เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2552 และครึ่งแรก ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2009 14:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนมิถุนายน 2552 อยู่ในเกณฑ์หดตัว แต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบางประเภท การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ได้ผลดีจากรายได้เกษตรที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งมีความสนใจลงทุนด้านก่อสร้างของภาคเอกชนในจังหวัดสำคัญของภาคขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัด การส่งออกและนำเข้ายังลดลง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหดตัวเป็นเดือนที่ 3 สำหรับเงินฝากเร่งตัวแต่เงินให้สินเชื่อลดลง

ครึ่งแรก ปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือหดตัวลงมากโดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ อัญมณีและเลนส์ ลดลงมาก และส่งผลให้ภาคบริการหดตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ในไตรมาสสองมีสัญญาณปรับตัวที่ดีขึ้นจากคำสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเพิ่มขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าในต่างประเทศลดลง และทำให้ไม่มีการเลิกจ้างแรงงานและรับแรงงานกลับมาในอุตสาหกรรมดังกล่าวนอกจากนั้นการเร่งเบิกจ่ายและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรายได้เกษตรกรซึ่งแม้ว่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนแต่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงก็มีส่วนพยุงกำลังซื้อ สำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าหดตัว ส่วนด้านการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากโรคระบาด เงินเฟ้อลดลงจากฐานของระยะเดียวกันปีก่อนสูง ทางด้านเงินให้สินเชื่อหดตัวส่วนเงินฝากเร่งตัว

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร เดือนมิถุนายน 2552 รายได้ของเกษตรกรหดตัวร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวสูงมาก โดยดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัวร้อยละ 17.0 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลงร้อยละ 14.8 และร้อยละ 20.2 ตามลำดับ จากฐานราคาของเดือนเดียวกันปีก่อนสูงเป็นสำคัญ ประกอบกับราคาลิ้นจี่ลดลงเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี ราคาสับปะรดและกระเทียมสูงขึ้นเพราะผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชหลักหดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตก่อนหน้าที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลผลิตสับปะรดและกระเทียมลดลงร้อยละ 12.6 และร้อยละ 16.4 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชผักอื่น ส่วนผลผลิตลิ้นจี่ หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับตามผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

ครึ่งแรก ปี 2552 เกษตรกรมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 52.1 โดยดัชนีราคาพืชหลักหดตัวร้อยละ 5.5 จากการลดลงของราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง มันสำปะหลังข้าวเปลือกเจ้านาปี หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ลดลงร้อยละ 10.7 ร้อยละ 50.7 ร้อยละ 3.4 ร้อยละ 43.0 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ เป็นผลจากฐานราคาระยะเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ ส่วนราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาอ้อยขั้นต้น ขณะที่กระเทียมราคาสูงขึ้นร้อยละ 37.8 เพราะปริมาณผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงร้อยละ 0.6 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงร้อยละ 5.3 เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของข้าวลดลงจากสภาพอากาศที่เย็นจัดในช่วงปลายปี 2551 และต้นปี 2552 สำหรับผลผลิตกระเทียมลดลงร้อยละ 16.4 จากเกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชผักอื่นที่คาดว่าได้รับผลตอบแทนดีกว่า ส่วนผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวนาปี หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ร้อยละ 35.4 ร้อยละ 1.8 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยประกอบกับราคาของปีก่อนจูงใจให้เกษตรบำรุงดูแลทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้หดตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.5 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 33.3 เดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงร้อยละ 31.1 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 42.9 เดือนก่อน โดยการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะชิ้นส่วนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เช่น ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ และไดโอด ตามความต้องการของผู้บริโภค ด้านการผลิตเครื่องดื่มลดลงทั้งการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ การผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อการส่งออกหดตัวร้อยละ 31.0 เนื่องจากความต้องการในตลาดยุโรปลดลง ด้านการผลิตเครื่องแต่งกายลดลงร้อยละ 33.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 51.4 เดือนก่อน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวในเดือนก่อนจากอุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผักเพื่อส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัว สำหรับการผลิตวัสดุก่อสร้างขยายตัวส่วนหนึ่งจากความต้องการเพื่อส่งออกไปยังประเทศพม่าและลาว

ครึ่งแรก ปี 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวมากในอุตสาหกรรมส่งออกชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เลนส์ อัญมณี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก จากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 2 คำสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวดีขึ้น เพื่อชดเชยสต๊อกสินค้าคงคลังของผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในต่างประเทศซึ่งงวดลงมาก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตช้นิ ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในครึ่งแรกปีนี้ยัง ลดลงร้อยละ 49.8 โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ ไอซี และทรานฟอร์มเมอร์ ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีลดลงร้อยละ 72.9 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเจียระไนเพชรที่หดตัวมาก ทางด้านอุตสาหกรรมผลิตอาหารลดลงร้อยละ 8.1 อย่างไรก็ดี การแปรรูปผักสดแช่แข็งยังขยายตัวดีตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตต่างประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งของไทยประสบปัญหาคุณภาพสินค้าทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศหันมาซื้อสินค้าจากไทยแทน ด้านการผลิตเครื่องดื่มหดตัวจากการลดลงของการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดและความต้องการลดลง สำหรับการผลิตวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากความต้องการเพื่อการก่อสร้างในส่วนท้องถิ่นและเพื่อการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

3. ภาคบริการ เดือนมิถุนายน 2552 ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภท โรงแรมและภัตตาคารลดลงร้อยละ 21.6 โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ที่ยอดจัดเก็บลดลงร้อยละ 27.3 เป็นต้น ด้านจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 5.0 โดยลดลงเกือบทุกท่าอากาศยานในภาคเหนือ ยกเว้น ท่าอากาศยานเชียงรายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมยังลดลงต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 33.7 ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยจากราคา 859.6 บาทต่อห้องเป็น 861.3 บาทต่อห้อง

ครึ่งแรก ปี 2552 ภาคบริการของภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้เครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารลดลดลงร้อยละ 17.6 จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลดลงร้อยละ 14.8 โดยลดลงในทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 51.6 เหลือเพียงร้อยละ 48.2 สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนโดยอยู่ที่ราคาห้องละ 990.9 บาทต่อคืน

4. การอุปโภคบริโภค เดือนมิถุนายน 2552 ชะลอตัวจากเดือนก่อน เครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.7 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เร่งตัวร้อยละ 18.8 จากการขยายตัวในหมวดค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 13.4 และหมวดก่อสร้างร้อยละ 5.2 เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับที่เร่งตัวร้อยละ 44.5 เดือนก่อน ตามการลดปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเนื่องจากมีสินค้าคงคลังสะสมไว้มาก ทางด้านปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 21.6 จากผลของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 8.1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ของกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่นิยมซื้อในช่วงเปิดภาคเรียน

ครึ่งแรก ปี 2552 การใช้จ่ายของภาคเอกชนชะลอตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยในไตรมาสแรกหดตัว จากการที่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับมีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวต่อเนื่องและมีรายได้ลดลงจากการถูกลดชั่วโมงการทำงานหรือถูกลดเลิกจ้างงาน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ ทำให้การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญ ในครึ่งแรกปีนี้ได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.2 เทียบกับครึ่งหลังปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 2.3 สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งจากการเร่งผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มก่อนที่จะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 15.2 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค สำหรับกรณีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ลดการผลิตลงทำให้มียอดค้างจองจำนวนหนึ่ง

5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนมิถุนายน 2552 ยังคงหดตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างรับอนุญาตในเขตเทศบาลที่ขยายตัว จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 39.6 ในประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์โดยเฉพาะในจังหวัดที่สำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินหดตัวร้อยละ 21.1 เป็นผลจากมาตรการลดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ของภาครัฐ แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 46.0 สำหรับความสนใจลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 82.4

ครึ่งแรก ปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีแผนการลงทุนและบางรายชะลอการลงทุนออกไปเนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในด้านภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ดี การก่อสร้างของภาคชาวบ้านยังขยายตัวดีโดยเฉพาะในเขตพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณภาคเหนือตอนล่างและจังหวัดเชียงรายและพะเยาในภาคเหนือตอนบน เครื่องชี้บางประเภทปรับตัวดีขึ้น เช่น ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.2 เทียบกับครึ่งหลังปี 2551 ที่ลดลงร้อยละ 20.4 และความสนใจลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งสะท้อนจากการ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.2 ส่วนพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.8 แต่ในช่วงปลายไตรมาสสองเริ่มมีโครงการมาขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้น สำหรับค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 37.7 เป็นผลจากมาตรการลดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ของทางการเป็นสำคัญ

6. การค้าต่างประเทศ เดือนมิถุนายน 2552 การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.5 เหลือ 183.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 30.2 โดยลดลงมากในสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเลนส์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักลดลงตามหมวดการเจียระไนเพชรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศบางชนิดมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ได้แก่ ใบยาสูบ และผลไม้แช่แข็ง สำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดน ลดลงร้อยละ 4.6 เหลือ 84.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการส่งออกไปพม่าและจีนตอนใต้ที่ลดลงร้อยละ 2.6 และร้อยละ 47.0 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.5 เร่งตัวจากเดือนก่อน

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 31.7 เหลือ 94.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงร้อยละ 42.8 จากการหดตัวของสินค้าในประเภท เพชรดิบเพื่อเจียระไน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และพลาสติก ด้านการนำเข้าสินค้าทุนลดลงตามการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรกล ส่วนการนำเข้า ผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 24.7 เป็น 11.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการนำเข้าจากพม่าและลาวที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงร้อยละ 51.7 และร้อยละ 88.0 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 35.2

ดุลการค้า ในเดือนมิถุนายน 2552 เกินดุล 89.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ที่เกินดุล 121.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 91.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

ครึ่งแรก ปี 2552 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์หดตัว โดยการส่งออกลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.1 เหลือ 967.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 31.8 โดยลดลง มากในสินค้าประเภท ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ และเครื่องประดับอัญมณี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 2 คำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับตัวดีขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 30.5 เป็นผลจากการส่งออกข้าวและยาสูบที่ลดลงร้อยละ 12.9 และร้อยละ 63.9 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 เป็น 483.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ครึ่งหลังปีก่อน ตามการส่งออกไปพม่า และลาวที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือร้อยละ 5.6 และร้อยละ 30.4 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวลงร้อยละ 26.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งผ่านลาวโดยรถยนต์แทนจากเดิมที่ส่งตรงไปจีนตอนใต้โดยทางเรือ

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือลดลงร้อยละ 38.2 เหลือ 540.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยลดลงมากขึ้น เมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 5.9 ครึ่งหลังปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 50.7 โดยเฉพาะสินค้า ในประเภทอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเลนส์ ซึ่งลดลงมากในช่วงไตรมาสแรก แต่กระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 23.1 สินค้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เภสัชภัณฑ์ และเครื่องประดับ ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เป็น 56.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัว เมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 ครึ่งหลังปีก่อน โดยการนำเข้าจากพม่าและลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.1 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 40.4

ดุลการค้า ในครึ่งแรกปี 2552 เกินดุล 426.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากครึ่งหลังปีก่อนที่เกินดุล 600.3 ล้านดอลลาร์ สรอ.

7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนมิถุนายน 2552 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 14,053.1 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.6 โดยรายจ่ายงบลงทุนหดตัวร้อยละ 11.3 ตามเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนงบลงทุนที่ลดลงร้อยละ 30.3 อย่างไรก็ตาม ในหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 9,081.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นของงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงาน ในส่วนที่เป็นค่าใช้สอยและค่าวัสดุที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.1 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ

ครึ่งแรก ปี 2552 ภาคเหนือมีการเบิกจ่าย 91,968.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.6 โดยรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 37,946.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เร่งตัวจากที่ลดลงร้อยละ 41.8 ครึ่งหลังปีก่อน ตามการ เบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนที่เป็นงบลงทุนซึ่งเร่งเบิกจ่ายมากในไตรมาสแรกของปี และหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 22.5 และร้อยละ 14.4 ตามลำดับ ขณะที่งบรายจ่ายประจำมี 54,022.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงานในส่วนที่เป็นค่าใช้สอยและค่าวัสดุที่ขยายตัวร้อยละ 38.2 และร้อยละ 10.4 ตามลำดับ สำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปในส่วนที่เป็นงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

8. ระดับราคา เดือนมิถุนายน 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากฐานของระยะเดียวกันปีก่อนสูงเป็นสำคัญ ทั้งนี้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 10.6 เป็นผลจากการขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ราคาสินค้าหมวด หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 18.1 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ส่วนทางด้านหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ด้านหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากการเพิ่มขึ้นของหมวดเนื้อสัตว์ร้อยละ 7.4 ผักและผลไม้ร้อยละ 11.4 สำหรับดัชนี ราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0

ครึ่งแรก ปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 จากการลดลงของหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงร้อยละ 8.4 เป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 14.5 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ตามการปรับขึ้นของอัตราภาษีสรรพสามิต ทางด้านหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากหมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ และหมวดผักและผลไม้ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และร้อยละ 9.9 ตามลำดับ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.4

9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 9.1 ตามการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 โดยขยายตัวมากในสาขาโรงแรม/ภัตตาคารร้อยละ 19.8 สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก ร้อยละ 15.2 และสาขาการก่อสร้างร้อยละ 14.6 ทางด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.6 ส่วนอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับอยู่ที่ร้อยละ 1.8 และอัตราการว่างงานรอฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 0.5 สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียงสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 มีจำนวน 594,138 คน หดตัวร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีจำนวน 88,196 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.4 และร้อยละ 35.4 ตามลำดับ

10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 มีทั้งสิ้น 385,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.8 เร่งตัวจากร้อยละ 5.3 ในเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ในส่วนราชการ สถานศึกษา การโอนเงินที่ครบกำหนดของกองทุนรวมมาฝากไว้ชั่วคราว และธุรกิจค้าพืชไร่ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และเชียงราย อย่างไรก็ตาม เงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาลดลงทุกจังหวัดโดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับจากเดือนมกราคม 2552 เนื่องจากการถอนเงินไปลงทุนในตั๋วแลกเงินและกองทุนรวมเป็นสำคัญ จังหวัดที่ลดลงมากได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และเชียงราย ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 296,519 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และพิจิตร ที่ลดลงมากเนื่องจากการชำระคืนตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินเบิกเกินบัญชีของธุรกิจประเภทค้าพืชไร่ โรงสีข้าว ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และค้าปลีก/ค้าส่ง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 77.0 ต่ำกว่าร้อยละ 82.9 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: คุณทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร 0 5393 1162

E-mail : thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ