แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน 2551 และ 9 เดือน ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 15:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน 2551 ชะลอลงจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดยด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรชะลอตัวลงทั้งด้านผลผลิตและราคา การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ภาคบริการหดตัวเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอลง ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐลดลง การส่งออกชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าขยายตัว ดัชนีราคาผู้บริโภคชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลงต่อเนื่อง สำหรับเงินฝากและสินเชื่อยังขยายตัว

สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2551 เศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรเร่งตัวตามผลผลิตและราคาพืชสำคัญ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากความต้องการของต่างประเทศ ส่วนภาคบริการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยและความกังวลการเมือง ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงเนื่องจากภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายการลงทุนของภาคเอกชนยังหดตัวเนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก และสถานการณ์การเมือง ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวปีก่อน การส่งออก และนำเข้าขยายตัวดี ดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวตามราคาสินค้าและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ด้านเงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัว

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจมีดังนี้

1. ภาคเกษตร เดือนกันยายน 2551 เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายพืชสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 ชะลอลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาและผลผลิตที่ชะลอตัวลง โดยดัชนีราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 ตามราคาพืชสำคัญ แม้ชะลอลงตามราคาในตลาดโลกแต่นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์สูง ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.2 ราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0 และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 สำหรับดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 จากการเพิ่มขึ้นของ ข้าวนาปี ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรเพิ่มการผลิตตามแรงจูงใจด้านราคาประกอบกับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตลำไยลดลงร้อยละ 15.3 เพราะสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการติดดอกออกผลประกอบกับราคาในปีก่อนไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา

ช่วง 9 เดือนปี 2551 รายได้ของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 59.3 เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยดัชนีผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ่ผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 ร้อยละ 8.0 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ เนื่องจากราคาอยู่ในระดับสูงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ลำไยและหอมแดงลดลงร้อยละ 15.3 และร้อยละ 11.4 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้อและราคาของปีก่อนไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาด้านดัชนีราคาพืชสำคัญสูงขึ้นร้อยละ 44.6 เร่งตัวขึ้นตามราคาข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.7 ร้อยละ 9.1 ร้อยละ 62.4 และร้อยละ 19.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับลำไย มันสำปะหลัง หอมแดง มีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.0 ร้อยละ 75.7 และร้อยละ 194.2 ตามลำดับ ส่วนกระเทียมลดลงร้อยละ 48.8

2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.9 จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อนโดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ในเดือนก่อนตามการชะลอตัวของตลาดส่งออกจีนและสหรัฐอเมริกาในสินค้าประเภท ไดโอด ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ และตัวเก็บประจุ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรลดลงร้อยละ 30.7ตามการลดลงของลำไยอบแห้งเนื่องจากมีการผลิตเพื่อส่งออกมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผลผลิตผลไม้แช่แข็งลดลงตามการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ทางด้านการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและการเจียระไนเพชรลดลงตามความต้องการที่ชะลอลงของตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 3.1 จากการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดาและน้ำอัดลม ส่วนการผลิตวัสดุก่อสร้างยังคงลดลงตามการลงทุนก่อสร้างโดยเฉพาะในภาครัฐ ส่วนการผลิตเซรามิกเพื่อส่งออกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ช่วง 9 เดือน ปี 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.0 เป็นผลจากผลผลิตอุตสาหกรรมหลักของภาคเหนือที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิต/ประกอบชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ตามความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตสินค้าไอทีในต่างประเทศ อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรทัศน์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เซ็นเซอร์และจอ Navigator ในรถยนต์อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขยายตัวร้อยละ 14.7 จากการผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้งเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นและข้าวโพดหวานที่ขยายตัวดี เนื่องจากคู่แข่งประสบปัญหาด้านคุณภาพ การผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารขยายตัวดีตามการขยายตัวในตลาดยุโรป ทางด้านอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรขยายตัวในอัตราชะลอลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและความต้องการลดลง ส่วนการผลิตเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 12.6 เนื่องจากเสียส่วนแบ่งการตลาด ด้านการผลิตวัสดุก่อสร้างลดลงตามโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชนที่ลดลง

3. ภาคบริการ เดือนกันยายน 2551 หดตัวลงเนื่องจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติกังวลในสถานการณ์การเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงจากร้อยละ 41.6 ระยะเดียวกันปีก่อนเหลือเพียงร้อยละ37.3 จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 22.1 โดยส่วนหนึ่งจากการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินของสายการบิน สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0

ช่วง 9 เดือน ปี 2551 ภาคบริการชะลอตัวลงมากจากระยะเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ประกอบกับการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทย อย่างไรก็ดี กิจกรรมการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อภาคบริการ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.9 ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ส่วนกิจกรรมภาคบริการที่สำคัญลดลง ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 0.3 อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงจากร้อยละ 50.5 ระยะเดียวกันปีก่อนเหลือร้อยละ 49.1

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนกันยายน 2551 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวตามการระมัดระวังการใช้จ่าย โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.8 ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.6 โดยเพิ่มขึ้นทุกจังหวัดในภาคเหนือ เนื่องจากผู้ผลิตนำสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และผลดีจากเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์บางส่วนเป็นผลจากทางการพม่าผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนถือครองรถจักรยานยนต์เป็นการชั่วคราว ทำให้ผู้ส่งออกซื้อรถจักรยานยนต์จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศและจดทะเบียนเพิ่มขึ้น

ช่วง 9 เดือน ปี 2551 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคเหนือชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของทางการในการลดภาษี

สรรพสามิตแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 และร้อยละ 7.7 ตามลำดับ โดยรถยนต์เพิ่มขึ้นในประเภทกลุ่มที่ตอบสนองพลังงานทางเลือก E20 เป็นสำคัญ และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นประกอบด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ รายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น ทางการพม่าผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนถือครองรถจักรยานยนต์เป็นการชั่วคราว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้รถจักรยานยนต์จากภาวะน้ำมันแพง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ

5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนกันยายน 2551 ยังอยู่ในเกณฑ์ลดลง เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ อย่างไรก็ดี พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 ตามการขยายตัวของการขออนุญาตประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ในจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมี 4 โครงการ จำนวน 138.0 ล้านบาท ในโครงการเกี่ยวกับหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร 80.0 ล้านบาท หมวดบริการและสาธารณูปโภค 48.0 ล้านบาท และหมวดอุตสาหกรรมเบา 10.0 ล้านบาท

ช่วง 9 เดือนปี 2551 การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน สาเหตุสำคัญเนื่องจากนักลงทุนขาดความมั่นใจต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของทางการในการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและจำนองอสังหาริมทรัพย์จากอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เหลือเพียงร้อยละ 0.01 ทางด้านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.2 สำหรับเครื่องชี้ที่แสดงความสนใจการลงทุนด้านก่อสร้าง ปรากฎว่าพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 โดยขยายตัวในประเภทบริการและขนส่งเป็นสำคัญ ในขณะที่ประเภทเพื่อการพาณิชย์ขยายตัวในจังหวัดหลักของภาคเหนือตอนบน

6. การค้าต่างประเทศ เดือนกันยายน 2551 การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 240.9ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 14.0 ในเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เพชรเจียระไนและเครื่องประดับ ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนมีมูลค่า 73.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 30.3 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน เป็นผลจากการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.5 เนื่องจากทางการพม่าผ่อนปรนความเข้มงวดการนำเข้า ประกอบกับอนุญาตและลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เป็นการชั่วคราว และการส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.7 ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 19.8

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 142.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ตามการขยายตัวของการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน ในส่วนของการนำเข้าทองคำเพื่อใช้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 13.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 21.8 เดือนก่อน จากการลดลงของเพชรเพื่อเจียระไนเป็นสำคัญ ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนมีมูลค่า 10.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 โดยเพิ่มขึ้นทั้งการนำเข้าจากพม่า ลาว และจีนตอนใต้ในอัตราร้อยละ 19.7 ร้อยละ 9.1 และร้อยละ 87.4 ตามลำดับ ในสินค้าสำคัญได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ ผักสด และดอกไม้เพลิง

ดุลการค้า ในเดือนกันยายน 2551 เกินดุล 98.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 104.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 134.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับช่วง 9 เดือน ปี 25501 มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.8 เป็น 3,469.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยการส่งออกมีมูลค่า 2,180.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้าสำเร็จรูป เพชรเจียระไนและเครื่องประดับ เลนส์กล้องถ่ายรูป ชิ้นส่วนเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง ในตลาดส่งออกที่สำคัญ อาทิ สิงคโปร์และฮ่องกง ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.6 ตามการลดลงของลำไยอบแห้ง ผลไม้สด/ผักสดแช่แข็งและอบแห้ง ด้านการส่งออกผ่านด่านศุลกากรชายแดนมีมูลค่า 695.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.0 เป็นผลจากการส่งออกไปพม่าและลาวที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70.4 และร้อยละ 53.1 เป็น 578.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 42.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ ตามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นสูงโดยเฉพาะในไตรมาส 2 ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 22.3 เหลือ 75.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากสินค้ายางแผ่นรมควันที่ลดลง

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวตามการส่งออก โดยมีมูลค่า 1,288.3 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 จากการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ตามความต้องการใช้วัตถุดิบในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่เพิ่มขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเพื่อเจียระไน เคมีภัณฑ์และพลาสติก ด้านการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ตามการนำเข้าส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้าของอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทางด้านการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนมีมูลค่า 75.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ตามการนำเข้าจากจีนตอนใต้และลาวที่ขยายตัวร้อยละ 42.9 และ 17.1 ตามลำดับ โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผัก/ผลไม้สด ถ่านหินลิกไนต์ ส่วนการนำเข้าจากพม่าลดลงร้อยละ 15.3 เนื่องจากประสบปัญหาภัยธรรมชาติในช่วงกลางปี

ดุลการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือช่วง 9 เดือน ปี 2551 เกินดุล 892.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 842.9 ล้านดอลลาร์ สรอ.

7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาคเหนือ เดือนกันยายน 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 12,849.4 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 โดยรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 33.8 โดยเฉพาะในส่วนของที่ดิน/สิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 21.5 เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ด้านรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเงินเดือนเนื่องจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ส่วนค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุและค่าสาธารณูปโภค ลดลง

ช่วง 9 เดือนปี 2551 ภาครัฐมีการเบิกจ่ายผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือรวม 120,078.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 ระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 10.2 ตามหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และค่าครุภัณฑ์ ที่ลดลงร้อยละ 11.4 ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับเนื่องจากปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2550 ล่าช้ากว่ากำหนด จึงมีการเร่งเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังปี 2550 ส่วนด้านรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานส่วนราชการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และร้อยละ 14.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุและค่าสาธารณูปโภค ลดลง

8. ระดับราคา เดือนกันยายน 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการลดลงของราคาน้ำมันและมาตรการของรัฐบาลเป็นสำคัญ ทำให้ราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลง ส่วนราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 18.8 เพิ่มขึ้นตามราคาข้าว เนื้อสัตว์ และผักสดแปรรูปด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อน

ช่วง 9 เดือนปี 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในภาคเหนือช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นร้อยละ 7.9 เป็นผลจากการเร่งตัวของราคาน้ำมันและอาหารเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค พื้นฐานช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.6

9. การจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานในภาคเหนือของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนสิงหาคม 2551 มีกำลังแรงงานรวมจำนวน 7.151 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.084 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีงานทำเท่ากับร้อยละ 99.1 สงูกว่าร้อยละ 98.7 ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในภาคเกษตรการจ้างงานขยายตัวร้อยละ 8.8 ตามความต้องการแรงงานในช่วง ฤดกูลเกษตร สำหรับนอกภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในสาขาการก่อสร้าง ร้อยละ 29.3 และการค้าปลีก/ส่งร้อยละ 1.2 ในด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.061 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.9 ต่ำกว่าร้อยละ 1.1 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ในเดือนกันยายน 2551 มีจำนวน 0.600 ล้านคน สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3

10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 มีทั้งสิ้น 358,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 เนื่องจากการแข่งขันระดมเงินฝากโดยเฉพาะเงินฝากประเภท ประจำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.7 โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และเชียงราย ส่วนเงินฝากประเภท กระแสรายวันและออมทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.2 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 301,517 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 โดยเพิ่มขึ้นมากในสินเชื่อประเภทธุรกิจค้าพืชไร่ที่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 85.6 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 80.7 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร 0 5393 1162

E-mail: thaveesc@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ