน 130,114.4 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.7 ตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นผลจาก อุตสาหกรรมเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในประเทศ การผลิตขยายตัว โดยอุตสาหกรรม ยาง มีปริมาณส่งออก จำนวน 662,804.0 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.8 ตามความต้องการของตลาดจีนเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการ ส่งออก 28,868.8 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกกุ้งไปตลาดญี่ปุ่น และยุโรป และอาหารบรรจุกระป๋อง 35,750.2 เมตริกตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 เป็นการขยายตัวใน ตลาดตะวันออกกลาง ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 400,735.7 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.7

3. การท่องเที่ยว ลดลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจ คนเข้าเมืองในภาคใต้ ประมาณ 180,726 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.1 เป็นการ ลดลงของนักท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตลดลง ร้อยละ 25.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ขณะที่จังหวัด สงขลามีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 แต่ชะลอลงจากอัตราเพิ่มร้อยละ 49.5 ในเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ภาวะท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ ประมาณ 712,868 คน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะ จังหวัดสงขลาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 เนื่องจากรัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีนักท่องเที่ยวลดลง โดยจังหวัด ภูเก็ต ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ ประเทศจีน ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการปิดสนามบิน ทำให้มีสายการบินยกเลิก เที่ยวบิน รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแถบเอเชียซึ่งมีความอ่อนไหวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีการอุปโภค บริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2 ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราเพิ่ม ร้อยละ 4.0ในเดือนก่อน โดยดัชนีในหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ตามการจดทะเบียน รถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งยางพาราและปาล์ม น้ำมัน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ขยายตัว เนื่องจากราคาพืชผลที่สำคัญอย่ในระดับสูงและ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือ ประชาชน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยเครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 ดัชนียานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

5. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการทางด้านภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุด รวมทั้งลดภาษีธุรกิจเฉพาะของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการมีความ เชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้การก่อสร้างขยายตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.9 ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ จำนวนรายและทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.3 และ 139.7 ตามลำดับ และในเดือนนี้ ไม่มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 การลงทุนโดยรวมชะลอลง โดยพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต ในเขตเทศบาลมีจำนวน 418,065 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล จำนวนรายและ เงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 และ 40.8 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนใน จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา และกิจการที่มีการจดทะเบียนมากเป็นกิจการรับเหมา ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร ส่วนโครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริม การลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เพียง 2 โครงการ เป็นกิจการโรงแรมและผลิตไบโอดีเซล

6. การจ้างงาน เดือนนี้มีผู้ได้รับการบรรจุงานจำนวน 3,632 อัตรา เพิ่มขึ้นจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.7 แต่ความต้องการจ้างงานลดลง โดยตำแหน่งงานว่างที่ ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้มีจำนวน 3,934 อัตรา ลดลงจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.5 ส่วนผู้สมัครงาน มีจำนวน 3,656 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปี ก่อนร้อยละ 16.1 สำหรับแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ณ สิ้นเดือนนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 584,340 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ตำแหน่งงานว่าง มีจำนวน10,789 อัตรา และมีผู้สมัครงาน 11,144 คน ลดลงไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.4 และ 14.1 ตามลำดับ ส่วนการบรรจุงาน มี จำนวน 11,046 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.3

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อของภาคใต้ในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ชะลอลงจาก ร้อยละ 8.3 ในเดือนก่อน โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 ตาม การเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง หมวดเนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร ผักและผลไม้ ขณะที่หมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของหมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งเป็นผลจาก ราคาน้ำมันที่ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับ ร้อยละ 4.7 ในเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 8.8 สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.2 และหมวดอื่น ๆ ที่ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ตามราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่งและการ สื่อสาร หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 4.9

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,776.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.4 แยกเป็นมูลค่าการ ส่งออก 1,176.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.9 ตามการเพิ่มขึ้น ของการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 599.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.8 เป็นผลจากการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วน อิเลคทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้มีทั้งสิ้น 5,694.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.3 เป็นมูลค่าการส่งออก จำนวน 3,688.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 39.1 ตามมูลค่า ส่งออกสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.5 ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 สัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.8 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 2,005.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 58.3 จากมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็งและเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.2 และ 67.4 ตามลำดับ

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มี จำนวน 10,541.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.3 เนื่องจากการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณลดลงเกือบทุกคลังจังหวัด โดยเฉพาะคลังจังหวัดยะลา และนครศรีธรรมราช ลดลง ร้อยละ 35.2 และร้อยละ 32.1 ตามลำดับ ส่วนภาษีอากรจัดเก็บได้ 2,774.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.2 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพากร ได้2,512.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.6 และภาษีศุลกากร 114.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 201.0 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.2 ตามการลดลงของภาษีหมวดสุรา และหมวดน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มีจำนวน 28,619.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 ผลจากเกือบทุกคลัง จังหวัดมีการเบิกจ่ายลดลง ส่วนทางด้านรายได้มีการจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 8,298.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.9 เป็นผลจากจัดเก็บภาษีสรรพากรได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรลดลงร้อยละ 10.1และ 1.2 ตามลำดับ

10. การเงิน เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ ณ สิ้นเดือน กันยายน 2551 คาดว่าจะมีจำนวน 427,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.0 ส่วนสินเชื่อมียอดคงค้างประมาณ 369,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อย ละ 14.8 ตามการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการอนุมัติมากขึ้น

ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เงินฝากขยายตัว เนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงินในประเทศ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้มีเงินออมกลับมาออมเงินในลักษณะเงินฝากกับระบบธนาคารมากขึ้น ทางด้านสินเชื่อขยายตัว ในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345

e-mail : pasuthar@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ