การผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการทำธุรกรรมอนุพันธ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2009 13:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ของผู้ลงทุนและบุคคลในประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศของผู้ลงทุนและบุคคลในประเทศมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. เพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบัน โดยอนุญาตให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยซึ่งมีสินทรัพย์ตามงบดุลตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และมีธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตหรือประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการ สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ด้วยตนเอง ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อราย จากเดิมที่อนุญาตให้ลงทุนได้เองเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง

ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถแจ้งความประสงค์การลงทุนในตราสารในต่างประเทศต่อ ธปท. ตามแบบที่เผยแพร่ใน www.bot.or.th ภายใต้หัวข้อ ระเบียบหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน/แบบรายงาน/บุคคลทั่วไป

2. ขยายขอบเขตให้ผู้ลงทุนสถาบันทำธุรกรรมเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เพื่อการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน

2.1 ธุรกรรมอนุพันธ์ (Derivatives) อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ราคาตราสารหนี้ ราคาตราสารทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และดัชนีทางการเงินต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การทำอนุพันธ์อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับเงินบาท ผู้ลงทุนต้องทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น

2.2 ธุรกรรมยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Securities Borrowing and Lending : SBL )

2.3 ธุรกรรมขายหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยมีสัญญาจะซื้อคืน และธุรกรรมซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยมีสัญญาจะขายคืน (Repo และ Reverse Repo)

3. ขยายขอบเขตให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทที่ต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.ในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล โดย ธปท.จะอนุญาตให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น ดังนี้

3.1 ให้บุคคลทั่วไปที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อขายในตลาด (Exchange Traded Derivatives) เพื่อการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

3.2 ให้กองทุนส่วนบุคคลทำธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศ SBL Repo และ Reverse Repo ได้ในกรอบเดียวกับผู้ลงทุนสถาบัน

ทั้งนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนส่วนบุคคล ที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไปก่อนหน้านี้ ธปท. จะมีหนังสืออนุญาตเพิ่มเติม ให้ต่อไป

4. ผ่อนผันหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบุคคลในประเทศกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ดังนี้

4.1 กรณีค่าสินค้าหรือบริการให้ทำธุรกรรมอนุพันธ์จากประมาณการได้ไม่เกินมูลค่าสินค้าหรือบริการภายใน 1 ปี

4.2 การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศข้ามสกุล (Cross Currency)

4.3 กรณียกเลิก (Unwind) ธุรกรรมอนุพันธ์ได้เพิ่มเติม เช่น เงินตราต่างประเทศที่ไม่รับมอบหรือส่งมอบตามอนุพันธ์ที่มีจำนวนต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ สรอ. เป็นต้น

5. ขยายขอบเขตให้บุคคลในประเทศทำธุรกรรมอนุพันธ์ ธุรกรรมเงินฝาก หรือเงินกู้ยืม ที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงตัวแปรต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินบาทกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เช่น ธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิงดอกเบี้ยต่างประเทศ ธุรกรรมเงินฝาก หรือเงินกู้ยืมที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือเงินตราต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินบาท เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเรียกดูประกาศและหนังสือเวียนเกี่ยวกับการผ่อนคลายระเบียบการลงทุนและการทำธุรกรรมดังกล่าวข้างต้นได้จากwww.bot.or.th ภายใต้เรื่องใหม่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในเวลาทำการได้จาก Call center โทร. 0-2356-7799 หรือโทร. 0-2283-6000 ในระหว่างวันที่ 5 — 31 สิงหาคม 2552

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ