เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมีนาคม และไตรมาสแรก ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 4, 2009 17:25 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมีนาคม 2552 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยรายได้ ด้านอุปทานเกษตรกรลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทางด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องแต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งในการลงทุนภาคก่อสร้างและการลงทุนเครื่องจักร การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายในหมวดลงทุน ส่วนการส่งออกและนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง ระดับราคาผู้บริโภคชะลอลง เงินฝากและเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลง

ไตรมาสแรกปี 2552 เศรษฐกิจการเงินภาคเหนือหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน ด้านอุปทานรายได้เกษตรกรลดลงตามการหดตัวของผลผลิตพืชหลัก การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกและส่งผลให้ภาคบริการหดตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทางด้านอุปสงค์การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนในการลงทุนภาคก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวตามหมวดรายจ่ายด้านลงทุน การส่งออกและการนำเข้าหดตัว ระดับราคาชะลอลงจากไตรมาสก่อน เงินฝากและเงินให้สินเชื่อชะลอลง

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร เดือนมีนาคม 2552 รายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปี ก่อนที่รายได้ของเกษตรกรขยายตัวสูงมากตามราคาพืชสำคัญในตลาดโลก ทำให้รายได้ของเกษตรกรหดตัวร้อยละ 3.4 ต่อเนื่องจาก เดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตพืชหลักหดตัวร้อยละ 4.1 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงร้อยละ 12.9 จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำไม่เอื้ออำนวยเช่นปีก่อน ประกอบกับอ้อยโรงงาน สับปะรด และหอมหัวใหญ่ ลดลงร้อยละ 4.7 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ขณะที่มันสำปะหลังผลผลิตมากขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เนื่องจากราคาปีก่อนจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก สำหรับดัชนีราคาพืชผลสำคัญขยายตัวเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 จากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังและอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ส่วนหอมหัวใหญ่มีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลัง หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงร้อยละ 50.0 ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 23.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตที่มีมากจากปีเพาะปลูกก่อนหน้า

ไตรมาสแรก ปี 2552 รายได้ของเกษตรกรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับที่เพิ่มสูงมากถึงร้อยละ 34.7 ในช่วงเดียวกันปีก่อนจากราคาพืชสำคัญที่สูงขึ้นมากตามราคาในตลาดโลกเนื่องจากมีความกังวลในเรื่องวิกฤตการณ์ อาหารโลก โดยดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ 1.8 จากอ้อยโรงงานและสับปะรดที่ลดลงร้อยละ 4.7 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่คาดว่าได้รับผลตอบแทนดีกว่า อาทิ มันสำปะหลัง ประกอบกับข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 12.9 เป็นผลจากปริมาณน้ำตามธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยและได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดในช่วงปลายปี 2551 ถึงต้นปี 2552 อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลัง หอมแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ เนื่องจากราคาของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่ดัชนีราคาพืชผลหลักขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.7 จากราคาอ้อยโรงงาน ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง และข้าวเปลือกเจ้านาปีที่สูงขึ้นร้อยละ 7.0 ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 30.8 ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่ราคามันสำปะหลัง หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 47.7 ร้อยละ 50.9 และร้อยละ 19.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาของปีก่อนที่ขยายตัวสูงและความต้องการที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

2. ภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 39.7 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 38.5 อย่างไรก็ดี การผลิตมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อขจัดฤดูกาลหดตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 10.2 เดือนก่อน การผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 60.2 เป็นผลจากการหยุดสายการผลิตของส่วนประกอบ Hard Disk Drive เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนจากการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจและสินค้าคงคลังของลูกค้าที่เริ่มลดลง ทางด้านอุตสาหกรรมอาหารหดตัวตามการลดลงของการผลิตน้ำตาล ผลไม้สด แช่แข็ง และข้าวโพดกระป๋องที่ลดลงมากในตลาดยุโรป การผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 20.9 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมเจียระไนอัญมณียังคงไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องดื่มขยายตัวเป็นผลจากการผลิตน้ำอัดลมและสุราที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต เบียร์ และสุรา

ไตรมาสแรก ปี 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 37.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 19.4 ไตรมาสก่อน การผลิตลดลงในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หดตัวกว่าร้อยละ 55.2 เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่หดตัวมากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยการผลิตลดลงในทุกประเภทสินค้า เช่น แผงวงจร ไอซี และทรานฟอร์มเมอร์ เป็นต้น อุตสาหกรรมอาหารหดตัวร้อยละ 15.3 ตามการลดลงของการผลิตผลไม้สดแช่แข็ง และข้าวโพดกระป๋องตามความต้องการที่ชะลอลงในยุโรปเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน การผลิตวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ 9.5 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 19.5 ในไตรมาสก่อน ส่วนการผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารหดตัวร้อยละ 20.4 ตามความต้องการที่ลดลงในตลาดสำคัญทั้งยุโรป และอเมริกา ด้านการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 24.5 ตามการผลิตเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายและเสื้อผ้าชนิดอื่น ๆ

3. ภาคบริการ เดือนมีนาคม 252 อยู่ในเกณฑ์ลดลง ตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ประกอบกับ ผลกระทบปัญหาหมอกควันในบางจังหวัดของภาคเหนือและความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 21.5 โดยในจังหวัดเชียงใหม่ที่หดตัวถึงร้อยละ 26.9 จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 19.4 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยลดลงในทุกท่าอากาศยาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเลิก/ลดเที่ยวบินของบางสายการบิน ด้านอัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเหนืออยู่ที่ร้อยละ 44.0 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบปัญหาหมอกควันเป็นสำคัญ สำหรับราคาห้องพักโดยเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ไตรมาสแรกปี 2552 ภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว อีกทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 14.2 ลดลงมากในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ และเชียงราย ด้านจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 17.9 โดยลดลงในทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ ส่วนอัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงอยู่ที่ร้อยละ 60.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนมีนาคม 2552 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจาก เดือนก่อนตามกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงาน โดยเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญได้แก่ ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวร้อยละ 3.2 ลดลงมากในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า คงทน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ 16.3 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ

ไตรมาสแรก ปี 2552 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์หดตัว โดยประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับมีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องและภาวะการจ้างงาน โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 15.6 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากความเข้มงวดในการพิจารณาให้สินเชื่อของผู้ประกอบการ ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ลดลงตามผลผลิตพืชสำคัญที่หดตัว

5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนมีนาคม 2552 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากความวิตกกังวลใน ผลกระทบภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ดีการลงทุนด้านก่อสร้างเริ่มีสัญญาณปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 7.3 ในเดือนก่อน อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยขยายตัวทั้งจำนวนรายและจำนวนเงินของการทำธุรกรรม อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไม่ทราบข่าวการเลื่อนมาตรการลดภาษีไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 253 ทำให้มีการเร่งทำธุรกรรม ด้านพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.2 ลดลงมากในประเภทโรงแรมและหอพัก เป็นสำคัญ ส่วนแนวโน้มการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 344.6 จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 562.0 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเภทการผลิตซอฟแวร์ อลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ไตรมาสแรก ปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่ลดลงจากความวิตกกังวลของการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนด้านก่อสร้างสะท้อน จากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาษีโอนที่ดิน ขณะที่จำนวนรายที่ทำธุรกรรมขยายตัวร้อยละ 28.3 ด้านเครื่องชี้ที่แสดงถึงความสนใจในการลงทุนในระยะต่อไป ประเภทพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลหดตัวจากระยะเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 35.4 ตามการลดลงของการขออนุญาตก่อสร้างประเภทเพื่อที่อยู่อาศัย บริการและขนส่ง เป็นสำคัญ สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 859.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ รองลงมาได้แก่หมวดผลิตภัณฑ์กระดาษและพลาสติก และหมวดอิเล็กทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้า ตามลำดับ

6. การค้าต่างประเทศ เดือนมีนาคม 2552 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ลดลง โดยผ่านด่านศุลกากรในการส่งออกภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.0 เหลือ 159.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัว ร้อยละ 42.0 เดือนก่อน เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 24.2 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 30.9 ในเดือนก่อน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.2 ตามการลดลงของการส่งออกผลไม้สดและแช่แข็ง การส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 11.8 เป็น 92.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการส่งออกไปพม่าและลาวที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 และร้อยละ 30.2 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 25.3 ตามการลดลงของยางแผ่นรมควัน

การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 43.1 เหลือ 72.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 60.0 ในเดือนก่อน ตามการปรับตัวดีขึ้นของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวร้อยละ 52.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 68.6 เดือนก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแก้วที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรกล การนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 22.4 เป็น 10.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากพม่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 ส่วนการนำเข้าจากลาวและจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 29.6 ตามลำดับ

ดุลการค้า ในเดือนมีนาคม 2552 เกินดุล 86.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 118.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 83.0 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ไตรมาสแรก ปี 2552 มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 42.0 เหลือ 621.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงทั้งการส่งออกและนำเข้า เนื่องจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัว การส่งออกร้อยละ 37.2 เหลือ 432.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 14.7 ในไตรมาสก่อน โดยการส่งออกลดลงตลอดช่วงไตรมาส เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 27.8 จากสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า ไอซี และไดโอด อีกทั้งการส่งออกเพชรเจียระไนและเครื่องประดับลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีการส่งออก ผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 0.3 เป็น 220.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 9.6 ไตรมาสก่อน ตามการส่งออกไปพม่าและลาวที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 1.9 และ ร้อยละ 17.7 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 23.1 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการส่งออกยางแผ่นรมควันที่ลดลง

การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 50.6 เหลือ 189.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับที่ หดตัวร้อยละ 17.1 ไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวกว่าร้อยละ 60.0 โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเพชรเพื่อเจียระไน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภค และบริโภคหดตัวร้อยละ 29.5 ตามการลดลงของการนำเข้าผักผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เป็น 26.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ตามการนำเข้าจากลาวและจีนตอนใต้ที่หดตัวร้อยละ 24.5 และร้อยละ 28.6 ตามลำดับ จากการนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ และผักผลไม้ที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าจากพม่าที่ขยายตัวร้อยละ 46.0

ดุลการค้า ไตรมาสแรก ปี 2552 เกินดุล 242.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนที่เกินดุล 304.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 278.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ตามลำดับ

7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือเดือนมีนาคม 2552 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 12,84.1 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.5 โดยรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 3,921.6 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.7 ตามการเร่งเบิกจ่ายในหมวดที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้มีการเร่งเบิกจ่ายเงินมากที่จังหวัดอุทัยธานี ตาก ลำปาง และพะเยา ส่วนรายจ่ายประจำมีจำนวน 8,962.5 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.3 ตามการเบิกจ่ายเงินในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่หดตัวร้อยละ 33.3 ขณะที่การเบิกจ่ายในงบบุคลากรและงบดำเนินงานยังขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 และร้อยละ 15.9 ตามลำดับ

ไตรมาสแรก ปี 2552 มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ จำนวน 48,077.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.5 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายงบลงทุนขยายตัวร้อยละ 36.4 เนื่องจากส่วนราชการได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2552 เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปในส่วนที่เป็นงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มากขึ้น ทั้งนี้จังหวัดที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นมากได้แก่ จังหวัดตาก อุทัยธานี และพะเยา ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 26,387.3 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปในส่วนที่เป็นงบประจำหดตัวถึงร้อยละ 21.7 โดยเป็นค่าวัสดุ ประเภทนม อาหารกลางวันเด็กนักเรียน ค่าใช้สอย ประเภทค่าใช้จ่ายเดินทาง และค่าสาธารณูปโภค ประเภทค่าน้ำประปาและค่าไฟ ทั้งนี้เนื่องจากมีการเบิกจ่ายในไตรมาสก่อนสูงมากแล้ว โดยในไตรมาส 4 ปี 2551 การเบิกจ่ายงบประมาณแก่ อปท. ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 55.9

8. ระดับราคา เดือนมีนาคม 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อยละ 11.6 ตามราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง หมวดผักและผลไม้ที่สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.3 และร้อยละ 12.9 ตามลำดับ สำหรับหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 7.3 โดยหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 22.5 ราคาสินค้าหมวดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาลดลงร้อยละ 35.9 และร้อยละ 34.0 ตามลำดับ เป็นผลจากการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือนของทางการ ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 เท่ากับเดือนก่อน

ไตรมาสแรก ปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2 ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ผักและผลไม้ ร้อยละ 10.7 ตามลำดับ ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 7.7 ตามการลดลงของราคาน้ำมันและผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเฉลี่ยไตรมาสแรกปี 2552 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.7

9. การจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเพียงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กำลังแรงงานรวมของภาคเหนือมีจำนวน 7.0 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เป็นผลจากความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลเกษตร ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากการจ้างงานในสาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิต และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 ร้อยละ 13.3 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.13 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.8 ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มียอดคงค้าง ทั้งสิ้น 384,500 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.9 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากของส่วนราชการ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย และพะเยา ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 300,067 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการชำระตั๋วเงินของธุรกิจประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ โรงสีข้าว ค้าพืชไร่ และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง โดยสินเชื่อลดลงมากที่จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก และพิจิตร สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 78.0 ลดลงจากร้อยละ 81.2 ในระยะเดียวกันของปีก่อน

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสุรินทร์ อินต๊ะชุ่ม โทร 0 5393 1166

e-mail: surini@bot.o r.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ